วันที่ 6 ม.ค.65 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยระบุว่า โอมิครอน ติดต่อง่าย ประกอบกับการสนุกสนานรื่นเริง และวันหยุดยาวช่วงปีใหม่ ดังนั้น ผลที่จะพบผู้ป่วยมากขึ้นในช่วงต่อจากนี้ไป ไม่ใช่เรื่องแปลก
“ผมอยู่กับห้องปฏิบัติการ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2 - 3 วันนี้ รู้แล้วว่าตัวเลขและอัตราการตรวจพบโควิดเพิ่มขึ้นมากๆ ผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ นับจากนี้ต่อไป จะเริ่มพุ่งขึ้นสูงอย่างแน่นอน จะขึ้นสูงแค่ไหนก็คงขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ ต่อจากนี้ ที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันลดจำนวนตัวเลข ให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้” หมอยงระบุ
อัตราการป่วยรุนแรง และเสียชีวิต เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วย จะน้อยกว่าช่วงการระบาดของเดลตา สิ่งที่สำคัญขณะนี้ จะต้องเร่งกระตุ้นวัคซีนเข็มที่ 3 ให้ได้มากที่สุดและอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อลดความรุนแรงให้ได้ การดูแลรักษาจะรับผู้ป่วยที่มีอาการมากเข้าโรงพยาบาล ในกลุ่มสีเขียว จำเป็นที่จะต้องแยกตัวที่บ้าน หรือกักตัวรักษาในชุมชนที่จัดไว้ CI เพื่อเป็นการลดการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์จะได้มีเวลาไปดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ จะเห็นว่าการระบาดของทั่วโลกเกิดขึ้นเป็น 4 ระลอก เมื่อเปรียบเทียบอัตราป่วยตาย จะเห็นว่าอัตราป่วยตายมีแนวโน้มลดลง ถ้าเริ่มจากปีแรกอัตราป่วยตายถึง 3-5 % พอเข้าสู่ปีที่ 2 เริ่มลดลงเหลือ 2% และมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด จนมาถึงระลอกของโอมิครอน ที่กำลังระบาดอยู่ขณะนี้อัตราการป่วยตายอยู่ที่ 0.3% และก็หวังว่าจะลดลงอีก
อัตราการเสียชีวิตในช่วงระบาดของเดลตาของประเทศไทย เราน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของทั่วโลก อัตราการป่วยตาย ประมาณ 1% และหวังว่าในช่วงการระบาดของโอมิครอนก็น่าจะลดลงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของทั่วโลก ถ้าทั่วโลกอัตราการป่วยตาย เหลือน้อยกว่า 0.1% หรือ 1 ใน 1,000 ก็จะเข้าสู่ยุคของโรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาล ที่จะสร้างปัญหาส่วนใหญ่ให้กับกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มเปราะบางอย่างเช่นไข้หวัดใหญ่
+ อ่านเพิ่มเติม