องค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณะสุขเผย คนไทยเป็นโรคมะเร็งปอดมากที่สุดจากโรงมะเร็งทั้งหมดและเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่นับหลายแสนคนต่อปี ทีมวิศวกรสิ่งแวดล้อมอเมริกันจึงได้ทำการศึกษาว่าควันจากก้นบุหรี่ที่ดับแล้วยังสามารถปล่อยสารพิษได้เหมือนกับควันบุหรี่ที่กำลังสูบ อาจเป็นสาเหตุให้คนไทยเป็นโรคทางปอดมากขึ้น
จากสถิติล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) กล่าวว่า ในปี 2018 ประชาชนในประเทศไทยนั้น เป็นโรคมะเร็งปอดไปแล้วกว่า 14.1 เปอเซ็นต์ ซึ่งเป็นอันดับ 1 จากโรคมะเร็งทั้งหมด ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งปอดนั้นมาจากบุหรี่ และจากสถิติของกระทรวงสาธารณะสุขยังเผยอีกว่า สาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยมาจากการสูบบุหรี่ถึง 400,000 คนต่อปี
ดัสติน พอพเพนดิค วิศวกรสิ่งแวดล้อม และคณะ ได้ทำการศึกษาเคมีที่ปล่อยออกมาจากก้นบุหรี่ที่ดับลงแล้ว พบว่าใน 24 ชั่วโมง ก้นบุหรี่สามารถปล่อยสารนิโคตินออกมาได้สูงสุดถึง 14 เปอเซ็นต์ ของปริมาณตอนสูบ และจะมีเปอเซ็นต์เพิ่มขึ้นหากสถานที่นั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยการรับสารพิษจากควันบุหรี่ในรูปแบบนี้ คือ การรับควันบุหรี่ มือสาม (Third-hand smoke) เป็นการรับควันบุหรี่จากเสื้อผ้า ของใช้ หรือบุหรี่ เป็นต้น โดยดัสตินและคณะได้สันนิษฐานว่า นี่อาจเป็นเหตุที่ให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคมะเร็งปอดหรือโรคปอดที่เกิดจากการรับสารพิษจากควันบุหรี่ทุกปี
อีกทั้งยังมีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเยล ระบุว่าควันบุหรี่มือสาม เป็นสารนิโคติน ที่สามารถแพร่กระจายไปสู่สภาพแวดล้อมที่ไม่เคยมีการสูบบุหรี่เลย เช่น ในโรงภาพยนตร์ และที่แย่ยิ่งกว่านั้น ยังพบอีกว่าระดับสารเคมีที่ได้รับอาจเทียบเท่าการสูบบุหรี่ระหว่าง 1 ถึง 10 มวนเลยทีเดียว
Drew Gentner ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเคมีและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยเยล ยังกล่าวว่า คนนั้นเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ควันบุหรี่มือสามปนเปื้อนไปสู่สภาพแวดล้อมอื่น ๆ และว่า การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances เมื่อวันพุธที่ 4 มีนาคม อาจเป็นการศึกษาชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่า ผู้คนสามารถส่งผ่านนิโคตินและสารเคมีที่เป็นพิษอื่น ๆ ไปยังเสื้อผ้าของตนหลังจากการสูบบุหรี่
ควันบุหรี่มือสาม ที่จริงแล้วไม่ใช่ควันบุหรี่เลย แต่เป็นสารตกค้างของนิโคตินและสารเคมีอื่น ๆ ในบุหรี่ ซึ่งบางชนิดเป็นพิษและยังคงติดอยู่นานหลังจากที่สูบบุหรี่หมดไป
สารเคมีบางชนิดเกาะติดกับพื้นผิว และบางชนิดเกาะติดกับฝุ่นละออง และยังมักจะเจาะลึกเข้าไปในแผ่นผนัง ผ้าม่าน และเบาะรองนั่งต่าง ๆ สารประกอบที่หลงเหลืออยู่อาจทำปฏิกิริยากับสารอนุมูลอิสระหรืออนุภาคอื่น ๆ ในบรรยากาศในห้อง ปฏิกิริยาทางเคมีเหล่านั้นสามารถสร้างสารที่เป็นอันตรายที่ลอยไปมาในอากาศได้