เช้านี้ที่หมอชิต - เช้านี้ที่หมอชิต - ทาสหมา ทาสแมว เตรียมเฮ ! กรมปศุสัตว์จัดทำหมัน และซีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฟรี ถึง 31 มกราคม นี้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ จัดทำโครงการผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ถึง 31 มกราคม 2566 นี้
โดยเจ้าของสามารถนำสัตว์เลี้ยง ไปรับบริการได้ที่จุดรับบริการของแต่ละจังหวัด และคลินิกรักษาสัตว์หรือโรงพยาบาลสัตว์ที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถตรวจสอบจุดให้บริการแต่ละจังหวัดได้จากเว็บไซต์ www.dld.go.th ของกรมปศุสัตว์ได้เลย
พอพูดถึงเรื่องการทำหมันสัตว์อย่างหมา และแมว วันนี้เรามาดูกันว่า การทำหมันสัตว์มีวิธีการอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไรกันบ้าง ซึ่งการผ่าตัดทำหมันในสัตว์นั้น คือการผ่าตัดเอาอวัยวะสืบพันธุ์ของสัตว์ออก โดยในตัวเมียจะเอา มดลูกและรังไข่ออก ส่วนในตัวผู้ จะเอาอัณฑะออก ซึ่งกรมปศุสัตว์จะเน้นเรื่องการควบคุมประชากรโดยการทำหมันเป็นหลัก
โดยการทำหมันสัตว์ตัวเมียนั้น นอกจากควบคุมประชากรสัตว์แล้ว ยังมีข้อดีอีกหลายข้อด้านสุขภาพด้วย
ลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งเต้านม
ลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งรังไข่และมะเร็งมดลูก
ลดโอกาสเกิดภาวะมดลูกอักเสบเป็นหนองหรือการติดเชื้อในมดลูก
ลดความต้องการหนีออกจากบ้าน เนื่องจากขณะติดสัด สุนัขจะพยายามหนีออกจากบ้านเพื่อหาคู่ผสมพันธุ์ การทำหมันสุนัขตัวเมียจะช่วยลดความต้องการได้
ลดความแปรปรวนของฮอร์โมนที่มักเกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์หลังผสมพันธุ์
ช่วยไม่ให้สุนัขมีรอบติดสัด จึงไม่มีอาการบวมที่อวัยวะเพศ และไม่มีเลือดออกจากอวัยวะเพศตามรอบผสมพันธุ์
อาจมีส่วนช่วยทำให้อายุขัยสุนัขยืนยาวขึ้น สุนัขส่วนใหญ่ที่ผ่านการทำหมันแล้วมักมีอายุโดยเฉลี่ยยาวนานกว่าสุนัขที่ไม่ได้ผ่านการทำหมัน
อาจมีส่วนช่วยให้สุนัขลดความวิตกกังวล หรือความกลัว
ส่วนข้อดีในการทำหมันสัตว์ตัวผู้
ลดความเสี่ยงโรคต่อมลูกหมากโตในสุนัข ที่มักมีโอกาสเป็นมากขึ้นตามอายุสุนัขที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโรคต่อมลูกหมากอักเสบ
ลดความเสี่ยงเนื้องอกข้างก้น ที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน และมีโอกาสเป็นมากกว่าในสุนัขเพศผู้ที่ไม่ได้ทำหมัน
ป้องกันการเป็นมะเร็งอัณฑะในสุนัข ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในสุนัขตัวผู้ที่ไม่ได้ทำหมัน
อาจช่วยลดพฤติกรรมหนีเที่ยว แอบออกจากบ้านของสุนัขลง ช่วยให้สุนัขอยู่ในบ้านอย่างปลอดภัย ไม่เสี่ยงออกไปเกิดอันตรายนอกบ้าน
อาจช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวของสุนัขลงได้ เนื่องจากระดับฮอร์โมน Testosterone ที่ลดลง
อาจช่วยลดการปัสสาวะไม่เป็นที่ของสุนัขได้ โดยปกติสุนัขจะใช้การปัสสาวะตามจุดต่างๆ เพื่อแสดงอาณาเขตของตนเอง ป้องกันไม่ให้ตัวผู้ตัวอื่นเข้ามาในพื้นที่ และเป็นการส่งสัญญาณดึงดูดสุนัขตัวเมียเข้าหา การทำหมันจึงอาจช่วยลดพฤติกรรมดังกล่าวลงได้ก่อนที่สุนัขจะทำบ่อยจนกลายเป็นนิสัย
ส่วนข้อเสียของการทำหมันสัตว์ อาจทำให้การเผาผลาญของสุนัขลดลง เนื่องจากสุนัขมีความต้องการเคลื่อนไหวน้อยลง เจ้าของควรปรึกษากับสัตวแพทย์ถึงการปรับอาหารให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของสุนัข รวมถึงวางแผนการออกกำลังกายให้สุนัขเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขอ้วนเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ และสุนัขตัวเมียอาจสัมพันธ์ต่อภาวะปัสสาวะเล็ด ในวัยกลาง และวัยชราของสุนัข เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35