เราอาจจะคุ้นเคยว่าภาพในการบริหารกรุงเทพมหานครเป็นของ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วตำแหน่งนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในกลไกการบริหารเมืองหลวงแห่งนี้ หนึ่งในองค์กรที่สำคัญ ที่ช่วยขับเคลื่อน และถ่วงดุลอำนาจการปกครองกรุงเทพฯ ก็คือ สภากรุงเทพมหานคร ที่ประกอบไปด้วยบรรดาสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. เพื่อไขความกระจ่าง และหาคำตอบว่าหน้าที่ของเหล่า ส.ก. คืออะไร? แล้วทำไมคนกรุงเทพต้องให้ความสนใจ วันนี้เราจะรู้จักพวกเขากัน
เริ่มต้นจากการมองภาพใหญ่ของการบริหารราชการในระดับประเทศ ที่ประกอบไปด้วยฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี) ฝ่ายนิติบัญญัติ (ส.ส. และ ส.ว.) และฝ่ายตุลาการ ในกรุงเทพมหานครเองก็เช่นกัน ฝ่ายบริหารของกรุงเทพฯ คือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะทำงาน ส่วน ฝ่ายนิติบัญญัติที่คอยถ่วงดุลอำนาจกันก็คือ สภากรุงเทพฯ นั่นเอง โดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในกรุงเทพฯ และมีวาระการทำงาน 4 ปี ภายในสภาก็ยังมีการแบ่งย่อยคณะทำงานออกเป็น 11 ฝ่ายด้วยกัน ได้แก่…
1.คณะกรรมการตรวจรายงานการประชุมและพิจารณาเปิดเผยรายงานการประชุมลับ
2.คณะกรรมการการศึกษาและวัฒนธรรม
3.คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง
4.คณะกรรมการการสาธารณสุข
5.คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม
6.คณะกรรมการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลังและติดตามงบประมาณ
7.คณะกรรมการการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย
8.คณะกรรมการการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม
9.คณะกรรมการกิจการสภากรุงเทพมหานคร
10.คณะกรรมการการจราจร ขนส่ง และการระบายน้ำ
11.คณะกรรมการการท่องเที่ยวและการกีฬา
โดยในแต่ละฝ่ายนั้นก็จะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี, เสนอญัตติ ตรวจสอบ และติดตามการบริหารราชการ รวมไปถึงการเป็นคณะกรรมการวิสามัญ ในการควบคุมและติดตามผลการบริหารงาน ตามฝ่ายที่ตัวเองรับผิดชอบ พูดง่าย ๆ ก็คือ หากผู้ว่ากรุงเทพมหานครมีอำนาจในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบาย ทางฝ่ายสภากรุงเทพมหานครเองก็มีอำนาจในการตรวจสอบการทำงานนั้น ว่าเป็นไปตามนโยบายหรือไม่ เป็นการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน โดยคนที่จะได้รับประโยชน์สูงที่สุดในการทำงานของสภากรุงเทพมหานครก็คือ ประชาชนชาวกรุงเทพฯ นั่นเอง
หลังจากที่หลายคนอาจจะมองว่า สภากรุงเทพมหานครเป็นสิ่งที่ไกลตัว แต่บทบาทการทำงานของพวกเขามีความสำคัญ และใกล้ชิดกับคนกรุงเทพฯ ไม่แพ้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเลยแม้แต่น้อย เพราะฉะนั้นวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ถือเป็นวันสำคัญที่คนกรุงเทพฯ ทุกคนต้องไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงที่มีอยู่ในมือ ไม่ใช่แค่เพื่อกรุงเทพฯ หรือเพื่อเขตเท่านั้น แต่เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของตัวเองด้วยเช่นกัน