แพทย์ชี้ สาว 29 กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ไม่เกี่ยววัคซีนโควิด พบมีภาวะผิดปกติแต่กำเนิดแต่ไม่แสดงอาการ
logo ข่าวอัพเดท

แพทย์ชี้ สาว 29 กลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ไม่เกี่ยววัคซีนโควิด พบมีภาวะผิดปกติแต่กำเนิดแต่ไม่แสดงอาการ

ข่าวอัพเดท : คืบหน้ากรณี น้องน้ำค้าง หรือ น.ส.ทิศกร พันธ์สำโรง อายุ 29 ปี ชาวบ้านใหม่โพธิ์งาม จ.นครราชสีมา เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที น้องน้ำค้าง,เจ้าหญิงนิทรา,โควิด,ไม่เกี่ยววัคซีน,วัคซีนโควิด,เส้นเลือดในสมอง

127,396 ครั้ง
|
04 มิ.ย. 2564
คืบหน้ากรณี น้องน้ำค้าง หรือ น.ส.ทิศกร พันธ์สำโรง อายุ 29 ปี ชาวบ้านใหม่โพธิ์งาม จ.นครราชสีมา เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์โคราช และภายหลังฉีดไป 2 วัน พบอาการผิดปกติ จนต้องนำส่งรักษาที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา  ซึ่งผลเอ็กซเรย์พบมีเลือดออกในโพรงสมองและมีความผิดปกติในเส้นเลือดสมอง บริเวณรอยต่อระหว่างเส้นเลือดแดงกับเส้นเลือดดำ ขณะนี้อาการยังโคม่า เป็นเจ้าหญิงนิทรา ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งทางญาติเชื่อว่าเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือ เพื่อให้น้องน้ำค้างกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง เนื่องจากเป็นเสาหลักของครอบครัวและยังมีภาระต้องดูแลลูกกับตายาย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
 
ล่าสุด นายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา คณะผู้เชี่ยวชาญเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน (Adverse Events Following Immunization :  AEFI) ซึ่งมีศาสตราจารย์ แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นประธาน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดสมอง ได้พิจารณากรณีหญิงอายุ 29 ปี ชาว จ.นครราชสีมา ที่มีอาการเลือดออกในสมอง โดยมีประวัติรับการฉีดวัคซีนซิโนแวค เมื่อ 2 วันก่อนเกิดอาการ ขณะนี้รับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมานั้น
 
จากรายงานการสอบสวนโรค และภาพถ่ายเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองจาก รพ.มหาราชนครราชสีมา พบว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าว มีภาวะผิดปกติ ที่มีกลุ่มหลอดเลือดแดงต่อกับหลอดเลือดดำในสมอง Arteriovenous malformation (อ่านว่า อาร์เธอรีโอวีเนียส มัลฟอร์เมชั่น) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติมาแต่กำเนิด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการ มักมาพบแพทย์และตรวจพบเมื่อหลอดเลือดผิดปกติเหล่านี้แตก ซึ่งอาการจะขึ้นกับตำแหน่งที่มีการแตกของหลอดเลือดในสมอง หรืออาจมีการชักปวดศีรษะร่วมด้วยได้ ในคนทั่วไปพบภาวะนี้ได้ประมาณ 10 - 18 รายต่อประชากรแสนคน และบุคคลที่มีความผิดปกติดังกล่าว มีโอกาสที่จะเกิดเลือดออกในสมองได้ประมาณร้อยละ 2 - 4 ต่อปี  ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการพิการหรือเสียชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มนี้
 
ในส่วนของผู้ป่วยรายนี้ จากผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง พบภาวะเลือดออกในสมอง และตรวจพบความผิดปกติที่กลุ่มหลอดเลือดแดงต่อกับหลอดเลือดดำที่สมอง ซึ่งมักเป็นภาวะผิดปกติแต่กำเนิด ความเห็นของคณะผู้เชี่ยวชาญฯ จึงสรุปว่า สาเหตุของการเกิดอาการดังกล่าว เป็นจากรอยโรคเดิมที่เป็นอยู่ ทำให้มีเลือดออกในสมอง และไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือการฉีดวัคซีน แต่เป็น Coincidental event (อ่านว่า คอยซิเดนทัล อีเวนต์) หรือเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญภายหลังการได้รับวัคซีน
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง