น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลภัยพิบัติประเด็นเรื่อง กทม. เตรียมรับมือพายุถล่มหนักที่สุด วันที่ 26 ต.ค. - 12 พ.ย. 2564 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ
กรณีการแชร์คลิปวิดีโอในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ว่าพายุจะถล่มกรุงเทพมหานคร หนักที่สุดในช่วงวันที่ 26 ต.ค. - 12 พ.ย. 2564 กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบประเด็นดังกล่าว ชี้แจงว่า ในช่วงวันที่ 24 - 29 ต.ค. 2564 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ประกอบกับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนกลาง ทำให้ไทยตอนบนยังคงมีฝนน้อย ส่วนภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 24 - 26 ต.ค. 2564 หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณ ทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนล่าง คาดว่าในช่วงวันที่ 27 - 29 ต.ค. 2564 จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่าง เมื่อหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนาม อาจจะอ่อนกำลังลงก่อนจะเคลื่อนขึ้นฝั่ง และจะอ่อนกำลังลงเมื่อเคลื่อนขึ้นฝั่ง หย่อมความกดอากาศต่ำที่จะก่อตัวบริเวณทะเลจีนใต้ช่วงวันที่ 25 - 28 ต.ค. 2564
จากแบบจำลองบรรยากาศนี้ โอกาสเกิดขึ้นได้และจะแรงขึ้นเนื่องจากยังอยู่ในทะเลเปิด แต่จะแรงขึ้นถึงเป็นพายุหมุนเขตร้อนได้หรือไม่ต้องติดตาม ซึ่งอุปสรรคที่สำคัญของการก่อตัวครั้งนี้คือ มีมวลอากาศเย็นหรือความกดอากาศสูงอยู่ด้านหน้า ซึ่งแผ่ปกคลุมบ้านเรา และลมที่พัดปกคลุมจะเป็นลมทิศเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ (อากาศแห้ง) ส่วนการตั้งชื่อต้องได้ชื่อตามข้อตกลงของ RSMC โตเกียว ซึ่งรับผิดชอบในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและทะเลจีนใต้ ชื่อพายุลูกใดแรงขึ้นก่อนจะได้ชื่อว่า หมาเหล่า (MALOU) ลูกต่อไปจะไล่เรียงตามลำดับ
น.ส.นพวรรณ กล่าวต่อว่า ขอให้ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นระยะๆ อย่าได้ตื่นตระหนกกับข่าวลือในช่วงวันที่ 23 ต.ค. 2564 และ วันที่ 28 ต.ค. 2564 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคใต้ ควรระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจท่าให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
+ อ่านเพิ่มเติม