มาดูมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการช้อปดีมีคืน ที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง (เคาะไปเมื่อ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา) สาระสำคัญของมาตรการนี้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และกำลังซื้อของคนในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อและสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี โดยเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้ สําหรับค่าซื้อสินค้าและบริการ ตามจํานวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท
ซึ่งช้อปดีมีคืน ก็คือคอนเซ็ปต์เดียวกับมาตรการ ช้อปช่วยชาติ ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เคยใช้ตั้งแต่ปี 58 จนถึงปี 61 ที่เคยให้ประชาชนช้อปปิ้ง เพื่อนำไปใช้ลดหย่อนภาษีกันมาแล้ว ก่อนจะนำกลับมาปัดฝุ่น เปลี่ยนชื่ออีกครั้งในปี 63 นี้ ทีนี้เรามาดูว่าสินค้าอะไรที่ใช้ลดหย่อนได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าและบริการทุกประเภท ที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนใหญ่เป็นของกิน ของใช้ในชีวิตประจำวันเรา นอกจากนี้ยังเป็นสินค้า OTOP โดยเงินที่นำมาลดหย่อน มาจากจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 30,000 บาท แต่ก็มีสินค้าบางอย่างที่ไม่ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการ ได้แก่
-ค่าสุรา เบียร์ และไวน์
-ค่ายาสูบ
-ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
-ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
-ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
-ค่าบริการจัดนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
-ค่าที่พักในโรงแรม
อย่างไรก็ตาม ผู้ทีได้รับสิทธิ ต้องไม่เคยได้รับสิทธิตามโครงการคนละครึ่ง หรือโครงการเพิ่มกำลังซื้อ (เพิ่มเงิน 500 บาท เป็นเวลา 3 เดือน) ให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ซึ่งเวลาเราจับจ่ายซื้อสินค้า จะต้องขอหลักฐานการจ่ายเงินทุกครั้ง นั่นคือใบกำกับภาษี จากนั้นก็รวบรวมไว้จนถึงสิ้นปี เพื่อเป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษี
โดยมาตรการนี้มีระยะเวลาดําเนินการตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีในเดือนมีนาคม 2564 แต่หากเราซื้อสินค้าก่อน 23 ตุลาคม จะไม่สามารถให้คนขายออกใบกำกับภาษีได้ เพราะถือเป็นการทุจริต
ทั้งนี้อัตราในการลดหย่อนภาษี จะเป็นตามขั้นบันไดที่เรายื่นเสียภาษี เราต้องดูว่ารายได้เราอยู่ในขั้นไหน เช่น เรามีรายได้ 5 ล้านบาท หากช้อปปิ้งเต็ม 30,000 บาท ก็จะได้ลดหย่อน 35% จะได้เงินภาษีคืนสูงสุด 10,500 บาท แต่หากเรามีรายได้ ไม่เกิน 150,000 บาทต่อไป ต่อให้ช้อปปิ้งเต็ม 30,000 บาท เราก็จะไม่ได้เงินภาษีคืนแต่อย่างใด
อัตราการคืนภาษีมีดังนี้
-เงินได้สุทธิต่อปี 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ได้สิทธิ์คืนภาษี
-เงินได้สุทธิต่อปี 150,001-300,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 5% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 1,500 บาท
-เงินได้สุทธิต่อปี 300,001-500,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 10% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท
-เงินได้สุทธิต่อปี 500,001-750,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 15% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท
-เงินได้สุทธิต่อปี 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 20% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 6,000 บาท
-เงินได้สุทธิต่อปี 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 25% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 7,500 บาท
-เงินได้สุทธิต่อปี 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้ 30%สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 9,000 บาท
-เงินได้สุทธิต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษีเงินได้ 35% สิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท
คาดการณ์กันว่าโครงการนี้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 28 ล้านคน คาดมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 1.92 แสนล้านบาท ส่งผลให้จีดีพีเติบโตขึ้น 0.54% เพราะแม้รัฐจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการหักลดหย่อนในครั้งนี้ แต่ก็ถือว่าเป็นการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษี และส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของรัฐในระยะยาวอีกด้วย