แม้สถานการณ์ของโรคพิษสุนัขบ้าใน กทม. จะมีแนวโน้มลดน้อยลงเรื่อย ๆ แต่ทางสำนักอนามัยก็มีการวางมาตรการเชิงรุกในการรับมือโรคพิษสุนัขบ้าภายในเขตพื้นที่ กทม. อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรค
จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2564 ที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิต 3 รายใน 3 จังหวัด (จังหวัดสุรินทร์ 2 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ 1 ราย) สำหรับในปี 2565 นี้ พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 1 ราย ที่จังหวัดชลบุรี เมื่อประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา โดยมีประวัติโดนสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นสุนัขของเพื่อนบ้านที่นำมาฝากเลี้ยงข่วน
ด้าน “นายชวินทร์ ศิรินาค” รองปลัด กทม. เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าใน กทม.ที่ผ่านมา ไม่พบผู้เสียชีวิตติดต่อกันมานานกว่า 5 ปี ซึ่งพบผู้เสียชีวิตรายสุดท้าย วันที่ 7 ก.ย.59 ที่เขตบางนา และมีจำนวนสัตว์ที่ตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้าลดลงในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งในปี 65 พบสัตว์ตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้าใน วันที่ 7 ก.พ.65 ที่เขตหนองจอก โดยมีเขตที่ไม่พบโรคพิษสุนัขบ้ามาแล้ว 2 ปี จำนวน 49 เขต คิดเป็นร้อยละ 98 โดยสำนักอนามัยมีมาตรการเชิงรุกในการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรค
โดยการออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อผ่าตัดทำหมันลดการเพิ่มจำนวนสุนัขและแมวซึ่งเป็นพาหะนำโรค จัดการออกหน่วยฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครอบคลุม มีเป้าหมาย 80% ของพื้นที่ กทม. และมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว กรณีพบสัตว์สงสัยโรคพิษสุนัขบ้านำมากักสังเกตอาการ หากตายจะส่งตรวจห้องปฏิบัติการและลงพื้นที่สอบสวนโรคทั้งในสัตว์และภายใน 24 ชม.
ทั้งนี้ สำนักอนามัยได้ออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่รณรงค์ฉีดวัคซีน ร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต และศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ออกหน่วยลงพื้นที่ฉีดวัคซีนในสัตว์ ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 วัน วันละ 50 แห่ง อย่างต่อเนื่องและเป็นประจำทุกปี
โดยจะให้บริการในช่วงเดือน มี.ค. และ ก.ย. พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแก่สัตว์เลี้ยงของตนเอง และในพื้นที่ชุมชนที่อาศัย รวมถึงออกหน่วยตามที่ประชาชนร้องขอ เพื่อลดภาระประชาชนที่จะนำสัตว์มารับบริการ รวมถึงประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง