LGBT เฮ! ครม. ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสได้
logo TERO HOT SCOOP

LGBT เฮ! ครม. ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสได้

TERO HOT SCOOP : LGBT เฮ! ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เปิดทางคู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนได้ พรบคู่ชีวิต,LGBT,คู่รักเพศเดียว,จดทะเบียน,สมรสเท่าเทียม

19,632 ครั้ง
|
08 ก.ค. 2563
 
LGBT เฮ! ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เปิดทางคู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนได้
 
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมครม. ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม
 
สำหรับสาระสำคัญ ของร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต คือ 1. เปิดทางให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรส 
 
2.กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้ 
 
3.กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้ง 2 ฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย 
 
4.กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุ นิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต
 
5.กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา 
 
6.กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน 
 
7. คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้
 
8. เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
 
และ 9. กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส ตามมาตรา 1606 1652 1563 ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม
 
ในส่วนของ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระสำคัญ เช่น กำหนดให้ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมี “คู่สมรส” หรือ “คู่ชีวิต” อยู่ไม่ได้ 
 
2. กำหนดให้เหตุฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่น ฉันท์ “คู่ชีวิต”
 
และ 3. กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต
 
 
ทั้งนี้ที่ประชุมครม. เห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรมประเมินผลหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ รวมทั้งให้กระทรวงอื่นๆ พิจารณาศึกษาผลกระทบและแนวทางในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของคู่ชีวิต ให้มีความเป็นธรรม เท่าเทียม และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างแท้จริง