จากการชุมนุมของม็อบราษฎร ที่นัดชุมนุมกันต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ที่แยกราชประสงค์เมื่อเย็นวันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม 2563 เพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใจกลางกรุง การเดินทางสะดวกด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส BTS จนมีผู้เดินทางมาร่วมชุมนุมจำนวนมาก
ต่อเนื่องช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม ที่มีการนัดหมายแยกราชประสงค์อีกครั้ง แต่ทางตำรวจได้บล็อกพื้นที่ ทำให้ม็อบราษฎรต้องเปลี่ยนไปนัดหมายที่แยกปทุมวัน ซึ่งยังเป็นแนวรถไฟฟ้าเช่นกัน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทางตำรวจได้สกัดกลุ่มผู้ชุมนุม ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ในการห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม อาคาร หรือสถานที่ต่าง ๆ
ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จึงสั่งปิดการใช้รถไฟฟ้า โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความปลอดภัยของประชาชน ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ของประชาชน เพราะกระทบกับการเดินทาง ไม่เพียงแต่กับผู้ตั้งใจเดินทางไปชุมนุม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา แต่ยังเป็นประชาชนทั่วไป คนทำงาน ที่มีธุระหรือต้องจำเป็นเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเช่นกัน
อีกทั้งผู้โดยสารจำนวนไม่น้อยที่เลือกซื้อบัตรโดยสารประเภทรายเดือน เหมาเป็นจำนวนเที่ยว ซึ่งการสั่งปิดทำให้ผู้โดยสารต้องเสียเปรียบ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีแนวทางการชดเชยจาก BTS ออกมา
ทั้งนี้ จากการประกาศปิดรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา นอกจากจะกระทบชีวิตชาว กทม.แล้ว ยังทำให้รายได้ของรถไฟฟ้าสูญเสียไม่ใช่น้อย จากข้อมูลของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าฯกทม. ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบจราจรเมืองใหญ่และการคมนาคม ได้โพสต์ข้อมูลวิเคราะห์ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการประกาศปิดรถไฟฟ้า โดยไล่เรียงกันแบบวันต่อวัน ตีเป็นตัวเลขกลม ๆ ได้ดังนี้
1. วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม 2563
-สั่งปิดรถไฟฟ้า BTS สถานีราชดำริ สถานีชิดลม สถานีสยาม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และสถานีราชเทวี ทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้า BTS ลดลงประมาณ 50,000 คน
-สั่งปิดรถไฟฟ้า MRT สถานีสามย่าน
แม้จะถูกสั่งปิด แต่กลับทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 คน เนื่องจากผู้โดยสารเปลี่ยนมาใช้ MRT แทน BTS ที่ถูกปิดหลายสถานี ในขณะที่ MRT ถูกปิดเพียงสถานีเดียวเท่านั้น
2. วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2563
สั่งปิดรถไฟฟ้า BTS และ MRT ทุกสถานี ทำให้จำนวนผู้โดยสารเปลี่ยนแปลงดังนี้
-ผู้โดยสารรถไฟฟ้า BTS ลดลงประมาณ 250,000 คน
-ผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT ลดลงประมาณ 150,000 คน
3. วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม 2563
-สั่งปิดรถไฟฟ้า BTS สถานีพหลโยธิน 24 สถานี ได้แก่ สถานีห้าแยกลาดพร้าว สถานีหมอชิต สถานีอารีย์ สถานีสนามเป้า สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีพญาไท สถานีราชเทวี สถานีอโศก สถานีอุดมสุข สถานีบางนา สถานีช่องนนทรี สถานีสุรศักดิ์ สถานีกรุงธนบุรี และสถานีวงเวียนใหญ่
ทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้า BTS ลดลงประมาณ 150,000 คน
-สั่งปิดรถไฟฟ้า MRT สถานีหัวลำโพง สถานีลุมพินี สถานีสุขุมวิท สถานีพหลโยธิน และสถานีจตุจักร ทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT ลดลง 80,000 คน
4. วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2563
-สั่งปิดรถไฟฟ้า BTS สถานีกรมป่าไม้ สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถานีเสนานิคม ทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสลดลงประมาณ 85,000 คน
-ไม่มีการสั่งปิดรถไฟฟ้า MRT
ซึ่งจากการสั่งปิดรถไฟฟ้าบางสถานีและบางช่วงเวลาระหว่างวันที่ 16-19 ตุลาคม 2563 ทำให้มีผู้โดยสารใช้งานลดลงประมาณ 757,000 คน
ทั้งนี้ มีรายงานจากบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยเมื่อ มิ.ย.63 ว่า บริษัทคาดว่ารายได้งวดปี 63/64 (1 เม.ย.63-31 มี.ค.64) จะอยู่ที่ราว 33,800 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้ 32,076 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในงวดปีนี้ได้ เนื่องจากสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอน จากผลกระทบของโควิด-19 จากนโยบาย Work from Home และประชาชนเลี่ยงออกจากบ้าน โดยในช่วงเดือน เม.ย. มีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 1 แสนคน/วัน ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดแล้ว ขณะที่เดือนต่อมาผู้โดยสารเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมาที่ 3.5-4 แสนคน/วัน
ในส่วนของรถไฟฟ้า MRT ข้อมูลจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM รายงานล่าสุด กำไรไตรมาส 3/2563 ที่ 808 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 431% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 14% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จำนวนผู้โดยสารโดยเฉลี่ยล่าสุดอยู่ที่ 310,000 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงโควิด ที่ผู้โดยสารในเดือน เม.ย. ต่ำสุดอยู่ที่ 97,000 คน/วัน
อย่างไรก็ดี กรมประชาสัมพันธ์ โพสต์ลงทวิตเตอร์วันนี้ (21 ต.ค.) อ้างคำแถลงของกองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (กอร.ฉ.) ว่า กรณีการปิดขนส่งมวลชนรวมถึงรถไฟฟ้า BTS เป็นไปเพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม เช่น หากเกิดการทำลายทรัพย์สินหรือการทะเลาะวิวาทและเป็นการปิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งผู้ให้บริการขนส่งสมัครใจร่วมกันปิดบริการด้วย
ต่อมา (21 ต.ค.2563) นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอสซี) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ชี้แจงกรณีที่มีการเสนอข่าวผ่านทางสื่อออนไลน์ว่า การปิดให้บริการรถไฟฟ้า BTS ช่วงที่มีการชุมนุม เป็นความสมัครใจของผู้ให้บริการ ว่า
การประกาศหยุดให้บริการรถไฟฟ้า BTS ทุกครั้ง มีคำสั่งจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ทางบริษัท ก็เข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ต้องทำตามหน้าที่ แต่ทุกครั้ง ก่อนที่จะมีการปิดให้บริการรถไฟฟ้า BTS จะมีการประชุมหารือร่วมกับตำรวจทุกครั้ง และได้มีการชี้แจงให้ทราบผลกระทบที่จะตามมา แต่ทางตำรวจเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก บริษัท ก็ต้องปฏิบัติตาม
ทางด้าน นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดผยว่า MRT ยังไม่ได้ขอค่าชดเชยรายได้ที่หายไปแต่อย่างใด ซึ่งตามสัญญาสัมปทาน บริษัท มีสิทธิ์เรียกร้องขอเงินชดเชยได้ เพราะการหยุดให้บริการเป็นคำสั่งของภาครัฐ