ดาวรีวิว 'ศรีพันวา' ลดฮวบ เซ่นปม 'ปลาวาฬ' - ปูดประเด็น 'ประกันสังคม' ถือหุ้นใหญ่ ตอบข้อกังขาลงทุนได้ไหม?
logo รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน

ดาวรีวิว 'ศรีพันวา' ลดฮวบ เซ่นปม 'ปลาวาฬ' - ปูดประเด็น 'ประกันสังคม' ถือหุ้นใหญ่ ตอบข้อกังขาลงทุนได้ไหม?

รอดไปด้วยกัน เศรษฐกิจชาวบ้าน : กลายเป็นประเด็นดราม่าที่ชาวเน็ตกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก สำหรับกรณีที่ชาวเน็ตแห่ติดแฮชแท็ก #แบนศรีพันวา เนื่องจ รอดไปด้วยกันเศรษฐกิจชาวบ้าน,ทิน โชคกมลกิจ,รอดไปด้วยกัน,ข่าวเศรษฐกิจ,ศรีพันวา,ปลาวาฬ,ประกันสังคม,หุ้น

1,001 ครั้ง
|
23 ก.ย. 2563
กลายเป็นประเด็นดราม่าที่ชาวเน็ตกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก สำหรับกรณีที่ชาวเน็ตแห่ติดแฮชแท็ก #แบนศรีพันวา เนื่องจาก ปลาวาฬ-วรสิทธิ อิสสระ ผู้บริหารพูลวิลล่าสุดหรู ใน จ.ภูเก็ตแห่งนี้ ได้ทำการวิจารณ์แกนนำในการชุมนุมใหญ่ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. อย่างดุเดือด
 
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ย. พบว่า โรงแรมศรีพันวา ถูกคนเข้าไปกดลดดาวในกูเกิล พร้อมคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์ทัศนคติของผู้บริหาร และมีการคอมเมนต์ถึงการบริการของโรงแรมอีกมากมาย โดยพบว่าดาวของทางโรงแรมเหลือเพียง 1.9 จากเดิมที่เคยสูงถึง 5 ดาวอีกด้วย
 
จากกรณีที่มีชาวเน็ตเข้าไปรีวิวโรงแรมศรีพันวาในทางลบ โดยที่ไม่ได้เข้าพักจริงนั้น ในเรื่องนี้ ทนายรณรงค์ แก้วเพชร ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม บอกกับทีมงานของเราว่า หากจะดูว่า มีความผิดหรือไม่ จะต้องดูข้อความที่ใช้ในการรีวิวว่า ข้อความนั้นๆ เข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือไม่ โดยข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท  เช่น ไอ้นี่มันขี้โกง มันชอบไปโกงเงินคนอื่น, มึงอะไปเป็นชู้เขา แม้จะเป็นเรื่องจริงแต่ก็ถือว่าผิด เพราะทำให้เกิดความเสียหาย โดยจะผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
 
แต่ถ้าข้อความนั้นๆ ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อธุรกิจ และเจ้าของโรงแรมตรวจสอบแล้วว่า คนที่เข้ามารีวิวในทางเสื่อมเสียคนนั้นๆ ไม่ได้มาเข้าพักจริงๆ ทางโรงแรมสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้ 
 
ส่วนค่าเสียหายจะอยู่ที่เท่าไหร่นั้น ก็จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อาทิ มูลค่าของโรงแรมที่เสื่อมเสียชื่อเสียง จากคำรีวิว ซึ่งในส่วนนี้ก็จะต้องไปว่ากันในชั้นศาล แต่ว่าหากคุณเข้าพักจริงก็จะไม่มีความผิด เนื่องจากเราได้เข้ารับการบริการ และเป็นการรีวิวโดยประสบการณ์ตรงของเรานั่นเอง
ขณะที่ โลกทวิตเตอร์ได้มีการรีทวีตข้อความหนึ่งอย่างกว้างขวาง ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นข้อความของ เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่พูดถึงโรมแรมสุดหรูอย่าง "ศรีพันวา" 
 
เมื่อมีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งถามว่า ขออนุญาตถามได้ไหมคะ ว่าคุณเศรษฐามีความเห็นกรณี "ศรีพันวา" อย่างไรบ้าง ซึ่งต่อมา เจ้าตัวก็ตอบข้อความด้วยตัวเองว่า
 
ไม่เคยไปครับ ไม่คิดจะไปด้วย ถึงแม้ดูในรูปก็ดูสวยเพราะความลาดชันของภูเขา ถ้าจะไปอย่างหรูที่ภูเก็ตก็ต้อง อมันปุรีครับ เขาต้อนรับทุกคนเท่าเทียมกันครับ ดาราระดับโลก หรือ ธรรมดาอย่างผมก็ได้รับการดูแลเท่าเทียมกันครับ ไม่ไกลมากจากสนามบิน อยู่ฝั่งอันดามันด้วย
 
ซึ่งในช่วงหลายวันที่ผ่านมา โลกออนไลน์ได้มีการเปิดเผยข้อมูลว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ “ศรีพันวา” คือ สำนักงานประกันสังคม มีจำนวนหุ้นทั้งหมด 63,072,615 หุ้น หรือคิดเป็น 22.60% 
 
ในส่วนที่ผู้บริหารของศรีพันวาไปว่า ไปตำหนิแกนนำม็อบ ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ที่จริงเป็นสิทธิของทั้งสองฝ่ายที่ทำได้ แต่ที่สังคมให้ความสนใจ คือ เรื่องผู้ถือหุ้นของธุรกิจดังกล่าว ถ้าดูตามรายนามผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นใหญ่ของกิจการคือ กองทุนประกันสังคม ถามว่า กองทุนประกันสังคมจะไปลงทุนที่ไหน ไปลงทุนกับกิจการลักษณะนี้ได้ไหม 
 
คำตอบคือได้ ไม่มีข้อห้ามตามกฎหมาย แต่คำถามที่สำคัญกว่า คือ ประกันสังคมใช้อะไรเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนกับกิจการไหน และ ใครเป็นคนตัดสินใจลงทุน
 
ล่าสุด นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงในเรื่องนี้ว่า สำนักงานประกันสังคมได้ถือหน่วยในทรัสต์เพื่อการลงทุน ในอสังหาริมทรัพย์โรงแรมศรีพัน ซึ่งการลงทุนดังกล่าว จัดเป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานประกันสังคมได้มีการลงทุน ในหน่วยลงทุนต่างๆ 
 
ทั้งนี้ ในการลงทุนสำนักงานประกันสังคมมีการวิเคราะห์ถึงผลตอบแทน ความสามารถ ในการจัดหารายได้จากทรัพย์สิน สภาวะอุตสาหกรรม ทิศทางธุรกิจ และกลยุทธ์การลงทุน ตลอดจนความเสี่ยงที่ได้รับจากการลงทุน 
 
โดยผู้จัดการกองทุนและนักวิเคราะห์การลงทุน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การลงทุนของสำนักงานอย่างเคร่งครัด โดยคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) มิได้มีส่วนในการตัดสินใจในลงทุนรายหลักทรัพย์แต่อย่างใด เนื่องจากมีหน้าที่ในการ ออกระเบียบ หลักเกณฑ์การลงทุนและกำกับดูแลเท่านั้น
          
สำนักงานประกันสังคมมีการลงทุนในกองทรัสต์ SRIPANWA ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุนในปี 2556 มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 6% และได้รับเงินปันผลจากการลงทุนแล้ว จำนวน 229 ล้านบาท และตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนสิงหาคม 2563 กองทุนประกันสังคมมีการลงทุน และมีผลตอบแทนที่รับรู้แล้วจำนวนกว่า 33,000 ล้านบาท ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม จึงขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจ และวางใจในการวิเคราะห์ และระมัดระวังของสำนักงานประกันสังคม ในการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุน
 
ชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/kUbKrixofbo