มาอัปเดทกันทุกปี สำหรับเทรนด์การใช้งาน Social Media ปี 2021 นี้มาดูกันค่ะว่ามีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง
1. Social Media คือหนึ่งในเครื่องมือค้นหา (Search Engine)
ผู้คนใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียในการค้นหาสิ่งต่างๆ มากขึ้น มีการค้นหาบนแต่ละแพลตฟอร์มโดยตรงไม่ว่าจะ Youtube / FB / IG / LINE ไม่ว่าจะเป็นการเสิร์จคีย์เวิร์ด หรือแฮชแท็ก จากเดิมที่ใช้แค่เครื่องมือค้นหา เช่น Google เป็นส่วนใหญ่
2. คอนเทนต์วิดีโอสั้นยังคงมาแรง
ปีที่แล้ว ผลพลอยได้จากวิกฤตโควิด-19 นับเป็นยุคทองของวิดีโอสั้น โดยเฉพาะบน TikTok ที่ส่งผลให้เป็นเทรนด์ใหม่ในการทำคอนเทนต์วิดีโอ ที่เกิดเป็น Challenge ต่างๆ ให้ผู้คนได้มีส่วนร่วมในแคมเปญหรือคอนเทนต์ของตัวเองมากขึ้น และในปีนี้ยังมีฟีเจอร์วิดีโอสั้นใหม่จาก IG ออกมานอกจาก IG Story นั่นคือ Reels และจาก Twitter คือ Fleets นั่นเองค่ะ
3. E-Commerce เติบโตเรื่อยๆ
จากสถานการณ์โควิดที่ทุกคนต้องกักตัว ทำให้หลายอุตสาหกรรมไม่สามารถเปิดหน้าร้านแบบเดิมได้ 100% จึงทำให้ E-Commerce เข้ามามีบทบาทและเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มก็มีฟีเจอร์ออกมาเพื่อการซื้อขายแบบจบในแอปเดียว
4. ยอดผู้ใช้งาน Messaging App มีแนวโน้มสูงขึ้น
ในปี 2023 มีการคาดการณ์ว่ายอดผู้ใช้งานแอปพลิเคชันจำพวก Messaging App หรือแอปส่งข้อความจะสูงขึ้น เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสที่ดีในการแบรนด์ได้เตรียมพร้อม เพื่อหาช่องทางในการทำการตลาดที่จะสื่อสารไปยังช่องทางใหม่ๆด้วยค่ะ
5. การบริการลูกค้าผ่านโซเชียลมีเดีย
โซเชียลมีเดียเป็นอีกช่องทางที่แบรนด์ใช้ติดต่อกับลูกค้า เป็นตัวกระชับความสัมพันธ์ที่ดีและเพิ่มใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคโควิดเช่นนี้ การติดต่อผ่านทางออนไลน์ถือเป็นช่องทางที่สะดวกและรวดเร็ว ตอบโจทย์กับสถานการณ์และไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นลูกค้าก็คาดหวังที่จะได้รับการบริการที่ดี การตอบกลับที่เร็วจากแบรนด์ผ่านโซเชียลมีเดียนั้่นเองค่ะ
6. Live Stream ตัวช่วยสำหรับแบรนด์
การไลฟ์ก็เป็นอีกฟีเจอร์หนึ่งที่เป็นที่นิยมมากขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว และยังคงมีแนวโน้มที่จะเข้ามามีบทาทในการทำการตลาดมากขึ้นอีก เพราะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าได้มากขึ้น เกิดการสื่อสารกันได้อย่างเรียลไทม์มากกว่า ทั้งยังเป็นผลดีกับร้านค้าเนื่องจากทำให้แบรนด์ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น
7. ประเด็นทางสังคมบน Social Media
โซเชียลมีเดียถูกใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงเรียกร้องสิทธิหรือประเด็นทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองที่มียอด Engagement มากที่สุดในปีที่ผ่านมา รวมไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และความไม่เท่าเทียมในด้านต่างๆ ก็ถูกพูดถึงมากไม่แพ้กัน
8. ข่าวปลอมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
Fake news หรือข่าวปลอมแพร่หนักตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้ว ซึ่งก็เกิดจากโซเชียลมีเดียเอง เนื่องจากข่าวสารที่ถูกแชร์และส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว จนบางทีไม่ได้ผ่านการตรวจสอบที่แน่ชัดก่อน รวมไปถึงการใช้เทคนิคต่างๆ ที่ทำให้แยกระหว่างจริงเท็จได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เหล่าครีเอเตอร์และแบรนด์ต้องระวังเป็นอย่างมากในการที่จะนำข้อมูลต่างๆ มาเผยแพร่หรือทำคอนเทนต์ เพราะจะส่งผลต่อภาพลักษณ์อย่างมาก
9. การใช้โซเชียลหลากหลายช่องทาง
การใช้โซเชียลมีเดียหลายช่องทางเป็นการเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ยิ่งปัจจุบันแต่ละแพลตฟอร์มมีฟีเจอร์มากมายให้เลือกใช้ ทำให้สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ๆ ได้มากกว่า อีกอย่างคือแต่ละแพลตฟอร์มมีธรรมชาติในการใช้งานที่แตกต่างกัน การสื่อสารผ่านแต่ละแพลตฟอร์มก็ทำให้คอนเทนต์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันไปด้วย
10. สร้างคอนเทนต์ให้คนมีส่วนร่วม
การสร้างคอนเทนต์ที่เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะผ่าน Challenge ต่างๆ การติดแฮชแท็ก หรือเปิดให้ทุกคนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือถ้าให้ดีควรทำคอนเทนต์ที่สามารถเข้าถึงอินไซต์ของกลุ่มเป้าหมายได้ เช่น การใช้มีม ที่ปัจจุบันก็นำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นการนำรูปและข้อความสั้นๆ มาใส่เพื่อสื่อความหมาย แถมยังได้ความบันเทิง และปีนี้การใช้งานมีมก็ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกัน