ในช่วงการเมืองร้อนแรงที่มีความแตกต่างทางความคิดเป็น 2 ฝั่ง มีกรณีของนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการแรงงาน ขอให้คุ้มครองสิทธินักศึกษาฝึกงานไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ จากทัศนคติทางการเมือง หลังเกิดข้อความแชทไลน์ของคณบดีสายสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในลักษณะจะมีการเลือกปฏิบัติไม่พิจารณารับนักศึกษาฝึกงานด้วยเงื่อนไขความเห็นต่างทางการเมือง
ทำให้นักศึกษาหลายคนกังวลว่า จะถูกเลือกปฏิบัติจากองค์กรและมหาวิทยาลัย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองดูแลนักศึกษาฝึกงาน ทำให้เกิดการละเมิดนักศึกษาฝึกงาน รวมถึงละเมิดสิทธิมนุษยชนในการแสดงออกทางการเมือง นอกจากนี้ ยังขอทวงถามเรื่องการเร่งออกกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากนักศึกษาฝึกงานปัจจุบันไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีสัญญาจ้าง ไม่มีสวัสดิการ ทำให้การทำงานและถูกจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้เกิดการสูญเสียต่อนักศึกษาฝึกงาน
ทั้งนี้การแสดงความคิดเห็นในโซเชียลเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน และต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะแม้ว่าความเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่ก็ต้องระมัดระวังในการโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย หรือการแสดงจุดยืนทางการเมือง ไม่ว่าเราจะสนับสนุนฝ่ายใดก็ตาม
สำหรับเทคนิคการเลือกที่ฝึกงาน สำหรับน้องๆนักศึกษา ที่สำคัญสุดต้องสมัครฝึกงานให้ตรงสายที่เรียนมา ถึงแม้ว่าบริษัททจะไม่ได้กีดกันในการสมัครงานข้ามสาย แต่บริษัทก็ต้องการคนที่คุณสมบัติตรงก่อน และการฝึกงานตรงกับสิ่งที่มีความรู้ ก็จะทำให้เราได้โอกาสแสดงศักยภาพได้ดีมากกว่าการฝึกงานข้ามสาย
ส่วนช่องทางในการสมัครฝึกงาน มักจะประกาศกันผ่านเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียขององค์กร ซึ่งหากเราเล็งว่าอยากฝึกงานที่ไหน ก็ต้องคอยติดตามประกาศของที่นั่นให้ดี หรือหากไม่มีประกาศรับสมัคร เราก็สามารถติดต่อสอบถามด้วยตัวเองเลยก็ได้ พร้อมส่งเรซูเม่สวยๆ ข้อมูลครบถ้วน ตัวอย่างงานที่น่าสนใจ เพื่อแสดงให้องค์กรเห็นว่าเราอยากฝึกงานที่นี่จริงๆ
นอกจากนี้เรายังสอบถามจากรุ่นพี่ที่ประสบการณ์จริง มาช่วยให้คำแนะนำกับเราได้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าเมื่อเข้าไปฝึกงานแล้วจะเจอกับอะไรในองค์กรบ้าง ทั้งนี้บางคนอาจได้รับการตอบรับเข้าฝึกงานมากกว่า 1 แห่ง ซึ่งเราก็ต้องเลือกให้ดีว่าอยากฝึกที่ไหน และรีบปฏิเสธที่ที่เราไม่ได้เลือกอย่างสุภาพ อย่าปล่อยให้อีกฝ่ายต้องรอ เพราะอาจทำให้องค์กรไม่พอใจ แล้วติดต่อไปที่มหาวิทยาลัย เรื่องอาจถึงหูอาจารย์ก็เป็นได้
ต้องอย่าลืมว่า การฝึกงานไม่ใช่เวลาเพียงวัน 2 วัน แต่ต้องอยู่กันหลายเดือนเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นการเลือกที่ฝึกงานที่ใช่ ในสายงานที่เราชอบ ก็จะทำให้เรามีความสุข และเก็บเกี่ยวประสบการณ์นอกห้องเรียนได้เต็มที่ และหากเราแสดงความสามรถเข้าตา ก็อาจได้งานเลยหลังจากฝึกงานก็เป็นได้
มีอีกกรณีที่คล้ายๆกัน เมื่อมีการแชร์ภาพจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก Wachilapat Intuputi เป็นภาพใบสมัครงานของบริษัทแห่งหนึ่ง มีช่องให้เลือกว่า คุณมีประวัติหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ มีหรือไม่ พร้อมให้ระบุชื่อ Facebook และ Instagram เพื่อให้บริษัทตรวจสอบการใช้โซเชียลมีเดีย ถือว่าเป็นอีกมิติของการสมัครงานในยุคนี้
ซึ่งจากช่องที่มีให้เลือก ถ้าบางคนตอบไปตามจริง กล้าทำกล้ารับ ก็อาจจะไม่ตรงกับทัศนคติของบริษัท และไม่ได้งาน ทำให้บางคนเลือกที่จะโกหก และเมื่อประกอบกับข้อมูลอื่นๆ อาจทำให้คุณได้รับคัดเลือกเข้าทำงาน แต่เมื่อทำงานไป พฤติกรรมต่างๆของตัวคุณก็จะฟ้องออกมา บริษัทก็สืบย้อนหลังได้ไม่ยาก และสามารถเชิญคุณออกได้ทันที เพราะถือว่าเจตนากรอกใบสมัครด้วยข้อมูลประวัติที่เป็นเท็จของคุณ
ส่วนกรณีของการที่ HR ขอดูการใช้โซเชียลมีเดียของเรา ก็เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคลที่เราจะให้หรือไม่ให้ตรวจสอบ แต่ในอีกมุมหนึ่ง HR ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่นำเสนอไฟล์ข้อมูลของคุณ ให้กับแผนกที่กำลังรับพนักงานอยู่ได้เหมือนกัน ด้วยเหตุผลที่ดูเหมือนว่าคุณมีอะไรปกปิดอยู่ น่าสงสัย ไม่โปร่งใส
ซึ่งเฟซบุ๊กก็เปรียบเสมือนตัวตนของคุณ บุคลิก นิสัย ทัศนคติ , อุปสรรคที่เคยเข้ามาในชีวิต , การระบายความอัดอั้นตันใจ และข้อมูลในเชิงลึกต่างๆของคุณจะถูกแสดงให้เห็นผ่านทางเฟซบุ๊ก เหมือนไดอารี่โดยที่คุณอาจนึกไม่ถึง เรียกได้ว่าสามารถอ่านขาดได้เลยว่าคนนี้นิสัยเป็นอย่างไร ถ้าได้ลองไล่ดูสิ่งที่โพสต์ย้อนหลัง
สำหรับคำแนะนำในการสมัครงานเพิ่มเติมคือ นอกจากพกความสามารถของคุณไปให้พร้อมแล้ว อย่าลืมเคลียร์โพสต่างๆ ในโซเชียลมีเดียของตัวเองให้ดีๆ กลับมาสู่โลกความเป็นจริง เปลี่ยนทัศนคติในบางเรื่อง พยายามเดินสายกลางๆ ไม่ขวาหรือซ้ายเกินไป ศึกษาข้อมูลและแนวคิดขององค์กรที่เราจะไปสมัคร เพื่อให้ได้งานได้ตามที่หวัง