กองทุนน้ำมันฯ เตรียมเลิกตรึง ราคาดีเซลแล้ว คาดจะเริ่ม 1 พ.ค. นี้
logo ข่าวอัพเดท

กองทุนน้ำมันฯ เตรียมเลิกตรึง ราคาดีเซลแล้ว คาดจะเริ่ม 1 พ.ค. นี้

ข่าวอัพเดท : กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เตรียมจะเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. นี้ หลังแบกภาระกว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน สถาบันการเ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง,ดีเซล,ตรึงราคาน้ำมัน,สถาบันการเงิน,ปล่อยกู้,เลิกตรึงราคาน้ำมัน

611 ครั้ง
|
12 เม.ย. 2565
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เตรียมจะเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. นี้ หลังแบกภาระกว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินเตรียมปล่อยเงินกู้ก้อนแรกให้ หลังรัฐบาลเข้ามาดูแลกองทุนฯ
 
             นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง  คาดว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้จะเลิกตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 30 บาท/ลิตร  เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แบกรับภาระไว้สูงมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อเดือน  จึงจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลขึ้น  ส่วนจะปรับขึ้นเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันในตลาดโลก  โดยจะทยอยปรับราคาขึ้น  จากปัจจุบันที่กองทุนฯ อุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 8  บาท
 
             ทั้งนี้  หากราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มลดลง แต่ก็จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาขายปลีก เนื่องจากต้องเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพื่อสำรองเงินไว้ใช้ในช่วงวิกฤต  ดังนั้น ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลง จะไม่ทำให้ราคาขายปลีกในประเทศลดลงตามทันที  อีกทั้งวันที่ 20 พ.ค. 2565 จะครบกำหนดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตรน้ำมันดีเซล 3 บาท กองทุนฯ ก็จะกลับมารับภาระสูงขึ้นอีก
 
             ส่วนการกู้เงินมาช่วยพยุงราคาน้ำมันในประเทศ นั้น ในวันที่ 30 เมษายนนี้ จะมีสถาบันการเงิน ยื่นข้อเสนอปล่อยกู้ให้กับ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว หลังจาก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง หรือแม้แต่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้ช่วยยืนยันกับสถาบันการเงิน ว่ากองทุนน้ำมันฯ อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล  จึงทำให้เกิดความมั่นใจจะปล่อยกู้เงินก้อนแรก 20,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในการดูแลและดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพของราคาพลังงานของประเทศ โดยพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น เพื่อสร้างความมั่นใจแก่สถาบันการเงินที่จะให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปตามพ.ร.บ.กองทุนมาตรา 6 (2) กรณีที่เงินหนุนจากรัฐบาลที่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องใช้เงิน
 
“ตอนนี้กรมธุรกิจพลังงาน อยู่ระหว่างทำตัวเลขส่งให้กับกระทรวงการคลัง ว่ากองทุนฯ ควรจะขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นตัวเลขเท่าไหร่ แต่ในขณะนี้ กองทุนฯ ยังมีกระแสเงินสด หรือ Cash flow อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท แม้สถานะกองทุนฯ จะติดลบแล้วกว่า 4.2 หมื่นล้าบาท ยืนยันว่ายังมีเวลาเพราะดูจากสถานการณ์จะต้องเติมเงินเข้าบัญชีกองทุนฯ ก้อนแรก 20,000 ล้านบาทในเดือนมิ.ย. 2565 ส่วนก้อนที่ 2 จะกู้อีก 1 หมื่นล้านบาท และก้อนที่ 3 อีก 2 หมื่นล้านบาท รวม 4 หมื่นล้านบาท โดยตอนนี้ยืนยันว่าจะกู้ก้อนแรกก่อน”