“HEALTHCARE 2020” ที่สุดแห่งงานแฟร์สุขภาพ 4 สถาบันชั้นนำระดับชาติ ร่วมโชว์นวัตกรรมความก้าวหน้าทางการแพทย์
logo TERO HOT SCOOP

“HEALTHCARE 2020” ที่สุดแห่งงานแฟร์สุขภาพ 4 สถาบันชั้นนำระดับชาติ ร่วมโชว์นวัตกรรมความก้าวหน้าทางการแพทย์

6,003 ครั้ง
|
02 ก.ย. 2563

           ใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว กับ “HEALTHCARE 2020 สุขภาพดี วิถีใหม่ ใจชนะ” งานแฟร์สุขภาพอันดับ 1 ของประเทศ ที่คนรักสุขภาพต้องห้ามพลาด งานเดียวจบครบเรื่องสุขภาพ ทั้งการตรวจรักษาฟรี ฉีดวัคซีนฟรี เวทีเสวนา ช้อปสินค้า OTOP เพื่อสุขภาพ เวิร์กชอปสุดคูล และไฮไลท์พิเศษ “การจัดแสดงนวัตกรรมทางการแพทย์ จาก 4 สถาบันชั้นนำระดับประเทศ” เพื่อรองรับการใช้ชีวิตของประชาชนบนความปกติใหม่ ซึ่งทุกสถาบันพร้อมจัดเต็ม ให้ประชาชนได้สัมผัสนวัตกรรมทุกชิ้นกันอย่างใกล้ชิด

 

สร้างความมั่นคงทางสุขภาพ

                “ความมั่นคงทางสุขภาพ” เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสุขภาพและการแพทย์ในประเทศไทยให้ยั่งยืน เพราะจะทำให้คนไทยรับมือได้กับทุกโรคที่เกิดขึ้น รวมถึงโรคอุบัติใหม่ด้วย

                งานในครั้งนี้ ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมโชว์นวัตกรรมในธีม “CU Innovation” หุ่นยนต์ทางการแพทย์ และนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วย

 

 

  • - CU-RoboCovid

                หุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ที่ช่วยลดการสัมผัสผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่ายของชุด PPE และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ผลงานจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Mi Workspace, HG Robotics และ Obodroid ที่มุ่งพัฒนาหุ่นยนต์ราคาถูก และผลิตได้เร็ว ทันต่อความต้องการใช้งาน โดยใช้วัสดุที่หาได้ภายในประเทศ ประกอบไปด้วย “ปิ่นโต” หุ่นยนต์ส่งของ และเวชภัณฑ์แบบแมนนวล และ “กระจก” หุ่นยนต์สื่อสารทางไกลในรูปแบบแท็บเล็ต ผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งตัวเครื่องทำจากวัสดุ Military Grade สามารถใช้แอลกอฮอล์เช็ดล้างได้ กันน้ำ กันกระแทกได้

 

  • - Chula COVID-19 Strip Test

                นวัตกรรมมที่บ่มเพาะโดย CU innovation hub จนเกิดเป็น บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพสายไบโอเทคสัญชาติไทย ที่คิดค้นชุดตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นสำหรับหาเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยใช้เทคโนโลยี “Molecular pharming” ผลิตโปรตีนจากใบยาสูบเพื่อเป็นยา วัคซีน และโปรตีนส่วนหนึ่งของไวรัสเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบของชุดตรวจภูมิคุ้มกันของโควิด-19 ที่ใช้จับกับแอนติบอดีในเลือดของผู้ป่วย ถ้าหากผู้เข้ารับการตรวจติดเชื้อไวรัส เมื่อหยดเลือดและใส่สารละลายบัฟเฟอร์ลงไป เครื่องมือจะแสดงผลเป็นสีชมพูอ่อน ตามหลักการเดียวกับอุปกรณ์ตรวจการตั้งครรภ์

 

 

  • - Mask Shield Plus

                สเปรย์เพิ่มประสิทธิภาพหน้ากากผ้า นวัตกรรมจากความร่วมมือของสตาร์ทอัพ บริษัท แนบโซลูท จำกัด ภายใต้ CU innovation hub จุดประสงค์เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยในห้องปฏิบัติการให้ออกสู่สังคม สร้างประโยชน์ในวงกว้าง และแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขไทย เช่น ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ให้ประชาชนสามารถหันมาใช้หน้ากากได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยลดปริมาณขยะจากการใช้หน้ากากอนามัยแบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งเป็นขยะติดเชื้อที่มีค่าใช้จ่ายในการจัดการสูง และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากขยะ เป็นต้น โดยนำคุณสมบัติที่แตกต่างกันของพอลิเมอร์มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการกรอง ซึ่งพอลิเมอร์จะเข้าไปเป็นโครงสร้างที่ประสานตัวในรูเปิดของเส้นใยผ้า ทำให้ขนาดรูเปิดของเส้นใยมีขนาดที่เล็กลง ปรับสมดุลประจุบริเวณพื้นผิวของหน้ากากผ้าให้มีประจุเดียวกันกับประจุของไวรัสและฝุ่น ช่วยป้องกันการเกาะของฝุ่นได้ดีขึ้น 142% และกรองไวรัส หรืออนุภาคขนาด 0.3 ไมครอนได้ดีขึ้นถึง 83% ปัจจุบันได้ร่วมกับ บริษัท แจ๊กเจียอุตสาหกรรม (ไทย) จำกัด (มหาชน) ออกจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้า Tigerplast MaskShield+

 

  • - NINJA ROBOT

                หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์ Regional Center of Robotic Technology เดิมมีจุดประสงค์แรกเริ่มคือรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางศูนย์ฯ ได้นำหุ่นยนต์บางส่วนมาใช้ในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสในโรงพยาบาลต่าง ๆ ด้วย เช่น ใช้ในการสื่อสารทางไกลระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อไวรัส ใช้ตรวจวัด บันทึกสุขภาพ และประเมินสุขภาพเบื้องต้น โดยมีอุปกรณ์วัดสัญญาณชีพ ความดันโลหิต อุณหภูมิร่างกาย คลื่นหัวใจ และออกซิเจนในเลือด ติดกับหุ่นยนต์ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งเก็บไว้ในระบบคลาวด์ ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น

 

  • - AUTONOMOUS ROBOTS

                นวัตกรรมจากศูนย์ Regional Center of Robotic Technology เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยเป็นหุ่นยนต์ฟื้นฟูการใช้กล้ามเนื้อและข้อต่อของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง ผ่านระบบเกมและโปรแกรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ช่วยให้ผู้ป่วยไม่เบื่อหน่าย และสนุกกับการรักษา โดยผู้เข้าร่วมงานสามารถทดลองใช้หุ่นยนต์นี้ได้ด้วย

                ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ ตัวแทนจากทีมนวัตกรรมที่มาร่วมงานในครั้งนี้ กล่าวว่า “พร้อมที่จะนำนวัตกรรมทั้งหมดไปโชว์ในงาน HEALTHCARE 2020 โดยคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและผู้ที่สนใจ ในการเป็นแหล่งเรียนรู้และร่วมสร้างความมั่งคงทางสุขภาพ”

 

การแพทย์ 5G ในเมืองมหิดล

 

                ปีนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ร่วมโชว์นวัตกรรมการแพทย์ยุค 5G เพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้คนในสังคม เป็นต้นแบบให้สังคมในการเรียนรู้และรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต โดย รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอความก้าวหน้าทางการแพทย์ และร่วมกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ของเมืองมหิดล ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ศูนย์การแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลงานที่นำมาโชว์ภายในงาน ดังนี้

 

  • - การให้บริการพบแพทย์ออนไลน์ (Telemedicine)  

                การให้บริการที่ผู้ป่วยสามารถพูดคุยกับบุคลากรทางการแพทย์ผ่านจอโทรศัพท์ หรือแท็บเล็ตได้ด้วยแอปพลิเคชัน “Siriraj connects” เพื่อตรวจสอบสิทธิ์การรักษา หรือปรึกษาปัญหาสุขภาพ ตลอดจนสอบถามการใช้ยากับเภสัชกรได้

 

 

  • - รถอัจฉริยะไร้คนขับ

                นับเป็นนวัตกรรมสำหรับยุค 5G ที่ทางโรงพยาบาลนำมาใช้ในการขนเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ลดการสัมผัส และช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยพร้อมจะมาเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของงานนี้

                ในขณะเดียวกัน ทางโรงพยาบาลรามาธิบดี ก็จะนำหุ่นยนต์อัจฉริยะผู้ช่วยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ มาแสดงการทำงานจริงให้เห็นในงานนี้เช่นกัน ประกอบด้วย

 

  • - หุ่นยนต์การแพทย์ CISTEMS

               หุ่นยนต์ที่เกิดจากปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันทั้งสำหรับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา มีบทบาทหลัก คือ ช่วยลำเลียงอุปกรณ์ อาหาร และช่วยเป็นตัวกลางในการติดต่อสื่อสารระยะไกลผ่านระบบ IoT ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย

 

 

                รศ.นท.ดร.นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ผลิตหุ่นยนต์การแพทย์ CISTEMS กล่าวเพิ่มเติมว่า CISTEMS เป็นการเชื่อมโยงสหสาขาวิชาระหว่างสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์และสาขาวิชาแพทยศาสตร์ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาการวินิจฉัย การรักษา การฟื้นฟูบำบัดผู้ป่วย รวมทั้งอำนวยความสะดวก ปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญของวงการแพทย์ไทย

 

นวัตกรรมตอบโจทย์วิถีนิว นอร์มอล

 

                การที่ประชาชนจะก้าวไปสู่วิถีในความปกติใหม่ หรือ นิว นอร์มอล (New Normal) ได้อย่างสมบูรณ์ หลายภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ด้วย ซึ่งงาน HEALTHCARE ก็ไม่พลาดที่จะมีนวัตกรรมเหล่านี้มาโชว์ในงาน โดยได้รับความร่วมมือจาก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ที่เตรียมนำผลงานวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพหลากหลายรูปแบบมาจัดแสดง เพื่อร่วมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น อาทิ

 

  • - เทเลแคร์ (Tele Care)

                อุปกรณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยในการสื่อสารทั้งภาพวิดีโอ และเสียงแบบทางไกล ให้เป็นไปได้อย่างสะดวก ชัดเจน รวมถึงเป็นอุปกรณ์ในการช่วยวินิจฉัยโรคได้ ทำงานโดยใช้กล้องวิดีโอ 2 ตัว ส่งภาพและเสียงไปพร้อม ๆ กัน ผ่านอินเทอร์เน็ต ทางโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ โดยกล้องตัวแรกจะติดตั้งด้านหน้าของเทเลแคร์ ส่วนอีกตัวจะติดตั้งอยู่บน Handheld พร้อมกับไมโครโฟนคุณภาพสูงและชุดปรับภาพวิดีโอเป็นอินฟราเรดสำหรับการวินิจฉัยโรคที่สามารถยกเคลื่อนที่ได้ ผู้ใช้งานทั้ง 2 ฝั่ง สามารถมองเห็นกันได้ อีกทั้งยังสามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ต้องการคุณภาพเสียงที่ดีในการสื่อสารหรือไม่ถนัดการใช้งานโทรศัพท์มือถือให้สามารถติดต่อผู้อื่นได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

 

  • - 3D Sole แผ่นรองในรองเท้าเฉพาะบุคคลด้วยระบบคอมพิวเตอร์

                 นวัตกรรมที่จะช่วยให้การเดินสบายขึ้น ด้วยการออกแบบสูตรพอลิเมอร์เป็นแผ่นรองรองเท้าแบบเฉพาะเจาะจงกับสรีระเท้าของแต่ละบุคคล ด้วยเทคนิค 3D Printing (FDM) ที่ช่วยเพิ่มพื้นที่สัมผัสของเท้ามากยิ่งขึ้น โดยวัสดุที่พัฒนาขึ้นมีความแข็งแรงและเหนียว สามารถรองรับน้ำหนักตัวและพยุงอุ้งเท้าได้ดี ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ผิวหนัง มีความบาง และถอดเปลี่ยนได้ ซึ่งขั้นตอนการผลิตประกอบไปด้วยการเก็บข้อมูลรูปเท้าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (3D Scan) การออกแบบรูปเท้าเฉพาะบุคคลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (3D Design) และขึ้นรูปด้วยวัสดุที่พัฒนาขึ้นโดยใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printing)

 

  • - M-Wheel

                อุปกรณ์พ่วงต่อเปลี่ยนรถเข็นธรรมดาให้เป็นรถเข็นไฟฟ้า ที่ผ่านการประเมินผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ทางไฟฟ้า การป้องกันสัญญาณรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า รวมทั้งผ่านการประเมินความเสี่ยงของอุปกรณ์การแพทย์ โดย M-Wheel ประกอบไปด้วยชุดควบคุมการเคลื่อนที่ (ซ้าย-ขวา) ชุดขับเคลื่อน (มอเตอร์ 2 ตัว) ชุดแหล่งพลังงาน (แบตเตอรี่) ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้รถเข็นทั่วไปไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือเป็นผู้พิการที่มีร่างกายท่อนบนที่ดี ให้มีความอิสระและดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานได้ดีขึ้น

 

 

  • - ต้นแบบเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบความดันลบ

                อุปกรณ์กักกันเชื้อสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีการควบคุมการไหลของอากาศ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ ลดการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค

 

                บัญชา ธนบุญสมบัติ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่เทคโนโลยี เอ็มเทค เปิดเผยว่า ทั้งหมดนี้เป็นนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพที่เอ็มเทคได้คิดค้น และพัฒนาขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ทั้งในด้านอุตสาหกรรมและชุมชน โดยยึดหลัก Human-centric Design หรือความต้องการของผู้ใช้งาน จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมงาน HEALTHCARE 2020

 

            ทั้งหมดนี้คือนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่น่าสนใจจากสถาบันชั้นนำระดับประเทศ ผู้สนใจสามารถมาชมและสัมผัสได้ด้วยตนเองอย่างเต็มอิ่มจุใจตลอด 4 วัน ในงาน “HEALTHCARE 2020 สุขภาพดี วิถีใหม่ ใจชนะ” 3 - 6 กันยายน 2563 ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ เวลา 10.00 – 20.00 น. งานนี้เดินทางง่าย สะดวกสบาย ด้วยทางด่วน และรถไฟฟ้า MRT สถานีสามย่าน ทางออกที่ 2