จากกรณีที่สังคมมีการพูดถึง ‘โรคเรนินโนม่าห์’ โรคประหลาดหายาก 1 ในล้าน ซึ่งมีการพูดถึงโรคดังกล่าวออกไปต่างๆ นานา อาทิ พบในเด็ก เป็นโรคพันธุกรรม รักษาไม่ได้ หากเป็นแล้วถึงตาย ผู้ป่วยจะมีอาการอาการอ้วกเป็นเลือด อีกทั้งค่ารักษาพยาบาลมหาศาล...
ล่าสุด ทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.กวี ชินศาศวัติ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4 เกี่ยวกับ 'โรคเรนินโนม่าห์' ซึ่งมีข้อมูลทางการแพทย์อันน่าสนใจหลากหลายประการ โดยทีมข่าวจะไล่เรียงให้คุณเข้าใจง่ายๆ ดังต่อไปนี้
สาเหตุของ ‘โรคเรนินโนม่าห์’
นพ.กวี กล่าวว่า “โรคเรนินโนม่าห์ เป็นโรคเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์ชนิดหนึ่งในไต เซลล์ชนิดนี้ทำหน้าที่สร้าง ‘เรนิน’ ซึ่งเรนินเป็นเอนไซม์ชนิดหนึ่งทำหน้าที่กระตุ้น Aldosterone(ฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากต่อมหมวกไต) ส่งผลให้ความดันของผู้ป่วยรายนั้นๆ เพิ่มสูง"
"เมื่อเซลล์ดังกล่าวเพิ่มปริมาณมากจนกลายเป็นเนื้องอกก็จะสร้างเรนินมากเกินความจำเป็น ทำให้ความดันสูงไปด้วยจนไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบกับ Aldosterone ซึ่งมีหน้าที่ทำให้โพรแทสเซียม(แร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย)ต่ำ ก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการแขนขาอ่อนแรง”
กลุ่มเสี่ยง
- มักจะพบในเด็กโต ที่อายุตั้งแต่ 12-16 ปี
อาการ
- แขนขาอ่อนแรง (เมื่อผู้ป่วยมีโพแทสเซียมต่ำ จึงทำให้เกิดอาการแขนขาอ่อนแรงคล้ายอัมพฤกษ์-อัมพาต)
- ความดันสูง
- หากไม่รักษาโดยเร็ว อาจมีอาการแทรกซ้อนจากโรคความดัน เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ, หัวใจวาย, หลอดเลือดแตก ซึ่งอาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้
โอกาสเกิดโรค?
นพ.กวี ให้ข้อมูลว่า “โรคเรนินโนม่าห์พบได้น้อยมากๆ หรือแทบจะไม่มี และโดยส่วนตัว ผมมีประสบการณ์ในทางการแพทย์มาถึง 30 ปี แต่ยังไม่เคยเจอผู้ป่วยโรคนี้เลย"
"ในขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า จากประชากรทั่วโลกทั้งหมดกว่า 7 พันล้านคน พบผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 100 ราย หรือคิดเป็น 1 ใน 70 ล้านคน แต่ก็มีรายงานว่าเคยพบในประเทศไทย” นพ.กวี กล่าว
การวินิจฉัยโรค
- นพ.กวี กล่าวว่า โรคเรนินโนม่าห์ สามารถตรวจพบได้ง่าย เนื่องจากพบในเด็ก และอาการความดันสูงประกอบกับโพรแทสเซียมต่ำ ซึ่งเด็กปกติทั่วไปจะไม่มีอาการความดันสูง ดังนั้น แพทย์จึงวินิจฉัยได้อย่างไม่ยากเย็น
สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
ส่วนประเด็นที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า โรคเรนินโรม่าห์ สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่นั้น นพ.กวี ให้คำตอบว่า “โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ หลังจากได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ซึ่งแพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดก้อนเนื้อตัวปัญหาออก ผู้ป่วยก็จะหายเป็นปกติ และโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำก็น้อยมาก หรือแทบไม่มี” นพ.กวี กล่าว
เป็นพันธุกรรมหรือไม่?
- มีโอกาสเป็นโรคทางพันธุกรรมได้ แต่ว่าโอกาสน้อยมาก
วิธีป้องกัน
- ป้องกันไม่ได้ เนื่องจากเป็นโรคเนื้องอกชนิดหนึ่ง