“จักรวาลคู่ขนาน” หรือ “โลกคู่ขนาน ” อยู่ในความสนใจใคร่รู้ของคนทั้งโลกมาเนิ่นนาน เรื่องนี้มีจริงหรือไม่? มีใครอีกคนที่เหมือนคุณทุกประการ ใช้ชีวิตแบบเดียวกับคุณ กินนอนนั่งคิดเหมือนกันกับคุณ เรื่องนี้มันเป็นไปได้หรือ?
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นิตยสาร New Scientist ได้รายงานว่า นักวิจัยของนาซ่าพบปรากฏการณ์ที่อาจชี้ว่ามีโลกคู่ขนาน ซึ่งเวลาเดินย้อนกลับหลัง และต่อมาไม่กี่วันก็พบว่า ข่าวดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจริง นาซ่าไม่ได้พบจักวาลคู่ขนาน และนิตยสาร New Scientist นำเสนอข่าวโดยการอ้างอิงจากงานวิจัยเท่านั้น
กระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า “จักรวาลคู่ขนาน” หรือ “โลกคู่ขนาน” ไม่ใช่เรื่องจริง โดยล่าสุด ทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.บุรินทร์ กำจัดภัย นักฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยาแห่งวิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในเรื่อง “จักรวาลคู่ขนาน” หรือ “โลกคู่ขนาน” เรื่องนี้มีจริงหรือไม่ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ไทย ติดตามได้ที่นี่!
ก่อนจะเข้าใจความเป็นไปแห่ง "จักรวาลคู่ขนาน"...
รศ.ดร.บุรินทร์ ได้อธิบายถึงเรื่องดังกล่าวว่า ที่ผ่านมา มีหลายทฤษฎีที่มีแนวคิดว่า มีภพอื่น ซึ่งเราต้องนิยามก่อนว่า “เอกภพ” คืออะไร โดยเอกภพคือระบบหนึ่งที่เป็นทุกแห่งหนที่มีอวกาศและเวลา มีความกว้าง ยาว สูง และเวลา รวมกันเป็นระบบ ซึ่ง “ระบบ” ก็คือสิ่งใดๆ ก็ตามที่มีคุณสมบัติ และทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวของเราจะมี “คุณสมบัติ” ดังนั้น เอกภพของเราจึงมีคุณสมบัติคือตัวเรขาคณิตของมันเอง และการกล่าวถึงเอกภพคู่ขนานหรือเอกภพอื่นว่ามีอยู่จริงหรือไม่ จึงเป็นการถามว่ามีอาณาบริเวณอื่นๆ อีกหรือไม่ที่ซึ่งอวกาศและเวลาแยกขาดจากเอกภพของเราอยู่
ทั้งนี้ ในทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม มีความเชื่อกันว่า มีความสมมาตรในเลขควอนตัม ซึ่งในกลศาสตร์ควอนตัมแบบสัมพันธภาพจะมีตัวแปรอยู่ 3 สิ่ง คือ ประจุ แพริตี้ (Parity) และเวลา
เมื่อเปลี่ยนตัวแปรเหล่านี้ไปเมื่อใด ก็ยังสามารถรักษาสมการหลักของกลศาสตร์ควอนตัมไว้เช่นเดิมได้ ซึ่งเราจะถือได้ว่า กลศาสตร์ควอนตัมมีสมมาตรภายใต้การเปลี่ยนตัวแปรเหล่านี้
ส่วนความสมมาตรก็คือ เมื่อเราเปลี่ยนตัวแปรใดตัวแปรหนึ่ง แต่สิ่งนั้นๆ ยังคงเดิมอยู่ เสมือนเรามองตัวเองในกระจก หรือย้ายตัวเองไปยังตำแหน่งด้านตรงข้าม แต่ยังเห็นรูปตัวเองเหมือนเดิม สมการหลักในกลศาสตร์ควอนตัมก็เช่นกันที่จะคงรูปเดิมได้เมื่อเปลี่ยนตัวแปรไป
ขณะเดียวกัน กลศาสตร์ควอนตัมยังทำนายการมีอยู่ของปฏิสสาร หรือที่ซึ่งตัวแปรทั้งสามมีค่าตรงข้ามและเปลี่ยนแปลงไปในทางตรงข้าม
ฉันอีกคน ณ สถานที่หนึ่งอันแสนไกล...
“จากความเชื่อที่ว่า ทุกอย่างต้องมีปฏิสสารของมัน และเขาก็มองว่า เอกภพมีโอกาสที่จะมีปฏิเอกภพ ซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการกำเนิดจักรวาลได้ ดังนั้น ก็อาจมีคุณอีกคนหนึ่ง รูปร่างหน้าตาเหมือนคุณทุกอย่าง มีเลือดมีเนื้อเหมือนกันทุกประการ แต่มีประจุและแพริตี้ตรงข้ามกัน เวลาเดินตรงข้ามกัน ส่วนเหตุที่สิ่งเหล่านี้ต้องตรงข้ามกันนั้น เพราะว่าถ้าปฏิสสารที่เหมือนกันมาเจอกัน มันจะทำลายล้างกันเอง”
เมื่อทีมข่าวถาม รศ.ดร.บุรินทร์ ว่า หากมีนาย ก. อีกคนในโลกคู่ขนาน นาย ก. จะใช้ชีวิตเหมือนกันกับ นาย ก. บนโลกใบนี้หรือไม่? รศ.ดร.บุรินทร์ ให้คำตอบว่า “ทุกอย่างจะเหมือนกระจกเลย ถ้านาย ก. บนโลกดื่มกาแฟอยู่ นาย ก. บนโลกคู่ขนาน ที่หน้าตาเหมือนกันก็จะดื่มกาแฟอยู่”
“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องนี้ก็เป็นเพียงทฤษฎีหนึ่งเท่านั้น ซึ่งทฤษฎีที่เกี่ยวข้องยังไม่มีข้อสรุปยืนยันได้ และคงเป็นเรื่องยากที่จะศึกษาจนเสร็จสิ้น เพราะจักรวาลกว้างใหญ่เป็นอนันต์ และความรู้ก็มีเป็นอนันต์”
“ณ เวลานี้ ทฤษฎีโลกคู่ขนาน ยังเป็นเพียงแค่ไอเดียของทฤษฎีควอนตัมเท่านั้น ซึ่งมันเป็นไอเดียที่เกิดมานานมากแล้ว และผมเชื่อว่าทฤษฎีนี้มันยังต้องถูกปรับปรุงอีกมาก”
“ผมไม่เชื่อในกระแสข่าวที่ว่า นาซ่าพบหลักฐานการมีอยู่ของเอกภพคู่ขนานจากการทดลองบอลลูนที่ขั้วโลกใต้ เพราะถ้ามีอยู่จริงการตรวจจับควรเกิดขึ้นที่ระดับพลังงานหรืออุณหภูมิที่สูงมากๆ"
"แม้จะจริงอยู่ที่ว่าผลการตรวจจับอนุภาคนิวทริโนที่บอลลูนที่ขั้วโลกใต้จะยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน แต่การทดลองอื่นๆ ภาคพื้นดินที่ขั้วโลกใต้ก็ไม่สามารถตรวจจับอนุภาคนิวทริโนนี้ได้ จึงแย้งกัน และคำอธิบายที่ว่าอนุภาคนิวทริโนที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ตรวจจับได้นี้ มีเลขควอนตัมบางตัวตรงข้ามกับที่เรารู้จักมาจากเอกภพคู่ขนาน ก็เป็นเพียงคำอธิบายหนึ่งในหลายๆ คำอธิบายที่เป็นไปได้เท่านั้น” รศ.ดร.บุรินทร์ ทิ้งท้าย.