นายกฯ ขอปชช.ตระหนักแต่อย่าตื่นตระหนก “โอมิครอน” ยันพร้อมรับมือ ดูแลผู้ติดเชื้อ รักษาฟรี
logo ข่าวอัพเดท

นายกฯ ขอปชช.ตระหนักแต่อย่าตื่นตระหนก “โอมิครอน” ยันพร้อมรับมือ ดูแลผู้ติดเชื้อ รักษาฟรี

ข่าวอัพเดท : วันที่ 6 ม.ค.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ของไทยมีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้ นายก,บิ๊กตู่,ประยุทธ์,โอมิครอน,ตื่นตระหนก,ระบาด,โควิด,รักษาฟรี

503 ครั้ง
|
07 ม.ค. 2565
      วันที่ 6 ม.ค.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ของไทยมีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ขอความร่วมมือประชาชนให้ตระหนัก แต่อย่าตื่นตระหนก โดยได้กำชับให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมรับมือเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดการติดเชื้อโควิด-19 และโอมิครอนอย่างเข้มข้นแล้ว ในส่วนของประชาชนขอความร่วมมือผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว ก่อนวันที่ 1 พ.ย. 64 ให้ไปรับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์หรือเข็ม 3 ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่ฉีดเข็ม 3 แล้วเกิน 3 เดือน ให้เข้ารับเข็ม 4 ได้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรองรับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน
 
       นอกจากนี้ ในส่วนของการเตรียมความพร้อม นายกฯ สั่งการให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับ ซึ่งขณะนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เร่งเตรียมความพร้อมบุคลากร เตียงพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงสถานที่รองรับผู้ป่วย โดยเฉพาะศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) จำนวน 40 แห่ง ที่สามารถรับผู้ป่วยได้ถึง 5,066 เตียง ทั้งนี้ ศักยภาพเตียงใน กทม. โรงพยาบาล ล่าสุด มีจำนวนทั้งสิ้น 25,345 เตียง แบ่งเป็น รพ. หลัก 2,922 เตียง/ รพ. สนาม 2,898 เตียง/ Hospitel 19,525 เตียง ที่พร้อมให้บริการ แต่เพื่อความไม่ประมาท ขอให้ประชาชนปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด พร้อมเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามกำหนด เพื่อป้องกันและลดอัตราการแพร่เชื้อหรือเสียชีวิต
 
         นายธนกรกล่าวเพิ่มเติมว่า การรับมือกับโควิด-19 ต้องดำเนินด้วยหลักการ โดยต้องทำให้เชื้อโควิด-19 อ่อนแรงและการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 และ 4 ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว ประกอบกับการจัดการสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยง การรักษาดีขึ้น ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับได้และมียามากขึ้น อีกทั้งขอความร่วมมือประชาชนเฝ้าระวัง และป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดตามมาตรการ DMHTTA สวมหน้ากากอนามัย และหมั่นสังเกตอาการด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ครอบคลุมทุกสิทธิฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยผู้ป่วยโควิด-19 ทุกสิทธิ สามารถเข้ารับการรักษาได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน
 
      สำหรับ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) วันนี้ (6 มกราคม 2565 ) พบมีผู้ติดเชื้อรวม 5,775 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 5,323 ราย ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 160 ราย ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 77 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 215 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,216,387 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน 2564) ผู้ป่วยกำลังรักษา 37,968 รายและมีผู้ป่วยหายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,673 ราย ส่งผลให้ตัวเลขรวมหายป่วยสะสม 2,158,076 ราย  และผู้เสียชีวิตเพิ่ม 11 ราย