ล็อกต่อหรือพอแค่นี้? 'หมอนิธิพัฒน์' เผย จับตาดูยอดโคม่า-ตาย 4-11 ก.ค. นี้ ดัชนีชี้วัดล็อกดาวน์
logo ข่าวอัพเดท

ล็อกต่อหรือพอแค่นี้? 'หมอนิธิพัฒน์' เผย จับตาดูยอดโคม่า-ตาย 4-11 ก.ค. นี้ ดัชนีชี้วัดล็อกดาวน์

ข่าวอัพเดท : วันนี้ (5 ก.ค. 64) รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มห ล็อกดาวน์,คลายล็อกดาวน์,ขยายล็อกดาวน์,รศนพนิธิพัฒน์ เจียรกุล,หมอนิธิพัฒน์,ศิริราช,หมอศิริราช,ยอดผู้เสียชีวิตโควิด,ยอดผู้ป่วยโควิด,รพสนาม,ฮอสปิเตล

787 ครั้ง
|
05 ก.ค. 2564
วันนี้ (5 ก.ค. 64) รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า
 
 
"ผ่านมาครบ 7 วัน สำหรับมาตรการล็อกดาวน์แบบจำกัดขอบเขต โดยส่วนตัวมองว่ายังประเมินสถานการณ์ไม่ได้ ขอดูดัชนีชี้วัดหลักจากจำนวนรวมกันของผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจใน กทม. สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรสาคร โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตใน 6 จังหวัดนี้ เป็นดัชนีชี้วัดรอง
 
 
ด้วยเหตุผล คือ สัดส่วนผู้ป่วยวิกฤตในผู้ป่วยรายใหม่จะมากหรือน้อยขึ้นกับว่าตรวจในกลุ่มไหน ถ้าเป็นการตรวจเชิงรุกในคนงาน จะพบผู้ป่วยสีเขียวราว 95-98% จึงมีโอกาสเกิดผู้ป่วยวิกฤตน้อยกว่าการตรวจเชิงรับในคนที่มาโรงพยาบาล ซึ่งพบผู้ป่วยสีเขียวราว 80-90% แต่ทั้ง 2 กลุ่ม ถ้าโรคลุกลามไปหลังจากเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้ว หรือลุกลามในระหว่างรอรับการตรวจวินิจฉัย หรือลุกลามหลังจากตรวจพบแล้วยังไม่ได้รับตัวเข้ารักษา
 
 
สุดท้ายผู้ป่วยก็จะมีอาการรุนแรงมากขึ้นจนถึงขั้นวิกฤต เมื่อเข้าโรงพยาบาลก็มักจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ยกเว้นรายที่เสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล ดังนั้นจึงต้องจับตาดูกันว่าจากวันที่ 4-11 ก.ค.64 จะมีทิศทางไปเป็นเช่นใด จะต้องล็อกดาวน์กันเพิ่มอีกหรือเท่านี้ก็พอแล้ว
 
 
ถึงตรงนี้สถานการณ์เตียงรับผู้ป่วยในทุกระดับความรุนแรงใน กทม.และปริมณฑลยังติดขัดกันอยู่มาก ผู้ป่วยตกค้างในชุมชนเริ่มสะสมมากขึ้น นอกจากการพยายามเพิ่มเตียงแล้ว การมีระบบคัดเลือกผู้ป่วยรอเตียงที่เป็นสีเหลือง หรือเป็นสีเขียวที่แย่ลง เพื่อรีบนำเข้าโรงพยาบาล จะต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีระบบติดตามผู้ป่วยในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญต้องดึงศักยภาพของคนในชุมชนมาร่วมกันดูแล
 
 
สำหรับในโรงพยาบาลหลักเองก็พยายามขยายเตียงทุกรูปแบบ เช่น การให้ผู้ป่วยอยู่รวมกัน 3 คน ในห้องที่ปกติอยู่ได้ 1 คน ซึ่งมักจัดให้เป็นครอบครัวเดียวกัน หรือรู้จักกัน หรือยินยอมที่จะอยู่ด้วยกัน โดยเราจะขอร้องคนที่แข็งแรงกว่าให้ช่วยดูแลคนที่อ่อนแอกว่า มิตรภาพดีๆ น้ำใจงามๆ มีให้เห็นทั้งใน รพ.สนาม ฮอสปิเตล หรือใน รพ.หลักก็ตาม"
 
 
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ระบุสถานการณ์โควิดในต่างจังหวัดด้วยว่า "สถานการณ์ในต่างจังหวัดหลายที่เริ่มตึงมือ ทั้งจากกลุ่มก้อนที่ประทุขึ้นเองภายใน หรือสะเก็ดไฟที่ลามไปจาก 6 จังหวัดอันตรายข้างต้น รวมถึงชลบุรีด้วย การเร่งสร้าง รพ.สนามดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ดี แต่ก็มีเสียงสะท้อนมาว่าหาความร่วมมือจากเหล่าทหารสีเขียวในเรื่องสถานที่จัดตั้ง รพ.สนามได้ยากเต็มที ไม่เหมือนเหล่าทหารสีกากีแถบภาคตะวันออกที่ร่วมรบกับโควิดเคียงบ่าเคียงไหล่หมอและพยาบาลมาโดยตลอด
 
 
ข้อบ่ายเบี่ยงมีการชักแม่น้ำทั้งห้าต่างๆ นาๆ ล้วนฟังดูไม่ค่อยมีน้ำหนักในสายตาบุคลากรสายแพทย์ที่บากหน้าไปขอความช่วยเหลือ ทั้งที่ส่วนหัวประกาศปาวๆ ว่ากองทัพสนับสนุนเต็มที่ในมาตรการรับมือโควิด งานนี้แทนที่จะได้คะแนนสงสารเพื่อไปเสริมความชอบธรรมการจัดหายุทโธปกรณ์ กลับจะได้ผลสะท้อนด้านกลับที่ทำให้ภาพพจน์ติดลบไปกว่าเดิมอีกเสียด้วยซ้ำ..."

ข่าวที่เกี่ยวข้อง