logo เมาท์สะเด็ด7สี

สืบสะเด็ด พาไปดู HAPYbot หุ่นยนต์เทคโนโลยีล้ำ ผู้ช่วยแพทย์แห่งยุคอนาคต

786 ครั้ง
|
29 ก.ค. 2564

ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตนี้ ตอกย้ำถึงความสำคัญของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในการดูแลสุขภาพร่างกายของประชาชน ด้วยเหตุนี้เองทำให้มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และบริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) ก็ได้ร่วมกันสร้างหุ่นยนต์ HAPYbot โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้นำเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ไปใช้ในโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล 3 แห่ง ได้แก่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

โดยหน้าที่ของเจ้าหุ่น HAPYbot ก็จะเข้ามาทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้ช่วยแพทย์, พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งอาหาร, อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือเวชภัณฑ์ยา ที่จะทำให้สามารถปฏิบัติได้ตลอด 24 ชั่วโมง ความพิเศษของการใช้เจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ก็คือ จะไม่มีการนำเชื้อเข้าไปติดในหอผู้ป่วย ซึ่งจะมีการพัฒนาต่อไปเพื่อให้สามารถติดตั้งแท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือให้แพทย์และผู้ป่วยสามารถซักถามอาการป่วยได้ในแต่ละวัน

 

สำหรับการนำเจ้าหุ่น HAPYbot มาใช้ในช่วงสถาการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็ได้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ก็สามารถช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของแพทย์ได้พอสมควร และเจ้าหุ่นตัวนี้ก็ยังสามารถใช้งานได้ง่าย สามารถเคลื่อนที่หลบหลีกสิ่งกีดขวางได้อัตโนมัติ ส่งสิ่งของได้ตรงตัวผู้ป่วยทุกราย และสามารถทำงานต่อเนื่องได้ถึง 210 นาที เมื่อทำงานเสร็จก็จะกลับเข้าแบตเตอรี่เองตามจุดชาร์ต แลหากเกิดเหตุฉุกเฉินก็จะมีแบตเตอรี่สำรองใช้งานไปก่อนด้วย 

 

 

ความพิเศษของเจ้า HAPYbot ก็คือ เป็นหุ่นยนต์ที่ผลิตโดยคนไทย ทำให้มีราคาอยู่ที่ประมาณ 1.6 ล้านบาท ต่างจากหุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่ใช้ต่างประเทศที่จะมีราคาอยู่ประมาณ 5 ล้านบาท สามารถซ่อมบำรุงมาใช้งานใหม่ได้ทันที แต่ข้อจำกัดก็คือ วัสดุอุปกรณ์ค่อนข้างหายากในสถานการณ์ COVID-19 และต้องตรงกับข้อกำำหนดทางการแพทย์ที่ สวทช. กำหนดมาใช้ด้วย