หมอธีระ ยกบทเรียนจากทั่วโลก ย้ำเตือน โควิดไม่กระจอก ประมาทจะเอาไม่อยู่ ผู้ป่วยโคม่าเพิ่มขึ้น 18.94% ชี้ประเมินผลการรับมือโรคระบาด ต้องรวมผลกระทบ LongCovid ด้วย
วันที่ 20 มี.ค.65 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยข้อความตอนหนึ่ง ระบุถึงรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ (PCR) 24,996 คน และ ATK 25,859 คน รวม 50,855 คนหนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มขึ้นจาก 1319 คน เป็น 1,432 คน เพิ่มขึ้น 8.56% ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มจาก 438 คน เป็น 521 คน เพิ่มขึ้น 18.94% สำหรับ บุคลากรทางการแพทย์ยังคงติดเชื้อเพิ่มถึง 368 คน เป็นเพศชาย 101คน เพศหญิง 267 คน
ทั้งนี้ อัตราติดเชื้อของสมาชิกในบ้านของบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศสเปน มีการวิจัยพบว่า หากบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ จะมีอัตราการติดเชื้อของสมาชิกในครอบครัว สูงถึง 27.3% หากบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อนั้นมีห้องนอนแยกจากสมาชิกในบ้าน จะช่วยลดอุบัติการณ์ติดเชื้อในสมาชิกได้ราวครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 49.3% ดังนั้น หากบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ โอกาสที่สมาชิกในบ้านติดเชื้อมีราว 30% หากแยกห้องลดโอกาสลงได้ครึ่งหนึ่ง
หมอธีระ ให้ข้อคิดเห็นถึงบทเรียนจากโควิด-19 จากทั่วโลก 15 ข้อ ดังนี้
1. โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา และไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่
2. โควิด-19 ไม่กระจอก
3. การระบาดของโควิด-19 หากประมาท จะเอาไม่อยู่
4. ต่อให้มีทรัพยากรเท่าใด ก็ไม่มีทางพอ หากควบคุมการระบาดไม่ได้
5. "กระจอก เพียงพอ เอาอยู่" คงเป็นจริงก็เพียงคำคุณศัพท์ที่ใส่ไว้ในพจนานุกรม แต่ไม่เป็นจริงเวลาเกิดการระบาดหนัก
6. การประเมินผลว่าต่อสู้และรับมือการระบาดได้ดีหรือไม่ ต้องดูทั้งจำนวนการติดเชื้อ จำนวนการป่วย และจำนวนการตาย รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวอย่าง Long COVID ด้วย
7. ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้นั้น เกิดจากนโยบาย/มาตรการ ความสามารถในการบริหารจัดการเพื่อดำเนินนโยบายหรือมาตรการ และทัศนคติในการต่อสู้
8. หายนะและความสูญเสีย มักเกิดจากปัจจัยข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนนโยบาย/มาตรการที่ผิดพลาด ไม่ได้ใช้ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อกำหนดนโยบาย/มาตรการ การขาดความสามารถในการบริหารจัดการ และ/หรือทัศนคติในการต่อสู้ที่ประเมินความสามารถของไวรัสต่ำกว่าความเป็นจริง หรือกิเลส ความเชื่อ ความงมงาย ประโยชน์ทับซ้อน/แอบแฝง จากระดับบุคคล หรือกลุ่มบุคคล หรือเครือข่าย
9. จะไม่เกิดวิกฤติหนักหนาสาหัส จะไม่สูญเสียมากมาย หากวงการเมืองสุจริต วงกำหนดนโยบายซื่อสัตย์ และวงวิชาการมีจริยธรรม
10. เวลาหายนะหรือความสูญเสียเกิดขึ้นแล้ว ความขลาดเขลาของกลุ่มผู้กระทำมักทำให้สังคมหาตัวคนมารับผิดชอบไม่ได้ การโบ้ย หรือทำเงียบไปมักปรากฏในหมู่คนขลาด เรื่องบาปกรรมมักไม่อยู่ในหัวสมองและจิตใจของคนบาป เพราะเปิดเผยรายละเอียดแล้วจะแก้ตัวได้ยาก
11. อะไรที่แปลกๆ ผิดปกติวิสัย หรือขัดต่อหลักองค์ความรู้ที่พิสูจน์ได้ รวมไปถึงปัญหาขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ และปรากฏการณ์แซงคิวด้วยรหัสลับ มักมีแนวโน้มสูงเรื่องประโยชน์ทับซ้อน กลไกการตรวจสอบการดำเนินการ และถ่วงดุลการตัดสินใจในแต่ละระดับจึงมีความสำคัญยิ่ง
12. วิกฤติมักเป็นสถานการณ์ที่พิสูจน์คนได้เป็นอย่างดี ว่าเป็นคนประเภทใด ไว้ใจได้ไหม ซื่อสัตย์หรือคดโกง ใช้ความรู้หรือใช้กิเลสนำชีวิต
13. การใช้องค์ความรู้มาสร้างนโยบายหรือ Evidence-based policy formulation นั้นจะประสบความยากลำบาก หรือเป็นไปไม่ได้ หากกลไกการสร้างและขับเคลื่อนนโยบายบิดเบี้ยว ดังนั้นจึงสะท้อนถึงความจำเป็นที่แต่ละประเทศจะต้องมีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลการตัดสินใจ
14. ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ยังคงใช้ได้เสมอ ขอเพียงมีความรู้ที่ถูกต้อง ใช้ประกอบการตัดสินใจประพฤติปฏิบัติ ทั้งสำหรับตนเอง ครอบครัว หรือแต่ละชุมชนในพื้นที่ การช่วยเหลือแบ่งปันแก่กันและกันอย่างถูกต้องเหมาะสมจะประคับประคองทุกคนให้ปลอดภัยไปด้วยกันได้
15. ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดคือ การทำให้ทุกคนในสังคมมีความรู้เท่าทันสถานการณ์ รับทราบข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องและทันสมัย เพื่อที่จะดูแลและจัดการตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้อย่างเหมาะสม