รู้เท่าทันและป้องกันโรคหอบหืดในเด็ก
logo ข่าวอัพเดท

รู้เท่าทันและป้องกันโรคหอบหืดในเด็ก

ข่าวอัพเดท : ภัยคุกคามจากโรคร้ายทำลายสุขภาพลูกน้อย พ่อแม่หลายท่านอาจมองข้ามปัญหาเล็ก ๆ ที่เป็นสาเหตุนำไปสู่ภัยสุขภาพร้ายแรง อย่างอาการไอที่คิดว่า แม่และเด็ก,โรคหอบหืด,หอบ,หืด,โรคในเด็ก

675 ครั้ง
|
03 ต.ค. 2566
ภัยคุกคามจากโรคร้ายทำลายสุขภาพลูกน้อย พ่อแม่หลายท่านอาจมองข้ามปัญหาเล็ก ๆ ที่เป็นสาเหตุนำไปสู่ภัยสุขภาพร้ายแรง อย่างอาการไอที่คิดว่ามาจากอาการ ไข้ หวัด หรือภูมิแพ้ จึงไม่ได้ให้ความสำคัญ อาการไอ เหนื่อยหอบง่ายในเด็ก อาจเป็นสัญญาณของภัยร้ายอย่าง “โรคหอบหืดในเด็ก” ถ้าละเลยและปล่อยทิ้งไว้ นานวันอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพระยะยาว หากไม่ได้เข้าตรวจสุขภาพและรับการรักษาที่ทันเวลาและถูกต้อง
 
ทำความรู้จัก โรคหอบหืด คืออะไร ?
โรคหอบหืด (Asthma) คือ โรคที่หลอดลมมีการอักเสบเรื้อรังร่วมกับมีภาวะหลอดลมไวและหลอดลมตีบแคบ เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหลอดลม ซึ่งเป็น ๆ หาย ๆ เนื่องจากหลอดลมมีการอักเสบเรื้อรัง จึงทำให้หลอดลมมีความไวต่อสารกระตุ้นต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้เวลามีไอจะมีอาการ แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย ออกซิเจนในเลือดต่ำ
เป็นโรคเรื้อรังที่พบบ่อยในประเทศไทย พบในเด็กจำนวนมากถึง 10 –15% (ผู้ใหญ่พบน้อยกว่าคือ 8-10%) จากการสำรวจพบว่าอุบัติการณ์ของโรคนี้เพิ่มขึ้นสูงกว่าแต่ก่อนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
 
อาการของผู้ป่วยโรคหอบหืด จะหอบเหนื่อยเป็น ๆ หาย ๆ สมรรถภาพในการทำงานของปอดลดลง ทำให้เหนื่อยง่ายกว่าคนปกติ บางครั้งจะมีอาการหอบรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน เข้านอนรับการรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาล
2 ใน 3 ของเด็กที่เป็นโรคหืดจะมีภาวะภูมิแพ้ร่วมด้วย
เด็กที่มี อาการหอบหืด ภูมิแพ้ เมื่อผู้ป่วยเด็กมีอาการทางจมูกมากขึ้น ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบมากขึ้นได้ และในทางตรงกันข้ามถ้าได้ควบคุมอาการของโรคทางจมูกได้ดี ก็จะทำให้อาการหอบหืดน้อยลงด้วย
 
โรคหอบหืดในเด็กเกิดจากสาเหตุใด ?
ยังไม่มีสาเหตุที่เเน่ชัด แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับปัจจัยบางอย่าง ได้แก่
1.ปัจจัยภายใน คือ พันธุกรรม หากมีญาติสายตรงได้แก่ พ่อ แม่ พี่น้องเป็นโรคหืด  หรือภูมิแพ้ โอกาสที่จะเป็นโรคหืดสูงกว่าคนทั่วไป  
2. ปัจจัยภายนอก สารก่อภูมิแพ้ อาจสัมพันธ์กับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนแมว ขนสุนัข และเกสรดอกหญ้า
3. ปัจจัยอื่น ๆ
• การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิด
• การเปลี่ยนแปลงของอากาศ
• สิ่งระคายเคืองและมลภาวะ (Air pollution)
• การออกกำลังกาย
• ความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และจิตใจ
 
รู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นหอบหืด ? อาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต
ในเด็กอาจต้องอาศัยการสังเกตอาการ เพราะเด็กไม่สามารถบอกอาการเองได้ ทำให้ได้รับการวินิจฉัยเป็นหลอดลมอักเสบหรือปอดบวมบ่อยๆ โดยลักษณะหรืออาการที่อาจเป็นโรคหืด มีดังนี้
▪ ในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี  เด็กที่มีอาการ ไอ หายใจลำบากหรือหอบเหนื่อยบ่อยๆ  เกิน 3 ครั้งขึ้นไป
▪ ได้ยินเสียงหายใจวี๊ด
▪ ไอนานๆ หายใจเสียงวี๊ดนานๆ หลังจากติดเชื้อ
▪ อาการไอ หรือหายใจวี๊ด มักเป็นตอนกลางคืน หรือหลังได้รับสิ่งกระตุ้น เช่น สารก่อภูมิแพ้ ออกกำลังกาย หัวเราะ ร้องไห้
▪ อาการไอ หรือหายใจวี๊ด เกิดขึ้นเองโดยที่ไม่มีไข้หรือการติดเชื้อในทางเดินหายใจ
▪ มีประวัติปอดติดเชื้อ หรือหลอดลมอักเสบบ่อยๆ
▪ ภายหลังจากที่ได้รับการพ่นยาขยายหลอดลมเเล้วไอลดลง
▪ มีประวัติ คุณพ่อคุณแม่หรือพี่น้องเป็นโรคหืด
▪ เด็กมีอาการของภูมิแพ้ เช่น ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้หรือเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือเคยทดสอบภูมิแพ้แล้วผลเป็นบวกต่อสารก่อภูมิแพ้ในอาการหรืออาหารบางชนิด
▪ ในเด็กที่อายุมากกว่า 6 ปี สามารถตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry) แล้วพบผลผิดปกติ
 
การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ
 
▪ ตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometry) เพื่อดูว่ามีภาวะทางเดินหายใจมีการอุดกั้นจากการตีบแคบชั่วคราวของหลอดลมในปอด และตอบสนองต่อยาขยายหลอดลมหรือไม่
▪ ในรายที่มีอาการหอบเหนื่อย อาจจะตรวจ peak flow meter ก่อนเเละหลังพ่นยาขยายหลอดลม เพื่อดูการเปลี่ยนเเปลงของค่าแรงดันอากาศที่หายใจ
▪ เด็กมีอาการของภูมิแพ้ แนะนำให้ตรวจการทดสอบภูมิแพ้ ได้แก่ Skin prick test for aero-allergen หรือ Serum for specific IgE
▪ Film Chest X-ray ตามดุลยพินิจของแพทย์
 
อาการแสดงเมื่อมีหอบ
▪ หายใจเร็ว พูดแล้วเหนื่อย หรือพูดไม่เป็นประโยค
▪ อาการไอถี่ หรือหายใจแล้วได้ยินเสียงวี๊ด
▪ มีอาการแน่นหน้าอก
▪ ริมฝีปากเขียวคล้ำ
 
วิธีการรักษาทำได้อย่างไร ?
1. การใช้ยา แบ่งยารักษาออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่
▪ การบรรเทาอาการ (Quick reliever) เช่น ยาขยายหลอดลม ซึ่งเป็นยาบรรเทาอาการเวลาเด็กมีอาการ ไอหรือหอบหืดกำเริบ สามารถออกฤทธิ์บรรเทาอาการหลอดลมตีบได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยจะต้องใช้ยาขยายหลอดลมบ่อยมากขึ้นหรือใช้ในปริมาณที่สูง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
▪ ยาควบคุมอาการ (controller) ต้องใช้เป็นประจำทุกวัน โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาตามความรุนแรงของโรค และแนะนำให้ใช้ยาอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมอาการไม่ให้เกิดโรคกำเริบ
– สเตียรอยด์แบบพ่น เป็นยาหลักในการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ป่วยควรได้รับการพ่นยาอย่างอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ
– ยาต้านฤทธิ์ Leukotriene
2. การเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารอื่นๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการ
3. การรักษาโรคร่วมที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เช่นโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น
4. การดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น การออกกำลังกายที่เหมาะสม การนอนหลับให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
5. รับวัคซีนป้องกันโรค โดยเฉพาะกลุ่มโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ วัคซีนไอกรน วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนนิวโมคอคคัส (IPD) วัคซีนหัด
 
การป้องกันการเกิดโรคหอบหืด  
▪ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ สารก่อภูมิแพ้และสารอื่นๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการ
▪ การคลอดปกติ
▪ การให้นมแม่อย่างน้อยจนถึงอายุ 4-6 เดือน
▪ หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกับป่วยเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อในช่วงอายุ 1 ปีแรก
▪ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ สารระคายเคือง โดยเฉพาะควันบุหรี่
 
ผลเสียจากการพ่นยาสเตียรอยด์
▪ การพ่นยาสเตียรอยด์ในปริมาณที่แพทย์ควบคุมแลพติดตามอาการ ยาจะออกฤทธิ์ในระบบทางเดินหายใจ ดูดซึมเช้ากระแสเลือดในระดับน้อยมาก
▪ อย่างไรก็ตามหากพ่นยาสเตียรอยด์ปริมาณสูงเป็นเวลานาน หรือมีอาการหอบกำเริบบ่อยๆทำให้ต้องได้รับยาสเตียรอยด์ในรูปแบบกินหรือฉีดเข้าร่างกาย อาจส่งผลต่อร่างกายได้แก่ ภาวะเตี้ยลง น้ำหนักขึ้น ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง
▪ ผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการพ่นยาสเตียรอยด์แล้วไม่ได้ทำความสะอาดช่องปากและใบหน้าหลังจากใช้ยา ได้แก่ ช่องปากอักเสบจากการติดเชื้อรา เสียงแหบ
 
ถ้าเป็นโรคหอบหืดแล้วไม่ได้รับการรักษาทำให้หอบหืดกำเริบบ่อย ๆ จะส่งผลอย่างไรต่อเด็ก ?
หลอดลมเกิดการอักเสบบ่อยๆ ทำให้หลอดลมไวต่อการกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้ การติดเชื้อ หากเกิดบ่อยๆซ้ำอาจเกิดพังผืดขึ้นภายในโครงสร้างผนังหลอดลม ทำให้หลอดลมตีบแคบถาวร
สมรรถภาพการทำงานของปอดลดลง ทำให้ออกกำลังกายแล้วเหนื่อยง่าย
 
อ้างอิงข้อมูลจาก : https://shorturl.asia/mkQ92