ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม-กดดันให้ลาออก จากเหตุผลการแสดงออกทางการเมือง ลูกจ้างทำอะไรได้บ้าง?
logo รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน

ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม-กดดันให้ลาออก จากเหตุผลการแสดงออกทางการเมือง ลูกจ้างทำอะไรได้บ้าง?

รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน : จากกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อความว่า แม่ของเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำคณะราษฎร ถูกไล่ออกจากบริษัท ด้วยเหตุผลว่า ลูกชา รอดไปด้วยกันเศรษฐกิจชาวบ้าน,ทิน โชคกมลกิจ,รอดไปด้วยกัน,ข่าวเศรษฐกิจ,เลิกจ้าง,แม่เพนกวิน,ไล่ออก,ฟรีแลนซ์

1,864 ครั้ง
|
03 พ.ย. 2563
จากกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อความว่า แม่ของเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำคณะราษฎร ถูกไล่ออกจากบริษัท ด้วยเหตุผลว่า ลูกชายไม่จงรักภักดีนั้น ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ และมีแจ้งบัญชีบริจาคให้ผู้ที่ช่วยเหลือ ได้ร่วมบริจาค หรือจ้างงานด้านบัญชี ซึ่งเป็นอาชีพของคุณแม่ 
 
แต่ล่าสุดนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เจอกับแม่ของเพนกวิน เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง
ซึ่งแม่ของเพนกวินได้ฝากชี้แจงมาว่า เรื่องดังกล่าวอาจจะเป็นความเข้าใจผิดของผู้โพสต์ ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ได้ถึงขนาดถูกไล่ออก ซึ่งยอมรับว่า การทำงานของแม่เพนกวินอยู่ในฐานะลูกจ้างฟรีแลนซ์ เพราะทำงานเป็นพนักงานบัญชี รับตรวจสอบและจัดทำบัญชีให้บริษัทต่างๆ ทำให้ต้องทำงานร่วมกับหลายบริษัท ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ ซึ่งก็มีบางบริษัทที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน และอาจส่งผลต่องานบ้าง หรืออาจมีคู่ค้ายกเลิกคำสั่งซื้อ-ขายสินค้ากันเท่านั้น
 
ทั้งนี้ แม่ของเพนกวิน ยังระบุว่า อยากให้สังคมเข้าใจว่าความเป็นแม่ กับความคิดเห็นทางการเมืองเป็นคนละส่วนกัน ซึ่งในส่วนนี้ทางทนายความยืนยันว่า จากการสังเกตเห็นเพนกวิน และแม่ ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งคู่มีความเห็นที่ตรงกันเสมอไป จึงอยากวิงวอนให้ผู้คนเข้าใจ และแยกแยะออกจากกัน
 
ส่วนกรณีการเปิดรับบริจาคนั้นมีเพื่อนของแม่เพนกวิน ปรารถนาดีขอเลขบัญชีธนาคาร แต่แม่ของเพนกวิน ยืนยันว่า ฐานะทางครอบครัวสามารถดูแลบุตรชายตัวเองได้ แต่หากผู้ใดจะช่วยเหลือเพนกวินก็อาจใช้ช่องทางอื่นหรือบริจาคกับเพนกวินโดยตรงได้
 
จากข่าวที่เกิดขึ้น เราจะเห็นได้ว่า ในช่วงการเมืองร้อนแรงที่มีความแตกต่างทางความคิดเป็น 2 ฝั่ง โดยเฉพาะช่วงนี้การแสดงความคิดเห็นในโซเชียลเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน และต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะแม้ว่าความเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคลที่ใครจะคิดอย่างไรก็ได้ แต่ก็ต้องระมัดระวังในการโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย หรือการแสดงจุดยืนทางการเมือง ไม่ว่าเราจะสนับสนุนฝ่ายใดหรือไม่สนับสนุนฝ่ายใด
เพราะเราจะเห็นข่าวที่เป็นกรณีศึกษา ผู้ที่โพสต์แสดงความเห็นทางการเมืองอย่างรุนแรง หรือเข้าร่วมชุมนุมแล้วแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม จนเกิดภาพแพร่กระจายออกไปในโซเชียล อาจถูกทัวร์ลง ถูกล่าแม่มด แล้วกระทบต่อชีวิตและการทำงานได้ 
 
อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างย่อมมีสิทธิที่จะร่วมชุมนุม แต่ก็ต้องปฏิบัติตามสัญญาและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เช่น ไปร่วมชุมนุมนอกเวลาทำงาน วันหยุด วันหยุดพักผ่อนประจำปี (วันลาพักร้อน) ตามกฎข้อบังคับ แต่ถ้าใช้ลาป่วยหรือลากิจว่ามีธุระ แต่ความจริงเราไปร่วมชุมนุม หากนายจ้างพบว่าไม่ได้ลาป่วยหรือลากิจจริง นายจ้างอาจถือเป็นเหตุให้เลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างได้ โดยอ้างว่าลูกจ้างลาป่วยหรือลากิจธุระเท็จเป็นการละทิ้งการงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ได้
 
และหากเราถูกกดดันให้ถูกเลิกจ้าง หรือบังคับให้ลาออก จากเหตุผลการแสดงออกทางการเมือง ลูกจ้างก็มีสิทธิป้องกันตัวจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ได้แก่
 
1.หากถูกตักเตือนด้วยวาจาหรือหนังสือเตือน อ้างว่าทำผิดเนื่องจากไปชุมนุมทางการเมือง ทำให้นายจ้างเสื่อมเสีย เราต้องดูสัญญาจ้างหรือข้อบังคับขององค์กรเสียก่อน ว่าสิ่งที่นายจ้างลงโทษนั้นมีในสัญญาหรือไม่ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วไม่ได้เป็นเหตุตามที่นายจ้างอ้าง ลูกจ้างมีสิทธิไม่ลงชื่อเพื่อรับทราบการเตือนนั้น และการไม่ลงลายมือชื่อดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้าง และลูกจ้างสามารถทำหนังสือค้านว่าไม่ได้กระทำผิด เพราะไปชุมนุมนอกเวลางาน เป็นการชุมนุมตามเสรีภาพ ไม่ได้ทำให้นายจ้างเสียหาย  
 
ทั้งนี้ นายจ้างอาจไม่ได้เลิกจ้างในทันที แต่อาจจะอ้างว่าใน 1 ปี ถ้าเรากระทำซ้ำ หลังมีการตักเตือนแล้ว ก็อาจจะมีการลงโทษเลิกจ้าง ซึ่งลูกจ้างอาจใช้เป็นเหตุฟ้องเพิกถอนการลงโทษมิชอบ หรือใช้เป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลได้
 
2.หากถูกนายจ้างกดดันหรือบังคับให้ลาออก โดยให้เราเซ็นในใบลาออก เพื่อที่นายจ้างจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าทดแทน อย่างไรก็ตามลูกจ้างมีสิทธิปฏิเสธเขียนใบลาออก และให้นายจ้างทำเป็นหนังสือเลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งหากตกลงกันไม่ได้ หรือลูกจ้างถูกข่มขู่ ก็สามารถร้องความเป็นธรรมกับศาลได้ 
 
3.หากถูกนายจ้างใช้ยาแรง ลงโทษเลิกจ้าง อ้างว่าทำผิดเนื่องจากไปชุมนุมทางการเมือง ทำให้นายจ้างเสื่อมเสีย โดยให้ออกแบบฟ้าผ่า ไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิฟ้องศาลแรงงาน เรียกร้องค่าจ้างค้างจ่าย (กรณีที่นายจ้างค้างจ่าย), ค่าชดเชย, ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี (ที่ยังเหลืออยู่) ที่เฉลี่ยตามส่วนในปีที่ถูกเลิกจ้าง พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และนายจ้างยังมีหน้าที่ต้องเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละ 15 ของเงินค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วันด้วย
 
นอกจากนี้ ลูกจ้างยังมีสิทธิเรียกค่าสินจ้าง แทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 9 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (ฉบับที่ 7) ซึ่งแก้ไขปี 2562 ทั้งยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522
 
นอกจากสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว ลูกจ้างยังมีสิทธิของประกันสังคม กรณีถูกเลิกจ้าง โดยจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น  ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท
 
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ปลอดภัยที่สุดคือ การแสดงออกทางการเมืองอย่างเหมาะสม สมเหตุสมผล ไม่หยาบคาย ไม่คุกคามสิทธิผู้อื่น เพื่อไม่ให้ต้องกระทบกับชีวิตและการทำงานของเรานั่นเอง 
 
ชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/tT9MughHB8c

ข่าวที่เกี่ยวข้อง