สสส.จับมือทูลมอโร เปิดตัวโครงการ “คุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน” ชวนพ่อแม่ที่มีปัญหา “ลูกติดมือถือ” อบรมออนไลน์สร้างสมดุลใช้มือถือในเด็กแต่ละช่วงวัย ลดห่างเหิน เพิ่มเวลาคุณภาพ
วันที่ 12 ส.ค. นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานเปิดตัวโครงการ“คุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน” ระบบการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกหลานติดมือถือว่า ข้อมูลจากรายงานจับตาทิศทางสุขภาพคนไทยปี 2563 (ThaiHealth Watch) สสส. พบว่า ประเด็นสุขภาพเด็กและเยาวชนที่มาแรง คือ การเสพติดออนไลน์ ภัยคุกคามออนไลน์ และการติดเกม สอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า เด็กเเละเยาวชนไทยใช้ชีวิตอยู่หน้าจอมากกว่าสถิติโลก คือ 35 ชม./สัปดาห์ ซึ่งปกติ ไม่ควรเกิน 16 ชม/สัปดาห์ จากการสำรวจเด็กวัย 6 – 18 ปีจำนวนกว่า 15,000 คนพบว่าร้อยละ 61 มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเกมออนไลน์เพราะเล่นเกมมากกว่า 3 ชั่วโมง/วัน และจากเกมออนไลน์จะนำพาเด็กและเยาวชนไปสู่ความเสี่ยงอื่นๆ อย่างการพนัน ความรุนแรง
แนวทางแก้ปัญหาหนึ่งคือ สร้างความเข็มแข็งอบอุ่นให้แก่ครอบครัว มีสัมพันธภาพที่ดีไม่ห่างเหิน มีเวลาคุณภาพร่วมกัน ซึ่งในปี 2562 สสส.ร่วมกับ บริษัททูลมอโร พัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านการสื่อสารผ่าน Online Platform สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกหลานวัยรุ่น จนเกิดรายการ “รอลูกเลิกเรียน” มีการเก็บผลการศึกษาพบว่า ปัญหาลูกติดมือถือเป็นประเด็นที่พ่อแม่ผู้ปกครองกังวลและอยากแก้ไขมากที่สุด จึงต่อยอดโครงการ “คุณเปลี่ยน ลูกเปลี่ยน”กับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข คณะจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ศิริราชพยาบาล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ช่วยสร้างความเข้าใจและหาแนวทางในการแก้พฤติกรรมติดการใช้ผ่านวิธีการที่เหมาะสม
“เยาวชนยุคนี้ เป็นชาวดิจิตอลโดยกำเนิด (Digital Native) โตมากับคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต ทั้งเพื่อความบันเทิงและเพื่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม ทำการบ้าน ค้นหาข้อมูลสินค้า และกิจกรรม ติดต่อสื่อสารกับสังคมโดยรอบผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ จึงถือเป็นความท้าทายของผู้ปกครองในปัจจุบัน ที่จะสอนให้เด็กๆ รู้จักการสร้างสมดุลในเรื่องของการใช้อุปกรณ์จอใสเหล่านี้” นางสาวณัฐยา กล่าว
ทั้งนี้ นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี อาจารย์ประจำภาควิชา จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีมือถือ รวมถึงอินเตอร์เน็ต ของเด็กนั้นมีแนวโน้มที่เยอะขึ้นตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยรวมเด็กอยู่กับหน้าจอนาน 6-7 ชม./วัน ซึ่งในยุคปัจจุบันเด็กจะใช้ในการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันข้อเสียหลักคือการที่เด็กบางคนใช้เยอะจนกระทั่งถึงขั้นที่เรียกว่าติด จากการสำรวจพบว่าเด็กที่อยู่ในข่ายติดมือถือเยอะถึง 20 - 30 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับมีแนวโน้มที่จะเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุหลักในการติดมือถือของเด็กมาจากการติดใช้อินเทอร์เน็ต สังคมออนไลน์ เกมส์ รวมไปถึงสื่อลามกด้วย และการติดมือถือนั้นยังส่งผลระยะยาวถึงสุขภาพกายและจิตใจ
แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าว่า สำหรับอาการของการติดมือถือนั้น ไม่มีโรคติดมือถือแต่จะเป็นโรคติดเกมส์ และปัจจุบันเกมส์ส่วนใหญ่ก็อยู่ในมือถือ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเวลาที่หมอรักษาคนไข้จริงก็จะดูเป็นภาพรวมว่าการติดของเด็กว่าตอนนี้ติดอะไร ซึ่งอาการหลักๆ ที่เป็นเกณฑ์มาตฐาน มีอยู่ 3 ข้อ คือ 1 การควบคุมตนเอง ซึ่งเด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้ อยากที่จะคุยอยู่ตลอดเวลา 2. การให้ความสำคัญ อธิบายคือมือถือหรือการเล่นเกมส์จะมาอันดับหนึ่ง เด็กจะให้ความสนใจมากกว่าเรื่องเรียน 3. รู้ว่ามีผลกระทบจากการใช้แต่ยังคงใช้ต่อไป เช่นใช้จนกระทั่งไม่หลับทั้งคืน ตื่นเช้าไปโรงเรียนไม่ทัน ทำงานไม่ทันแต่ก็ยังคงใช้ต่อไป
ซึ่งเมื่อเวลาที่พ่อแม่มาปรึกษา อันดับแรกต้องถามก่อนว่าเด็กดูอะไร มีความถี่มากน้อยขนาดไหน ดูแล้วส่งผลกระทบยังไงกับชีวิตเด็กบ้าง และพ่อแม่ได้จัดการรับมือเบื้องต้นไปอย่างไรแล้วบ้าง อะไรที่ทำแล้วทั้งสองฝ่ายโอเค หรืออะไรที่ทำแล้วทะเลาะกันบ้าง มีปัญหาอื่นๆ อะไรเพิ่มขึ้นมาอีกหรือไม่ ทั้งหมดคือการประเมินในการรักษา ทั้งนี้พฤติกรรมของพ่อกับแม่ก็นับว่ามีผลต่อพฤติกรรมของลูกพอสมควร เพราะบางทีลูกก็เห็นพ่อแม่ใช้มือถือบ่อยเหมืนกัน ก็จะทำให้เขารู้สึกว่าทำไมจะทำบ้างไม่ได้ ดังนั้นถ้าหากจะมีการกำหนดเวลากการใช้ แล้วพ่อแม่ร่วมทำด้วยก็ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดี
นายสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ทูลมอโร จำกัด กล่าวว่า ระบบการเรียนรู้ออนไลน์ คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน เป็นระบบการอบรมเพิ่มศักยภาพการสื่อสารของครอบครัวผ่าน Platform Online โดยครั้งนี้โครงการฯ ใช้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาระบบจนสามารถรองรับการอบรมได้ถึง 600 คน วัตถุประสงค์เพื่อให้มีทักษะความรู้ความเข้าใจ เทคนิควิธีการสื่อสารกันในครอบครัว เกิดความอยากที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการใช้โทรศัพท์มือถือ สร้างแรงบันดาลใจผ่านรายการ Livestream ที่แสดงให้เห็นว่าวิธีการสื่อสารที่ใช้แก้ปัญหานั้นไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อนและสามารถนำไปใช้ได้จริง พร้อมมีกิจกรรมอบรมส่งเสริมทักษะด้านการสื่อสารออนไลน์ (Self-Help Group) ออกแบบหลักสูตรฝึกอบรมเรื่องทักษะการสื่อสารภายในครอบครัวผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ เปิดห้องเรียนออนไลน์ (กรุ๊ปไลน์) เป็นเวลา 9 วัน วันละ 1 ชั่วโมง เหมาะกับเด็กในแต่ละช่วงวัย ได้แก่ คอร์สสำหรับผู้ปกครองเด็กปฐมวัย (แรกเกิด – 6 ปี) คอร์สสำหรับผู้ปกครองที่ดูแลเด็กประถม (7 – 12 ปี) คอร์สสำหรับผู้ปกครองที่ดูแลเด็กวัยรุ่น (13 – 18 ปี)
โดยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเด็กและครอบครัว ได้แก่ รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี อาจารย์สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี,รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ผู้สนใจสามารถติดตามรับชมและเข้าร่วมโครงการได้ที่ https://www.facebook.com/toolmorrow
+ อ่านเพิ่มเติม