“หมอนิธิพัฒน์” ห่วง “โอมิครอน” ติดลมบน ยอดตายรายวัน อาจพุ่งถึงหลักร้อยต้นๆ
logo ข่าวอัพเดท

“หมอนิธิพัฒน์” ห่วง “โอมิครอน” ติดลมบน ยอดตายรายวัน อาจพุ่งถึงหลักร้อยต้นๆ

ข่าวอัพเดท : วันที่ 31 มี.ค.65 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหา รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล,หมอนิธิพัฒน์,โอมิครอน,โควิด,ยอดตาย

595 ครั้ง
|
01 เม.ย. 2565
        วันที่ 31 มี.ค.65 รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ท่าทางโอมิครอนจะติดลมบน ค้างอยู่บนที่ราบสูงนานไม่ยอมลง สาเหตุน่าจะมาจากไฟลามทุ่งกระจายออกจาก กทม.ไปยังทั่วประเทศ ต้องรอเวลาอีกพัก หลังจากที่จุดศูนย์กลางชะลอตัวมาได้ระยะหนึ่งแล้ว จึงส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงของทั้งประเทศยังไม่ถึงพีคได้ง่ายๆ ถ้ายังไปต่อเช่นนี้ตัวเลขการเสียชีวิตรายวันอาจไปถึงหลักร้อยต้นๆ ได้
 
ข่าวอัพเดท : หมอนิธิพัฒน์ ห่วง โอมิครอน ติดลมบน
 
         “หากอยากเห็นหมุดหมายการปรับลดจากโรคระบาดเป็นโรคประจำถิ่นเกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีหลัง ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจแข็งขันควบคุมโรคกันต่อไปอีกพักใหญ่ เทศกาลสงกรานต์คงสนุกสนานกันได้พอประมาณแต่ต้องไม่ให้เกินเลย ที่สำคัญต้องชักชวนกันให้ฉีดวัคซีนทั้งเข็มมาตรฐานและเข็มกระตุ้นมากเข้าไว้ จนอย่างน้อยให้กลุ่มเปราะบางได้รับเข็มมาตรฐานตามเป้าหมาย 80% สำหรับในอีก 3 เดือนข้างหน้า ยิ่งถ้าได้ถึงเข็มกระตุ้นในทุกกลุ่มด้วยก็จะยิ่งดีไปกันใหญ่”
 
         ในช่วงเตรียมการเปลี่ยนผ่านของโรคโควิด-19 กันอยู่นี้ มีการกลับมาพูดกันอีกรอบถึงการใช้ประโยชน์ของการตรวจแอนติบอดี ล่าสุดสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ของอเมริกา ได้ออกคำแนะนำว่า ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ ที่จะให้คำแนะนำได้ว่าการตรวจแอนติบอดีเพื่อประเมินภูมิคุ้มกันนั้น มีประโยชน์สำหรับช่วยตัดสินใจเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือไม่ หรือช่วยการตัดสินใจว่าจะเลือกใช้การรักษาด้วยแอนติบอดีค็อกเทล เพื่อลดความรุนแรงของการติดเชื้อหรือไม่ ส่วนคำแนะนำเรื่องการใช้ยาหรือแอนติบอดีสูตรใหม่ๆ อื่นในการรักษานั้น บ้านเราคงยังเข้าไม่ถึงได้ง่ายเนื่องจากราคาที่ค่อนข้างแพง
 
          ลองมามองหาอาวุธราคาย่อมเยาว่าพอจะทดแทนได้ไหม นอกเหนือจากยาใหม่ๆ แพงๆ ที่กล่าวไปแล้ว การนำยาเก่าที่ใช้รักษาโรคบางชนิดในอดีต กลับมาใช้รักษาโรคอื่นในปัจจุบัน เป็นวิธีหนึ่งในการค้นหาอาวุธมาใช้ต่อสู้กับเชื้อโรคอุบัติใหม่ ได้มีหลักฐานในห้องทดลองว่า ยาถ่ายพยาธิตัวตืดชื่อ นิโคลซาไมด์ มีใช้กันมานานแล้ว สามารถยับยั้งไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้ดี เหมือนกับที่ยับยั้งไวรัสไข้เลือดออกและไวรัสอีโบลาที่มีการศึกษามาก่อน
 
        “ที่น่าสนใจคือ ยานี้ยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และฤทธิ์ขยายหลอดลม จึงอาจมีประโยชน์ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดโดยเฉพาะในรายที่มีหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบ แต่ปัญหาก็คือยาดูดซึมด้วยการกินได้ไม่ดี การทดลองใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่กำลังดำเนินการอยู่จึงให้ผลไม่แน่นอน ได้มีการปรับแก้ไขสูตรยากินชนิดเม็ดให้ดูดซึมดีขึ้น หรือปรับเป็นรูปอื่น เช่น ยากินชนิดน้ำ ยาพ่นจมูก และ ยาสูดพ่นเข้าหลอดลมและปอด เอาใจช่วยให้ประสบความสำเร็จจะได้มียาดีราคาถูกไว้รับมือกับโรคโควิด-19 ประจำถิ่น “ หมอนิธิพัฒน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง