อีกหนึ่งเรื่องเศร้าช็อกวงการบันเทิง สำหรับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ แอ๊นท์-ธรัญญา สัตตบุศย์ นางแบบชื่อดังยุค 90 อีกทั้งมีดีกรีเป็นนักพากย์ตัวละคร กาลาเดรียล ในไตรภาค The Lord of the Rings ซึ่งน้องชายเล่าว่า “แอนท์เป็นโรคซึมเศร้า แล้วก็หลับไป”…
ทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์จะพาทำความรู้จัก ‘โรคซึมเศร้า’ โรคยอดฮิต หรือคิดไปเอง โดยสอบถามไปยัง นายแพทย์อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต ถึงสาเหตุ อาการ วิธีรักษา รวมไปถึงการป้องกัน ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
- สาเหตุของโรคซึมเศร้า
- สาเหตุหลัก
นายแพทย์อภิชาติ ให้ข้อมูลว่า “โรคซึมเศร้าปัจจุบันเราจะได้ยินบ่อย ซึ่งเมื่อก่อนจะเข้าใจว่าเกิดจากการเลี้ยงดู หรือความไม่แข็งแรงของจิตใจและวิธีการคิด แต่ปัจจุบันมีการยืนยันแล้วว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากพันธุกรรม ซึ่งสามารถส่งต่อพันธุกรรมสู่รุ่นลูก-หลานได้”
นายแพทย์อภิชาติ ยังกล่าวอีกว่า “โดยข้อมูลพบว่า ในวัยเด็กทุกคนจะไม่มีอาการ แต่พอเข้าช่วงวัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น พันธุกรรมจะเริ่มแสดงอาการทำให้สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ มีการหลั่งฮอร์โมน หรือสารเคมีที่แตกต่างไปจากเดิมทำให้ขาดความสมดุล ส่งผลให้เกิดความเศร้าที่มากเกินกว่าปกติ ซึ่งโรคซึมเศร้าไม่ได้ทำให้เสียชีวิต แต่จะเสียชีวิตจากสาเหตุอื่น อาทิ ฆ่าตัวตาย ป่วยโรคแทรกซ้อน”
- สาเหตุอื่น
- เคยได้รับการบาดเจ็บทางสมอง
- ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ผิดปกติ
- สารเสพติด
- ดื่มสุรา
- อาการ
- รู้สึกเศร้า ไม่มีความสุข
- เบื่อ ท้อแท้
- กินไม่ได้นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด (บางราย)
- กินมากเกินปกติ อยากอาหาร น้ำหนักเพิ่ม (บางราย)
- ความมั่นใจในตัวเองลดลง
- อ่อนล้า ไม่มีแรง
- กระสับกระส่าย
- มือชา
- คิดว่าตัวเองไร้ค่า
- ไม่อยากมีชีวิตอยู่ คิดเรื่องตายบ่อยๆ
- หากอาการหนัก ก็จะนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
- จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคซึมเศร้า
- มีความเศร้าที่มากและนานผิดปกติ โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้
- ไม่เรื่องราวหรือสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดความเศร้า แต่กลับเกิดความเศร้าอย่างผิดปกติ
- รู้สึกเบื่อ เซ็ง ไม่มีความสุข โดยที่ไม่มีสาเหตุ
- ทำแบบทดสอบสุขภาพจิต ที่เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต
- โทรปรึกษา 1323 สายด่วนกรมสุขภาพจิต ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย
- การรักษา
นายแพทย์อภิชาติ เผยว่า “ปัจจุบันมีการรักษาให้หายขาดได้ โดยการใช้ยาต้านเศร้า ซึ่งมีความปลอดภัยสูง และมีผลข้างเคียงน้อย หรือแทบจะไม่มีผลข้างเคียง ซึ่งการรักษาจะเป็นการทานยา ควบคู่ไปกับการทำจิตบำบัด ฝึกวิธีการปรับความคิด เพื่อลดความเสี่ยงในการตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยระยะเวลาในการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล ซึ่งปกติจะใช้เวลารักษาประมาณ 1 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น”
- กลุ่มเสี่ยง
- ผู้หญิงจะมีอัตราส่วนเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย เนื่องจากเป็นเพศที่มีความละเอียดอ่อนทางอารมณ์มากกว่าผู้ชาย
- กลุ่มที่พบมากที่สุดคือ วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ตอนต้น ไปจนถึงผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า (เป็นโรคทางพันธุกรรม)
- วิธีป้องกัน
- สำรวจอารมณ์ตัวเองบ่อยๆ
- หากว่าในครอบครัวมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องพึงระวังตนเองเป็นพิเศษ
- ไม่ใช้สารเสพติด
- ไม่ดื่มสุรา
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- พยายามทำอารมณ์ให้แจ่มใสอยู่เสมอ
- หากว่ามีเรื่องไม่สบายใจ พยายามเล่าให้กับคนในครอบครัว หรือคนที่ไว้ใจได้
- หากรู้ว่าคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้า ควรทำอย่างไร
- พยายามหาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจโรคซึมเศร้า
- พยายามรับฟังปัญหาของผู้ป่วย
- ให้กำลังใจ
- หลีกเลี่ยงการต่อว่า หรือการพูดกดดัน
- พาผู้ป่วยไปพบแพทย์.