วันนี้ (23 ส.ค.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงแนวโน้มสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 และตัวเลขผู้เสียชีวิต
โดยได้มีการระบุว่า ส่วนตัวเชื่อว่าภายในกลางเดือน ก.ย. 2564 นี้ น่าจะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง โดยแนวทางที่ทำให้คาดการณ์ว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น มาจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่วันละ 19,000-20,000 คน และที่เห็นชัดเจนคือในช่วง 2 สัปดาห์ คือไม่เห็นตัวเลขอัตราการติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นมากๆ
ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 300 คน พบว่าเป็นตัวเลขที่รายงานเข้าระบบช้า แต่ตอนนี้เข้าใจว่ามีการเคลียร์ตัวเลขแล้ว ดังนั้น ในตอนนี้ผู้เสียชีวิตรายใหม่น่าจะอยู่ที่วันละกว่า 200 คน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้หากดูวันต่อวันอาจไม่ชัด ต้องดูตัวเลข 7 วัน แล้วเฉลี่ยกัน ซึ่งจะเห็นว่า เส้นกราฟความชันเริ่มน้อยลงกว่าเดิมมาก ใกล้เข้าสู่ระนาบเส้นตรง และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เส้นกราฟก็จะเริ่มกดหัวลงเป็นขาลง
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้เส้นกราฟลดลงเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ การฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งไทยฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณร้อยละ 28 ของจำนวนประชากร ถือว่าทำได้ดี บางวันฉีดสูงถึง 600,000 โดส ดังนั้นต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ดี และประชาชนต้องร่วมมือกันไปฉีดวัคซีน มาตรการสังคม การปกครอง และมาตรการบุคคลซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญในการลดอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อ
“เมื่อแนวโน้มดีขึ้น อาจจะมีแนวทางการผ่อนคลายมาตรการ ซึ่งต้องดูจากข้อมูลจริงและอัตราคนที่ได้รับการฉีดวัคซีน หากจะเกิดการผ่อนคลายขึ้นในประเทศ ก็น่าจะมีการเสนอมาตรการให้ที่ประชุม ศบค. พิจารณา ซึ่งในอีก 2-3 วันนี้ ต้องหารือกันเลย โดยจะมีเวลาอีก 1 สัปดาห์ เพื่อดูตัวเลข หากส่งสัญญาณดีขึ้นก็อาจมีการพิจารณา แต่ต้องตกลงเงื่อนไขกับผู้ให้บริการ หากทุกคนร่วมมือกัน มีโอกาสเริ่มผ่อนคลาย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ศ.นพ. ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า รูปแบบการผ่อนคลาย ทุกประเทศคล้ายกันคือ ไม่ล็อกดาวน์ (Lockdown) ทั้งประเทศอีกแล้ว แต่จะล็อกตามเป้าหมาย (Target Lockdown) จังหวัดไหนทำได้ดีก็จะผ่อนคลาย แต่ต้องเลือกพื้นที่และกิจกรรมให้เหมาะสม มีการติดตามอย่างเข้มงวด
สำหรับประเทศไทย การแสดงหลักฐานฉีดวัคซีนในมือถือ หรือการให้สถานประกอบการบริการจุดตรวจโควิด-19 ชนิด Antigen Test Kit (ATK) ที่มีความไวและความจำเพาะดีๆ ไว้ให้ลูกค้า เพื่อตรวจก่อนเข้าใช้บริการ ก็จะเป็นมาตรการหนึ่งที่ดี
+ อ่านเพิ่มเติม