จากรกรณีที่ นายวรพล บวรลัทธพล อายุ 55 ปี พลเมืองดี ชาว อ.ปักธงชัย จ.นคราชสีมา ได้ไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม ของธนาคารแห่งหนึ่ง สาขา อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 64 โดยกดออกมาเป็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 4 ฉบับ และใช้จ่ายไปแล้ว 3 ฉบับ เหลือ 1 ฉบับ ได้นำไปซื้อกาแฟในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง แต่ถูกพนักงานขายของร้านกาแฟปฏิเสธรับเงินดังกล่าว โดยแจ้งว่าเป็นธนบัตรปลอม เนื่องจากมีจุดผิดสังเกตหลายจุด เช่น แถบสีปีกแมลงทับลอกออกมาได้ คล้ายนำสติ๊กเกอร์มาแปะไว้ รวมทั้งเนื้อกระดาษธนบัตรมีความหยาบกว่าธนบัตรทั่วไป และธนบัตรมีขนาดสั้นกว่าธนบัตรทั่วไปประมาณ 2 มิลลิเมตร ทำให้นายวรพลร้องเรียนต่อสื่อมวลชน เพื่อฝากถามถึงระบบการจัดธนบัตรเข้ามาใส่ไว้ในตู้เอทีเอ็มของธนาคาร ว่าเหตุใดธนบัตรปลอมจึงสามารถเล็ดลอดเข้าไปอยู่ในระบบของธนาคารได้
ล่าสุด วันที่ 16 ก.ย. 64 นายวรพล ได้นำธนบัตรดังกล่าวมาตรวจสอบที่ศูนย์จัดการธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ริมถนนมิตรภาพ ต.หมื่นไวย อ.เมือง จ.นครราชสีมา ภายหลังจากที่ได้ประสานงานไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขอตรวจสอบธนบัตรดังกล่าวที่นี่ โดยทางเจ้าหน้าที่ของศูนย์จัดการธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ได้นำธนบัตรดังกล่าวไปตรวจสอบผ่านเครื่องพิสูจน์ธนบัตร เป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง จึงได้ข้อสรุปว่า ธนบัตรดังกล่าวเป็นของจริง
นายอดิศร จันทพิมพะ ผู้จัดการศูนย์จัดการธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา จึงได้ออกหนังสือรับรองให้ โดยระบุว่า ธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท ที่ นายวรพล นำมาให้พิสูจน์นี้ เป็นธนบัตรแบบ 17 หมวดอักษร 5ต/G หมายเลข 7353216 ซึ่งผลการพิสูจน์ปรากฎว่าเป็นฉบับจริง ทั้งนี้เนื่องจากธนบัตรดังกล่าวถูกสารเคมี จึงทำให้แถบสีบางส่วนหลุดออกจากเนื้อกระดาษ และทำให้ขนาดของธนบัตรหดสั้นลง อีกทั้งเนื้อกระดาษมีความหยาบมากกว่าปกติ
ด้าน นายวรพล กล่าวว่า หลังจากที่ตนเองเกิดความสงสัย จึงได้ประสานงานไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขอตรวจสอบ ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้นำธนบัตรนี้มาตรวจสอบที่ศูนย์จัดการธนบัตรฯ สาขานครราชสีมา จนได้ความกระจ่างชัดว่าเป็นธนบัตรจริง โดยทางเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าสาเหตุที่ธนบัตรดังกล่าวมีความผิดปกติ แถบสีปีกปมลงทับลอกออกมาเหมือนแปะสติ๊กเกอร์ อาจจะเป็นเพราะว่าถูกเครื่องซักผ้าปั่น หรือถูกสารเคมีจากน้ำยาซักผ้ากัด ส่วนเนื้อกระดาษที่หยาบ และสั้นกว่าธนบัตรทั่วไป เพราะถูกสารเคมีจากน้ำยาซักผ้า ทำให้เนื้อธนบัตรหยาบและหดสั้นกว่าธนบัตรทั่วไป
นอกจากนี้แถบสีปีกแมลงทับ ที่เลื่อนต่ำกว่าฉบับอื่น ก็เพราะเป็นธนบัตรที่ผลิตคนละบล็อก ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ดังนั้นทางธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้ออกหนังสือรับรองว่าเป็นธนบัตรจริงให้ตนเองมา เพื่อที่จะได้นำไปยืนยันกับธนาคารใช้ในการแลกเปลี่ยนธนบัตรฉบับใหม่ได้ และที่ตนต้องออกมาค้นหาความจริงครั้งนี้ ก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะต่อว่าธนาคารแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการทราบความจริงเท่านั้น
+ อ่านเพิ่มเติม