เปิดแคมเปญ Kind Dining กิน.กอด.โลก พร้อมชวนคนรุ่นใหม่ไม่กินเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมาย เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าและลดความเสี่ยงโรคระบาด
“Kind Dining กิน.กอด.โลก” เกิดจากความร่วมมือระหว่าง อส. ททท. TRAFFIC ร่วมกับ ZSL และ UNDP โดยการสนับสนุนของโครงการคุ้มครองสัตว์ป่าโลก (GWP) กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) กองทุนเพื่อการคัดค้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายแห่งสหราชอาณาจักร (IWTCF) และโครงการกิจการระหว่างประเทศเพื่อบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐอเมริกา (USFWS)
แคมเปญ Kind Dining มาจากการรวมคำระหว่าง Kindness (ความใจดี มีเมตตา) และ Fine Dining (การกินอาหารที่ถูกคัดสรรมาอย่างดี ทำให้รู้สึกถึงความพิเศษที่ไม่สามารถสัมผัสได้จากร้านทั่วไป) ก่อเกิดเป็นแนวคิดว่า มื้อที่ดีและพิเศษที่สุด คือ มื้อที่ไม่ทำร้ายสัตว์ป่า มีเป้าหมาย คือ การรณรงค์เพื่อลดการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายและปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคเนื้อเหล่านี้ในประเทศไทย อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความต้องการในการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายในอนาคต
คุณดารารัตน์ วีระพงษ์ ผู้จัดการโครงการอาวุโส เครือข่าวเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่าและพืชป่า (TRAFFIC) เชื่อว่าการรณรงค์การหยุดการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อหยุดการบริโภคจะช่วยให้สัตว์ป่าและธรรมชาติได้พื้นตัวและอยู่ควบคู่กัน โดยเชิญชวนคนรุ่นใหม่เลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฏหมายพร้อมติดแฮทแท็ก #SayNotolllegalWidMeat
ในเดือนมิถุนายน 2564 TRAFFIC และ สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ได้ทำการวิจัยเพื่อศึกษาการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าของคนไทยในเขตเมือง พบว่า ในรอบปีที่ผ่านมา ร้อยละ 32 มีการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า รวมถึงเนื้อสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย
ม.ร.เรอโนด์ เมเยอร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)ประจำประเทศไทยกล่าวว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเห็นได้ว่าเริ่มมีการรณรงค์ให้คนหันมาสนใจเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่ามากขึ้น คนจำนวนมากเริ่มเข้าใจว่า การบริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในสังคมและสวนทางกับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่แคมเปญ Kind Dining ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ ผู้มีชื่อเสียง รวมทั้งองค์กรพันธมิตรต่าง ๆ และมั่นใจว่าจะมีผู้ที่ตั้งคำถามกับการกินเนื้อสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายและร่วมให้คำมั่นสัญญากับการรณรงค์ในครั้งนี้มากมาย”
แคมเปญได้นำเสนอคลิปวิดีโอ 4 ชุด ประกอบด้วยคลิปสั้น 3 นาที 1 ชุดและสปอตรณรงค์ 30 วินาทีและ 15 วินาที อย่างละ 3 ชิ้นโดยเผยแพร่ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียทั้ง Facebook และ YouTube นำเสนอโดย นักแสดง คุณวงศ์รวี นทีธร (สกาย) นายสัตวแพทย์สัตว์ป่า ภัทรพล มณีอ่อน (หมอล็อต) และคุณชุดารี เทพาคำ (เชฟตาม) เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคหยุดกินเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Kindness Deliveryในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ที่ได้ร่วมมือกับเซฟตาม และร้านมีนา มีข้าว จังหวัดเชียงใหม่ดัดแปลงเมนูอาหารป่าที่เป็นที่นิยม ให้เป็นเมนูปลอดเนื้อสัตว์ป่า เพื่อแจกจ่ายให้บุคคลทั่วไปได้ลิ้มลองในรูปแบบอาหารกล่องที่มาพร้อมคิวอาร์โค้ดที่นำไปยัง www.kind-dining.com เพื่อร่วมให้คำมั่นสัญญาไม่บริโภคเนื้อสัตว์ป่าผิดกฎหมาย โดยประชาชนสามารถเลือกเข้าร่วมทีมสัตว์ป่าที่ชื่นชอบจากทั้งหมด 5 ทีม แล้วคลิกให้คำมั่นสัญญาเพื่อรับตราประจำทีมสำหรับการแชร์ผ่านสื่อโซเชียล โดยใช้แฮชแท็ก #SayNotoIllegalWildMeat และ #KindDining ชักชวนให้คนรอบข้างเข้าร่วมทีม