GC ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ พลิกวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาส สร้างเทรนด์รักษ์โลกแบบทันสมัย พร้อมด้วย สมาร์ท ออฟฟิศ เสริมประสิทธิภาพการทำงานให้พนักงาน
logo TERO HOT SCOOP

GC ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ พลิกวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาส สร้างเทรนด์รักษ์โลกแบบทันสมัย พร้อมด้วย สมาร์ท ออฟฟิศ เสริมประสิทธิภาพการทำงานให้พนักงาน

1,921 ครั้ง
|
18 ส.ค. 2563

             ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า GC จัดเตรียมมาตรการสำคัญและปรับกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงที่โลกยังเผชิญวิกฤตโควิด-19 รวมถึงราคาน้ำมัน และสงครามทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับบริษัทฯ โดย GC ยึดหลัก 4 มาตรการสำคัญ คือ

 

 

1. ความปลอดภัยของพนักงาน GC ยึดหลักความปลอดภัยของพนักงานทั้งที่ประจำโรงงานและที่ประจำสำนักงานกรุงเทพฯ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยให้พนักงานรักษาระยะห่างทางสังคม ( Physical Distancing) ด้วยการทำงานแบบ Work from Home อย่างน้อย 2 ใน 3 ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่า การทำงานยังคงมีประสิทธิภาพเช่นเดิม และ GC จะใช้นโยบายนี้ต่อไป ถือเป็น New Normal ที่เด่นชัดที่สุด โดยได้นำแอพพลิเคชันมาใช้ในการติดตามการดำเนินชีวิตของพนักงานเพื่อพิจารณาความเสี่ยงและดูแลพนักงาน โดยปัจจุบันพนักงาน GC ทุกคนยังไม่มีใครติดเชื้อโควิด-19 แม้แต่คนเดียว และในอนาคต GC จะปรับเปลี่ยนสำนักงานให้เป็น Smart Office ที่มีความคล่องตัว ด้วยการลดพื้นที่ใช้สอยลง แต่เพิ่มฟังก์ชั่นที่เอื้อต่อการทำงานมากยิ่งขึ้น

 

2. ความต่อเนื่องทางธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)  GC ยังคงกำลังการผลิตในทุกสายการผลิตเช่นเดิม  โดยการทำให้องค์กรมีความคล่องตัวและเพิ่มความสามารถด้วยการปรับกระบวนการทำงาน เพิ่มขีดความสามารถของพนักงาน (Upskill & Reskill) และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อส่งมอบสินค้าคุณภาพให้แก่ลูกค้า โดยมีแผนการทำงานร่วมกับลูกค้า ด้วยนโยบาย เราอยู่ได้ ลูกค้าอยู่ได้

 

3. การช่วยเหลือชุมชนและสังคมโดยรวม GC  นำผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมของบริษัทฯ มาใช้ในการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์เพื่อสร้างสรรค์อุปกรณ์ทางการแพทย์ และส่งต่อให้กับบุคลากรทางการแพทย์หลากหลายชนิด เช่น เสื้อกาวน์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Disposable Gown)  หน้ากากปกป้องใบหน้า (Face Shield) หมวกสุญญากาศ ตู้โควิเคลียร์ (CoviClear) หรือ ตู้พ่นซิลเวอร์นาโนฆ่าเชื้อ หุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์ เป็นต้น

 

4. ความชัดเจนในการสื่อสาร ความโปร่งใส และ การสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders)

 

 

ปรับกลยุทธ์ 3 Steps เพื่อความยั่งยืน

GC ยังคงนำกลยุทธ์ 3 Steps ได้แก่ Step Change, Step Out และ Step Up มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยมีการทบทวนอย่างรอบคอบและปรับกลยุทธ์ในช่วงภาวะวิกฤตนี้ โดยบริษัทฯ มีแนวทาง ดังนี้

 

Step Change ทำบ้านให้แข็งแรง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ด้วย Operational Excellence และเพิ่มความยืดหยุ่นในการเลือกใช้วัตถุดิบ (Feedstock Flexibility) รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มุ่งหน้าสู่ธุรกิจ High Value Product (HVP) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และตลาดที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ามากขึ้นด้วยแนวทาง market-focused business โดยเน้นการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี เงินลงทุนไม่สูงมาก อาทิ การเข้าซื้อหุ้น ใน "Dynachisso Thai" บริษัทสัญชาติไต้หวัน เพื่อเดินหน้าธุรกิจพลาสติกวิศวกรรม พีพี คอมพาวด์ (PP Compound) เรามีเป้าหมายลงทุนในบริษัทที่พร้อมลงทุนต่อเนื่องได้ทันที มีเทคโนโลยีที่เหมาะสม

 

นอกจากนี้ ยังได้มีการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  ประกอบด้วย โครงการ Olefin Reconfiguration Project (ORP) สร้างแนฟทา แครกเกอร์ (Naphtha Cracker) โครงการโพรพิลีน ออกไซด์ (Propylene Oxide : PO) และโครงการโพลีออลส์ (Polyols)  ร่วมทุนกับบริษัทฯ ญี่ปุ่น ผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมโพลียูรีเทน (Polyurethane) อุตสาหกรรมรถยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป้าหมายเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยได้ทั้งเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นและยังได้ตลาดทั่วโลกอีกด้วย ถือเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย โดยโครงการต่าง ๆ นี้จะสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปีนี้

 

Step Out เติบโตนอกบ้าน จากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ทำให้โครงการต่าง ๆ ถูกชะลอออกไปเพื่อใช้เวลาในการทบทวนให้เกิดความรอบคอบ รวมถึงโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ (US Petrochemical Complex) ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการเจรจาต่อรองค่าก่อสร้าง รวมถึงการหาพันธมิตรใหม่ๆ นอกจากนี้ GC ยังมีแผน M&A กลุ่มธุรกิจใหม่ เพื่อต่อยอดโครงการธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Business) เช่น กลุ่มธุรกิจ High Performance Polymer & Composites และ Coating & Adhesives โดยอาศัยช่วงวิกฤตโควิด-19 ในการเจรจาเข้าซื้อในราคาที่เหมาะสม

 

Step Up  เติบโตอย่างยั่งยืน GC ยกระดับความยั่งยืนที่อยู่ในแผนธุรกิจหลัก โดยมีการกำหนดกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Strategy) และเป้าหมายชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission) จากการดำเนินงาน (Scope 1 & 2) ของบริษัทฯ ทั้งสิ้น 2 เป้าหมาย ได้แก่ 1) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% จากการดำเนินธุรกิจปกติ ภายในปี 2573 และ 2) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อตันผลิตภัณฑ์ 52%  ภายในปี 2593 ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยและสนับสนุนเป้าหมายของโลกในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ปัจจุบัน GC โฟกัสในส่วนของ Scope 3 เพื่อขยายผลการดำเนินงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้ง Supply chain ดังตัวอย่างเช่น การลดการเดินทางของพนักงาน จากนโยบาย Work from Home เป็นต้น

 

สำหรับนโยบายด้านหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ GC นำมาปรับใช้นั้น ครอบคลุม 3 ส่วนหลักในการดำเนินงานของบริษัท ได้แก่

 

1. Smart Operatingยกระดับการบริหารและดำเนินงานอย่างยั่งยืน สร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและนำมาหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

2. Responsible Caring –  พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืน ลดการใช้ทรัพยากร และให้เกิดประสิทธิภาพการใช้งานยาวนานมากที่สุด นอกจากนี้ GC ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวทางการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบด้านความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน โดยในปี 2573 GC มีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Performance Product) และกลุ่มเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Chemicals) จาก 10% เป็น 30%

 

3. Loop Connecting – เชื่อมโยงทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่อุปทาน GC ร่วมมือกับทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่คุณค่าในการพัฒนาและต่อยอดการดำเนินโครงการความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการเกิดของเสีย นำขยะมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อสร้างการเชื่อมต่อธุรกิจแบบครบวงจร สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ โครงการ “ต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ” ซึ่งเป็นโครงการบริหารจัดการขยะที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ GC ทำร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน ที่ GC ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) และพันธมิตรของ GC เรียกคืนขยะที่มีประสิทธิภาพ โดยนำร่องให้เกิด Circular Hotspot บนถนนสุขุมวิท เป็นแห่งแรกของประเทศไทย สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนใหม่ โครงการ Waste this Way ที่ GC ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดแคมเปญผลักดันการจัดการขยะในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน โครงการ 10 คลองสวยน้ำใส ซึ่ง GC สนับสนุนการจัดทำ “เครื่องดักจับขยะในคลองสาธารณะ” ในเทศบาลเมืองลัดหลวง เป็นเครื่องต้นแบบ ติดตั้งเป็นจุดแรกที่ “คลองขุดเจ้าเมือง” เพื่อสร้างเป็นโมเดลให้คลองต่อๆ ไป เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โครงการ Upcycling the Oceans,Thailand โดยความร่วมมือของ GC การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมูลนิธิ Ecoalf มีเป้าหมายเพื่อจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย อนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล และใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกอย่างคุ้มค่า โดยการเก็บขยะพลาสติกในทะเลและนำมาแปรรูปให้เป็นวัตถุดิบด้วยนวัตกรรมอัพไซคลิง (Upcycling) แล้วนำมาพัฒนาและออกแบบเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่มีคุณภาพและมีมูลค่าสูงขึ้น ยังเป็นโครงการแรกของประเทศไทย และของภูมิภาคอาเซียนที่ดำเนินงานสอดคล้องตามมาตรฐานของ BS8001:2017 ซึ่งเป็นมาตรฐานด้าน Circular Economy ระดับสากล ถือเป็นความสำเร็จแรกและมีเป้าหมายจะขยายไปยังโครงการอื่นๆ ต่อไป

 

ในปีนี้ GC ได้ตอกย้ำการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนและนำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการผ่านเกณฑ์การประเมินของ FTSE หนึ่งในดัชนีชั้นนำด้านความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก และได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิก FTSE4Good Index Series ในอันดับที่ 3 ในปี 2563 และได้รับการจัดอันดับต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยฟุซซี่ รัสเซล (FTSE Russell) การได้รับคัดเลือกดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบขององค์กรที่ดำเนินธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงมีหลักธรรมาภิบาลเพื่อการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social and Governance: ESG Performance)

 

ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563

 

            ผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มีรายได้จากการขายรวม 69,271 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 26 จากไตรมาส 1/2563 และลดลงร้อยละ 35 จากไตรมาส 2/2562 โดยบริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันและการกลับรายการมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ กำไรทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยง) ในไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 1,409 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1,128 ล้านบาท หรือปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 โดยมี Adjusted EBITDA ในไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 6,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากไตรมาส 1/2563 แต่ลดลงร้อยละ 15 จากไตรมาส 2/2562 อย่างไรก็ดี บริษัทฯ รับรู้ผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันและการกลับรายการมูลค่าสุทธิที่จะได้รับของสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ (Stock Loss Net Reversal of NRV) เป็นผลขาดทุนรวม 899 ล้านบาท รวมทั้งผลการขาดทุนตราสารอนุพันธ์ 340 ล้านบาท และจากการแข็งค่าของค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องตลอดไตรมาสจึงส่งผลให้บริษัทฯ มีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 1,501 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิรวม 1,671 ล้านบาท (0.37 บาท/หุ้น) ปรับสูงขึ้นจาก ไตรมาส 1/2563 ร้อยละ 119

 

Highlight ในไตรมาส 2/2563

โรงกลั่นน้ำมัน  มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 102

โรงโอเลฟินส์ มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 100

โรงอะโรเมติกส์ มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 99

GC ออกหุ้นกู้สถาบัน จำนวน 15,000 ล้านบาท ในเดือนเมษายน ที่ผ่านมา

ผู้ถือหุ้น GC อนุมัติวงเงิน 4 พันล้านเหรียญฯ เพื่อออกหุ้นกู้ ภายในระยะเวลา 5 ปี (2563-2567) เพื่อใช้ชำระคืนเงินกู้เดิม ลงทุนตามแผนการลงทุน และใช้ในการดำเนินกิจการทั่วไปของบริษัทฯ

 

ความก้าวหน้าโครงการลงทุนในปี 2563

GC มีการขยายธุรกิจเพื่อต่อยอดโครงการลงทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่ EEC โดยปัจจุบันมีการลงทุนในโครงการหลักที่ตอบสนองนโยบาย New S-Curve ของภาครัฐ  

 

โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration Project (ORP) เป็นการขยายกำลังการผลิตผ่านการลงทุนในแนฟทา แครกเกอร์ (Naphtha Cracker)  เพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบของบริษัทฯ  และต่อยอดธุรกิจปลายน้ำในอนาคตด้วยกำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตันและโพรพิลีน 250,000 ตัน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยคืบหน้าไปแล้ว 91% คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาส ที่ 4 ปี 2563 มูลค่าโครงการประมาณ 36,000 ล้านบาท

 

โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide :PO) และ โครงการโพลีออลส์ (Polyols) เพื่อผลิต   โพรพิลีนออกไซด์ (PO) 200,000 ตันต่อปี และผลิตภัณฑ์โพลีออลส์ (Polyols) 130,000 ตันต่อปี มีมูลค่าโครงการประมาณ 34,000 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์โพรพิลีนไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายทางสายโพลียูรีเทน (Polyurethane) ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คืบหน้าไปแล้ว 94 % คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2563

 

โครงการร่วมลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงใน 2 โครงการ ได้แก่  PA9T 13,000 ตัน/ปี และ HSBC 16,000 ตัน/ปี คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2565 สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่ต้องการขยายธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายเกรดพิเศษ เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive) และ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท คุราเร่ จีซี แอดวานซ์ แมททีเรียลส์ จำกัด (KGC) มูลค่าโครงการประมาณ 15,000 ล้านบาท

 

โครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเทเรฟเทเลท (Polyethylene Terephtalate: PET)

ขยายการผลิต PET จาก 147,000 ตันต่อปี เป็น 200,000 ตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564   

 

โครงการ HMC PP Line Expansion

กำลังการผลิต เม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีน 250,000 ตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565

 

โครงการพลาสติกรีไซเคิล เป็นส่วนหนึ่งของแนวทาง GC Circular Living โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว มาเป็นวัตถุดิบในกระบวนการรีไซเคิล (Recycle) เพื่อให้ได้เม็ดพลาสติกคุณภาพสูงระดับ Food-Grade และ Packaging-Grade

 

- ร่วมมือกับพันธมิตร แอลพลา (ALPLA) ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับโลก ปฏิวัติการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

 

- ตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด (ENVICCO Limited) ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย       มาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูง ชนิด rPET ขนาด 30,000 ตันต่อปี และ rHDPE ขนาด 15,000 ตันต่อปี จะเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี 2563 และคาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2565 มูลค่าโครงการประมาณ 2,000 ล้านบาท

 

โครงการศึกษาการลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐฯ อยู่ในระหว่างการเจรจาหาพันธมิตรรายใหม่แทน Daelim ที่ได้ถอนตัวไป โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็น Second Home Base ของบริษัทฯ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีความได้เปรียบด้านความสามารถในการแข่งขันทางด้านวัตถุดิบ โดยมีแหล่งวัตถุดิบอีเทน (Ethane) ทำให้มีต้นทุนต่ำ คาดว่าจะได้ผลสรุปเพื่อตัดสินใจในการดำเนินโครงการดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ GC อยู่ในระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ของโครงการโดยละเอียด