กลายเป็นความโกลาหลเมื่อหลายคนถูกยกเลิกสัญญาให้บริการสิทธิ์บัตรทองในคลินิกและโรงพยาบาลนับร้อยแห่ง หลังจากมีการร้องเรียนว่า มีคลินิกทุจริตบัตรทอง ขณะที่ ล็อตแรกมีการตรวจสอบไปแล้ว 18 แห่ง และล็อตที่ 2 จำนวน 64 แห่ง รวมขณะนี้ 3 ล็อตตรวจสอบพบทุจริตแล้ว 188 แห่ง โดยมีผู้ถือบัตรทองได้รับผลกระทบกว่า 1 ล้านคน
โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น อีก 76 จังหวัดไม่ต้องกังวล ยังใช้บริการสิทธิบัตรทองได้เช่นเดิม
ทั้งนี้ หลายคนไม่ทราบว่าสถานพยาบาลที่เก่าใช้สิทธิ์ไม่ได้แล้ว ก็ไม่รู้จะไปใช้ได้ที่ไหน ต้องให้ไปหาที่ใหม่ ต้องให้ลูกหลานช่วยกันหาข้อมูล และมีกระบวนการขั้นตอนที่ต้องดำเนินการค่อนข้างยุ่งยากเสียเวลา วันนี้เราจะมาไล่เรียงปัญหาที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขในเรื่องนี้กัน
ที่มาที่ไปโกงบัตรทอง
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ตรวจพบว่า คลินิกและโรงพยาบาล มีการทุจริตภายในหลายแห่งในพื้นที่ กทม. รูปแบบการทุจริต เช่น
- การสวมสิทธิ์ แอบอ้างชื่อว่ามาตรวจรักษา นำเลขบัตรประชาชนเข้าไปกรอกในระบบเพื่อนำไปเบิกจ่ายกับ สปสช.
- ปลอมแปลงใบแล็บ หรือเอกสารผลการตรวจ โดยไม่มีผู้ป่วยไปตรวจจริง
- การแก้ไข ปรับเปลี่ยนข้อมูลผู้ป่วย น้ำหนัก ความดัน เพื่อให้เข้าเกณฑ์ตรวจโรคกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน และความดัน เพื่อสามาถเบิกจ่ายค่าตรวจคัดกรองได้รายละ 400 บาท
- การตกแต่งตัวเลขค่าทำทันตกรรมเกินจริง เช่น อุดฟัน 1 ซี่ แต่เบิกว่าอุดฟัน 4 ซี่ เป็นต้น
ซึ่งกลโกงของสถานพยาบาลทั้งเอกชนและของรัฐที่ทุจริตเหล่านี้ สร้างความเสียหายให้ สปสช.195 ล้านบาท ทำให้ทาง สปสช.ต้องยกเลิกสัญญาและดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง
ปัญหาที่ตามมา
- ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ ต้องลงทะเบียนย้ายสิทธิ์ไปสถานพยาบาลใหม่ ซึ่งหลายคนไม่ทราบรายละเอียดว่าต้องดำเนินการอย่างไร มีภาพชาวบ้านไปรอต่อคิวจนล้นพยาบาล จากเดิมที่คนเยอะอยู่แล้ว พอเกิดปัญหานี้ขึ้นก็ยิ่งเยอะเข้าไปใหญ่
- บางคนต้องกลับไปเอาประวัติการรักษาที่สถานพยาบาลแห่งเดิม แต่ต้องเสียเงินค่าดำเนินการเอาประวัติรายละ 150 บาท บางรายก็ 300 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงสำหรับชาวบ้าน
ซึ่งทาง สปสช. ยืนยันว่าการย้ายสิทธิ์ไม่จำเป็นต้องขอประวัติจากที่เดิม แต่หากการรักษาจำเป็นต้องใช้ประวัติ ก็ให้ผู้ป่วยเซ็นเอกสารยินยอม ทางสถานพยาบาลใหม่ก็สามารถดึงประวัติจาก สปสช.ได้เลย
เปิดวิธีตรวจสอบสิทธิ์และย้ายสิทธิ์ มีด้วยกัน 5 ช่องทาง
1.ไปติดต่อด้วยตนเองได้ที่สำนักงานเขต กทม. (19 เขต)/ สปสช. เขตพื้นที่ 1-13 / โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล/ โรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งวิธีนี้จะต้องเสียเวลารอคิวอย่างมาก เพราะจะมีคนไปติดต่อกันเยอะทีเดียว และต้องเตรียมเอกสารให้พร้อมทั้งสำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, แบบคำร้องขอเปลี่ยนหน่วยบริการ
แต่ในส่วนผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยร้ายแรง ผู้มีโรคประจำตัวต้องได้รับยาต่อเนื่อง คนต้องฟอกไต และหญิงตั้งครรภ์ ที่ไม่สะดวกในการเดินทางและการยื่นเรื่อง ก็สามารถกระทำได้ในช่องทางที่สะดวกยิ่งขึ้น ได้แก่
2.โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 2 ตามด้วยหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และเครื่องหมาย #
3.ผ่านแอปพลิเคชั่น สปสช. สามารถดาวน์โหลดฟรี ได้ทั้งระบบ Andriod และ IOS
4.LINE Official Account สปสช. - แอดเป็นเพื่อนง่าย ๆ พิมพ์ค้นหา Line ID @nhso จากนั้นเลือกเปลี่ยนหน่วยบริการ
5.เว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th (เข้าเมนูประชาชน เลือกหัวข้อ ตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)
ย้ำกันอีกทีว่า สิทธิการรักษาของเราไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ย้ายสถานพยาบาล และปัญหานี้มีแค่ใน กทม. ไม่กระทบพื้นที่ต่างจังหวัด