ในวิกฤตเศรษฐกิจยุคโควิด-19 ทำเอาหลายคนกุมขมับ บางคนโดนลดเงินเดือน โดนไล่ออกจากงาน หรือธุรกิจส่วนตัวไปต่อไม่ไหว ต้องปิดตัวลง แต่ก็ยังมีรถที่เป็นภาระต้องผ่อน สวนทางกับภาวะการเงินที่ช็อตหนัก เจอทางตันไม่สามารถส่งค่างวดรถต่อได้ วันนี้เรารวมวิธีแก้ปัญหา หาทางออกให้คุณรอดไปด้วยกันแบบไม่ต้องถูกยึดรถ
เริ่มจากทางออกใกล้ตัว
-ประกาศขายต่อ
บางทีก็ต้องยอมขาดทุน เพื่อเอาตัวรอด เมื่อขายได้ก็ต้องเปลี่ยนสัญญา และรอให้ไฟแนนซ์อนุมัติเงินกู้ให้กับผู้ซื้อรถรายใหม่ แล้วเราจึงจะได้เงินก้อน ซึ่งคุณก็อาจเอาเงินก้อนนั้น ไปทำประโยชอื่นๆ
-ยกรถให้คนอื่นผ่อนต่อ
เหมือนที่เราเคยเห็นในข่าว เจ้าของรถตู้ที่เกาะสมุย เจอพิษโควิดจนผ่อนรถตู้ที่มีอยู่ 9 คันต่อไม่ไหว ประกาศยกรถให้คนที่สนใจแบบฟรีๆ ไม่ต้องดาวน์ แล้วไปผ่อนต่อเอาเอง แต่มีข้อแม้ว่าต้องเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อที่บริษัทไฟแนนซ์ให้เรียบร้อย ซึ่งเจ้าของยอมใช้วิธีนี้ เพื่อเอาตัวรอด เพราะถ้ามีคนเอารถไปหมดแล้ว แต่เครดิตกับศูนย์รถหรือไฟแนนซ์ยังอยู่ ไม่สียประวัติทางการเงิน ไม่ติดเครดิตบูโร ในอนาคตหากมีรายได้กลับมา ก็ยังไปซื้อใหม่ได้
วิธีต่อมาคือการรีไฟแนนซ์รถหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่
อธิบายง่ายๆ คือการกู้ยืมสินเชื่อก้อนใหม่ไปโปะก้อนเก่า แล้วเราก็ย้ายไปผ่อนในแบบที่คุ้มค่ากว่า คล้ายกับการเปลี่ยนโปรหรือย้ายค่ายมือถือ โดยเราจะกู้จากเจ้าหนี้รายเดิมหรือรายใหม่ก็ได้ โดยต้องคำนวณส่วนต่างและดอกเบี้ย ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะบางคนอาจจะได้เงินก้อนที่เป็นส่วนต่างมาใช้ด้วย
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีข้อจำกัด เพราะถ้าเรายังผ่อนรถไม่ถึงครึ่งทางของค่างวด เช่น ต้องผ่อน 60 งวด แต่ผ่อนไปเพียง 20 งวด อาจจะไม่ผ่านการพิจารณารีไฟแนนซ์ หรือหากเรามีประวัติการผ่อนที่ไม่ดีหรือค้างชำระ ก็อาจไม่ได้สิทธิ์ขอรีไฟแนนซ์
สำหรับข้อเสียของการรีไฟแนนซ์ หากเราต้องการเงินด่วนมากๆ ต้องการให้มีการอนุมัติสินเชื่อนำรถมาแลกเงินได้ไวสุด ก็ต้องแลกกับดอกเบี้ยที่อาจจะสูง
เช่นเดียวกับการยืดเวลาการผ่อนนานขึ้น ก็ต้องแลกกับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ บางรายอาจต้องเสียเบี้ยปรับให้สินเชื่อเจ้าเดิม และมีความยุ่งยากในการเตรียมเอกสาร
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเลือกวิธีไหน สิ่งสำคัญที่สุดคือการศึกษารายละเอียดต่างๆให้ดี และคำนึงถึงความคุ้มค่า รวมทั้งปรึกษาสถาบันการเงิน เพื่อประโยชน์สูงสุด และช่วยบริหารจัดการเงินในกระเป๋าไม่ให้มีรายจ่ายที่ตึงเกินไป ให้เราได้รอดไปด้วยกันในช่วงวิกฤตนี้
+ อ่านเพิ่มเติม