หมอมนูญ ชี้ โอมิครอน ระยะฟักตัวสั้น แพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันที่ 2 แนะฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว ไม่ต้องกินยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่ต้องนอนรพ.
logo ข่าวอัพเดท

หมอมนูญ ชี้ โอมิครอน ระยะฟักตัวสั้น แพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันที่ 2 แนะฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว ไม่ต้องกินยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่ต้องนอนรพ.

ข่าวอัพเดท : โอมิครอน...ระยะฟักตัวสั้น แพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันที่ 2 หมอมนูญ แนะฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว อาการคล้ายหวัด ฟาวิพิราเวียร์ ไม่จำเป็น กักตัวที โอมิครอน,ระยะฟักตัวสั้น,หมอมนูญ,แพร่เชื้อ,เข็มกระตุ้น,ฟาวิพิราเวียร์,กินยา,โควิด

1,604 ครั้ง
|
09 มี.ค. 2565
         โอมิครอน...ระยะฟักตัวสั้น แพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันที่ 2 หมอมนูญ แนะฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว อาการคล้ายหวัด ฟาวิพิราเวียร์ ไม่จำเป็น กักตัวที่บ้านได้ ไม่ต้องกักตัวใน รพ. หรือฮอสพิเทล แต่ต้องป้องกันตนเอง แยกตัวเองจากผู้อื่น
 
        วันที่ 8 มี.ค.65 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ให้ข้อคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนโดยระบุว่าช่วงนี้มีคนขอคำปรึกษาเข้ามาหลายคน โดยคนไข้หลายคนที่ได้รับวัคซีนครบโดสและได้รับเข็มกระตุ้นแล้ว ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีอาการน้อยเหมือนหวัดธรรมดา เจ็บคอ มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย มีไข้ต่ำๆ แต่คนที่บ้านไม่สบายใจอยากให้คนป่วยไปนอนพัก กักตัวในโรงพยาบาล เพราะไม่ต้องการให้คนป่วยแพร่เชื้อให้กับคนในบ้าน
 
        หมอจึงแนะนำว่าทำไมคนป่วยที่ฉีดวัคซีนครบโดสและได้เข็มกระตุ้นแล้ว มีอาการน้อยมาก รักษาด้วยการกินยาตามอาการ ไม่ต้องกินยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่จำเป็นต้องเข้านอนกักตัวในโรงพยาบาล โดยก่อนอื่นต้องเข้าใจเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีระยะฟักตัวสั้นมากเพียง 2-3 วัน ระหว่างอยู่ในระยะฟักตัวคนที่รับเชื้อสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ตั้งแต่วันที่ 2 หลังรับเชื้อก่อนหน้าที่จะมีอาการ 1-2 วัน และคนที่ได้รับวัคซีนครบโดสและได้เข็มกระตุ้นจะแพร่เชื้อหลังมีอาการอีกประมาณ 5 วัน ส่วนคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนอาจแพร่เชื้อหลังมีอาการได้นานกว่านั้น
 
        เพราะฉะนั้นกว่าคนที่รู้ตัวว่าติดเชื้อโควิดโดยการตรวจ ATK ได้แพร่เชื้อให้คนอื่นในบ้านไปแล้วอย่างน้อย 2-3 วัน โดยที่ไม่ได้มีการป้องกันตัวเองไม่ให้แพร่เชื้อให้คนอื่นเลย เมื่อทราบว่าตนเองติดเชื้อ ก็เหลือเวลาที่จะแพร่เชื้อให้คนอื่นในบ้านได้อีกประมาณ 3-4 วันเท่านั้น ช่วงนี้ถ้าป้องกันตัวเองดีๆ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่นั่งกินอาหารร่วมกับผู้อื่น อยู่ห่างๆ คนอื่น อย่าอยู่ในห้องปรับอากาศ เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ใช้ห้องน้ำแยกกับผู้อื่น แยกทิ้งขยะกับผู้อื่น หมั่นล้างมือเมื่อมือเปื้อนละอองน้ำมูกและเสมหะ โอกาสแพร่เชื้อให้คนในบ้านจะลดลงมาก
 
        "เหตุผลข้างต้นจึงเป็นที่มาว่าทำไมผมแนะนำให้กักตัวที่บ้าน แทนที่จะมานอนกักตัวในโรงพยาบาล ฮอสพิเทล หรือศูนย์พักคอยในชุมชน หลังจากที่ไม่มีอาการแล้วให้ตรวจ ATK ซ้ำ 5 วันหลังครั้งแรก ถ้าให้ผลลบสามารถออกนอกบ้านได้ แต่ยังต้องใส่หน้ากากอนามัยต่อไปจนครบ 10 วัน" หมอมนูญระบุ