เปิดสิทธิประโยชน์ มนุษย์เงินเดือน-ข้าราชการ หลังเกษียณ
logo รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน

เปิดสิทธิประโยชน์ มนุษย์เงินเดือน-ข้าราชการ หลังเกษียณ

รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน : เข้าสู่เทศกาลงานเกษียณกันแล้ว โดยเมื่อวานนี้ 30 กันยายน 2563 ถือเป็นวันทำงานวันสุดท้ายของหลายๆคน โดยเฉพาะเหล่าข้าร รอดไปด้วยกันเศรษฐกิจชาวบ้าน,ทิน โชคกมลกิจ,รอดไปด้วยกัน,ข่าวเศรษฐกิจ,มนุษย์เงินเดือน,ข้าราชการ,เกษียณ,บำนาญ,บำเน็จ

13,550 ครั้ง
|
01 ต.ค. 2563
เข้าสู่เทศกาลงานเกษียณกันแล้ว โดยเมื่อวานนี้ 30 กันยายน 2563 ถือเป็นวันทำงานวันสุดท้ายของหลายๆคน โดยเฉพาะเหล่าข้าราชการที่มีอายุ 60 ปี ที่ได้เวลาพักผ่อนหลังทำงานมาตลอดชีวิต ซึ่งข้าราชการไม่ว่าจะตำแหน่ง หรือทำงานที่ส่วนราชการใด ก็จะได้รับสิทธิและประโยชน์ตอบแทน ทั้งในระหว่างรับราชการอยู่, เมื่อออกจากราชการแล้ว ไปจนถึงการช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต
 
โดยสิทธิประโยชน์สำหรับข้าราชการวัยเกษียณ อาทิ เงินบำเหน็จ, เงินบำนาญ, เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล และหากเสียชีวิตก็จะได้ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์, เงินบำเหน็จตกทอด, การขอพระราชทานเพลิงศพ, น้ำหลวงอาบศพ เป็นต้น
มาเจาะดูในส่วนของเงินที่ชาวเกษียณจะได้รับ หลักๆเลยจะเป็นเงินบำเหน็จ เงินบำนาญ แบบไม่ได้เป็นสมาชิก กบข.(กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) สรุปง่ายๆ คือ
 
บำเหน็จ (รับก้อนเดียว) = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x  อายุราชการ เช่น เงินเดือนเดือนสุดท้าย 50,000 บาท อายุราชการ 35 ปี จะได้รับบำเหน็จ 1,750,000 บาท
 
บำนาญ (รับรายเดือนไปจนกว่าจะเสียชีวิต) = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการ ÷ 50 เช่น เงินเดือนเดือนสุดท้าย 50,000 บาท อายุราชการ 35 ปี นํามาคํานวณได้ (50,000 x 35) ÷ 50 = 35,000 บาทต่อเดือน 
 
แต่หากเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่ต้องส่งเงินสะสมทุกเดือนในอัตรา 3% ของเงินเดือน และรัฐบาลจะสมทบให้อีก 3% เหมือนเป็นการออมเงินที่ช่วยให้ข้าราชการมีเงินออมก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่งไว้ใช้ในยามเกษียณ นอกเหนือจากเงินบำเหน็จ บำนาญ ซึ่งการคิดเงินบำเหน็จ บำนาญ ของสมาชิก กบข.จะมีดังนี้
 
บำเหน็จ คิดจากฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x อายุราชการ เช่น ทำงานมา 35 ปี เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายอยู่ที่ 30,000 บาท ก็เอา 30,000 X 35 ก็จะได้เงินบำเหน็จ 1,050,000 บาท
 
ส่วนบำนาญ คิดจากฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x อายุราชการ ÷ 50 เช่น อายุราชการ 35 ปี เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือน สุดท้ายอยู่ที่ 30,000 บาท ก็เอา (30,000 x 35) ÷ 50 = 21,000 บาทต่อเดือน
 
แต่นอกจากบำเหน็จ บำนาญ แล้ว สมาชิก กบข.จะได้รับเงินก้อนจากกองทุนที่ออมไว้อีกด้วย ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน นับแต่เกษียณอายุ ประกอบด้วย
- เงินสะสม หรือเงินออมที่ถูกหักจากเงินเดือนทุกเดือน
- เงินสมทบที่รัฐให้
- เงินประเดิม และเงินชดเชยเพื่อไม่ให้ผู้เป็นสมาชิก กบข. เสียเปรียบคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกโดยจะมอบให้ผู้ที่เลือกรับบำนาญเท่านั้น คนที่เลือกรับบำเหน็จจะไม่ได้ 
 
ดูในส่วนของข้าราชการไปแล้ว มาต่อกันที่มนุษย์เงินเดือนสายเอกชน ที่เป็นผู้ประกันตนของประกันสังคมกันบ้าง โดยเงินที่ส่งกันทุกเดือนจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล ประกันว่างงาน และเงินชราภาพ โดยหากเราจ่ายเงินสมทบในอัตราสูงสุดที่ 750 บาทต่อเดือน ก็จะถูกหักเงินเข้ามาเป็นเงินออมชราภาพ จำนวน 450 บาท
 
หากเข้าสู่วัยเกษียณ โดยต้องมีอายุ 55 ปีก่อน หรือถ้าอายุ 55 ปีแล้วยังทำงานอยู่ ก็จะเบิกได้ หรือสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน แต่คุณต้องเป็นผู้ส่งเงินเข้ากองทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี (180 เดือน) ซึ่งสำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ก็จะมีเงินบำเหน็จ บำนาญ เช่นกัน 
 
มาดูในส่วนของบำนาญกันก่อน
-กรณีจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีสิทธิได้รับเงินชราภาพเป็นรายเดือนในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ฐานเงินเดือนสูงสุดที่คิดคือ 15,000 บาท)
-กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะได้เงินชราภาพเป็นรายเดือนในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย พร้อมเงิน 1.5% ระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน
 
ตัวอย่าง ได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท และส่งเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเงินชราภาพเท่าไรนั้น คำนวณได้ดังนี้
 
15 ปีแรก ได้อัตราเงินบำนาญ 20%
5 ปีหลัง ได้อัตราเงินบำนาญ (1.5% × 5 ปี) = 7.5%
รวม 20 ปี = 20% + 7.5% = 27.5%
เราจะได้รับเงินบำนาญรายเดือน = 15,000 x 27.5% = 4,125 บาท/เดือน จนกว่าจะเสียชีวิต
 
ในส่วนของเงินบำเหน็จชราภาพ ถ้าเลือกรับแบบนี้ ก็จะได้เงินก้อนไปเลย ซึ่งมี 3 ส่วนคือ เงินสมทบของผู้ประกันตน+เงินสมทบจากนายจ้าง+ผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งแต่ละคนจะได้ไม่เท่ากัน ต้องไปคำนวณในเว็บไซต์ของประกันสังคม www.sso.go.th ซึ่งการจะเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญ ต้องขึ้นอยู่กับเหตุผลของแต่ละคน และเปรียบเทียบถึงความคุ้มค่าที่ได้รับ 
นอกจากนี้ยังมีเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่รัฐบาลมอบให้ทุกเดือน เป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ ดังนี้
- อายุ 60-69 ปี ได้รับเงิน 600 บาท/เดือน
- อายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาท/เดือน
- อายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาท/เดือน
- อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท/เดือน
ซึ่งจากเงินที่กล่าวมา เป็นเพียงสิทธิพื้นฐานที่คนทำงานจะได้รับ ในบางบริษัทอาจมี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และบางคนเลือกที่จะเก็บออมส่วนตัว เช่น การทำประกันชีวิต, การลงทุนในกองทุนต่างๆ เพื่อวางแผนเกษียณอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข ไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน และไม่เป็นภาระกับลูกหลาน 
 
ชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/uzxnj0OEK9U