“โปรตีนจากแมลง” อาหารแห่งอนาคต นวัตกรรมใหม่ที่โลกต้องรู้จัก!
logo ข่าวอัพเดท

“โปรตีนจากแมลง” อาหารแห่งอนาคต นวัตกรรมใหม่ที่โลกต้องรู้จัก!

1,709 ครั้ง
|
04 ก.พ. 2565

          อาหารแห่งอนาคต (Future Food) เป็นอีกประเด็นที่พูดถึงกันในวงกว้าง เนื่องจากแนวโน้มจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ความต้องการผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ของผู้บริโภคที่ต้องการอาหารที่มีคุณภาพดี โภชนาการสูง และปลอดภัยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย  ๆ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และส่งผลให้รูปแบบทำการเกษตรแบบทั่วไปเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก

          ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาการผสมผสานกันของเทคโนโลยี นวัตกรรมการผลิตอาหารขั้นสูงทำให้มีความยั่งยืนเพียงพอต่อความต้องการอาหารของประชากรทั่วโลกในอนาคตด้วยการใช้ปัจจัยการผลิตที่น้อยแต่ได้คุณค่าทางโภชนาการสูง รวมถึงการพัฒนาการสร้างอาหารใหม่ (Novel Food) เพื่อเป็นโภชนาเฉพาะบุคคล

          โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกตะวันตกเริ่มหันมาสนใจ “แมลง” มากขึ้น ในฐานะของโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ใหญ่ แต่แมลงก็เป็นของกินเล่นในหลายประเทศมานานแล้ว อย่างเช่นเมืองไทยบ้านเรา ที่ทุกคนก็คุ้นเคยกับร้านขายแมลงทอดตามตลาดนัดมาตั้งแต่จำความได้ หากแมลงจะกลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญในอนาคตจริง ๆ แล้ว จะเป็นอย่างไร?

          ในทางวิทยาศาสตร์ แมลงนั้นมีคุณค่าทางสารอาหารที่สูง ไม่น้อยไปกว่าเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น หมู ปลา ไก่ เนื้อวัว และอาหารทะเล เป็นต้น โดยสารอาหารจากแมลงก็ยังมีครบมั้งโปรตีน ไขมัน วิตามิน ไฟเบอร์ ตลอดจนแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แคลเซียม เหล็ก สังกะสี ทั้งนี้สารอาหารในแมลงนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น พันธุ์ของแมลง อายุ อาหารที่แมลงกิน เป็นต้น

          ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้บริโภคแมลงอยู่แล้วกว่า 2,000 ล้านคน มีแมลงมากถึง 1,900 สายพันธุ์ที่ถูกบันทึกว่ามีการบริโภค แมลงเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเขตร้อนชื้น และแมลงที่ทั่วโลกนิยมทานกันมากที่สุดก็คือ

  • ด้วง (Coleoptera) 31%
  • หนอนผีเสื้อ (Lepidoptera) 18%
  • ผึ้ง ตัวต่อ และมด (Hymenoptera) 14%
  • จิ้งหรีดและตั๊กแตน (Orthoptera) 13%
  • จั๊กจั่นและเพลี้ย (Hemiptera) 10%
  • อื่นๆ เช่น ปลวก แมลงปอ และแมลงวัน 3%

          แมลงถูกเรียกว่าเป็นสุดยอดอาหารคุณประโยชน์สูง (Super Food)  เพราะอุดมไปด้วยแหล่งโปรตีนที่สูงกว่าเนื้อสัตว์ที่เรารับประทานเป็นปกติ อย่างเนื้อไก่ เนื้อวัว โดยแมลง 100 จะให้โปรตีนที่สูงถึง 70 – 80 กรัม ขณะที่เนื้อสัตว์อื่น ๆ ให้โปรตีนอยู่ที่  30 – 40 กรัมเท่านั้น

          นอกจากนี้การเลี้ยงแมลงยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแมลงจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแอมโมเนียน้อยกว่าปศุสัตว์ส่วนใหญ่ โดยมีงานวิจัยชี้วัดว่า จิ้งหรีดปล่อยแก๊สมีเทน น้อยกว่าวัวถึง 80 เท่า อีกทั้งในการเลี้ยงแมลงยังใช้ที่ดินน้อยกว่า และต้องการอาหารน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น ตั๊กแตน ที่กินอาหารน้อยกว่าวัว 12 เท่า น้อยกว่าแกะ 4 เท่า และยังน้อยกว่าหมูกับไก่ถึงครึ่งหนึ่ง เทียบกับการผลิตโปรตีนในปริมาณเท่ากัน อีกทั้งแมลงยังสามารถเจริญเติบโตได้ในแหล่งขยะอินทรีย์

          แม้ว่ามนุษย์จะกินแมลงกันมาเนิ่นนาน แต่การวิจัยเรื่องแมลงกินได้ก็เป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น กระแสของอาหารทางเลือก และการส่งเสริมให้แมลงเป็น “โปรตีนแห่งความยั่งยืน” กลายเป็นประตูบานสำคัญที่ดึงดูดทัศนคติคนรุ่นใหม่ให้หันมาเพื่ออนาคตของโลกใบนี้