logo ข่าวอัพเดท

ทหารบุกรวบ 'จาตุรนต์' ขณะโผล่จ้อสื่อนอก ยันไม่คิดหนี ลั่นพร้อมให้จับแล้ว

11,822 ครั้ง
|
27 พ.ค. 2557

 

ทหารบุกรวบ 'จาตุรนต์' ขณะโผล่แถลงสื่อนอก ยันไม่คิดหนี ลั่นพร้อมให้จับแล้ว เหตุ คสช. มีอำนาจตามรธน.

 

 

เมื่อเวลาประมาณ 15.45 น. ที่ผ่านมา มีรายงานแจ้งว่า ทหารได้เข้าควบคุมตัว นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ขณะเปิดแถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หลังไม่เข้ารายงานตัวกับ คสช. ตามที่มีรายชื่อ

 

 

ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ค Chaturon Chaisang เกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นว่า

 

"เรียนพี่น้องประชาชนผู้รักประชาธิปไตย สื่อมวลชน และประชาคมโลก

 

 

ตามที่ได้เกิดการรัฐประหารขึ้นดังที่ทราบทั่วกันอยู่แล้ว ได้มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับตัวผมทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารอยู่บ้าง ผมจึงขอชี้แจงต่อพี่น้องประชาชนดังต่อไปนี้

ความเห็นต่อการรัฐประหาร

 

ในหลายสิบปีมานี้ผมได้แสดงความเห็นคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารมาตลอด และในหลายปีมานี้ก็ได้แสดงความเห็นไว้ด้วยว่าไม่ว่าประเทศจะมีปัญหาร้ายแรงอย่างไร การรัฐประหารก็ไม่ใช่ทางออก หากมีแต่จะทำให้ปัญหาเลวร้ายยิ่งขึ้นเสมอ เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นในครั้งนี้ ผมก็มีความเห็นเช่นเดิมและได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารไปแล้ว

 

ขอย้ำในโอกาสนี้ว่า การรัฐประหารโดยตัวมันเองคือการล้มล้างประชาธิปไตยอยู่แล้ว การรัฐประหารจึงจะไม่สามารถทำให้เกิดกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หากจะยิ่งทำให้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้วไม่เป็นประชาธิปไตยหนักยิ่งขึ้น

 

การรัฐประหารไม่ใช่ทางออกหรือทางแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม หากมีแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น ที่น่าเป็นห่วงคือ หากผู้มีอำนาจจัดการได้ไม่ดีอาจจะทำให้เกิดความรุนแรงและความสูญเสียมากยิ่งขึ้นด้วย

 

การรัฐประหารเป็นกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่ทั่วโลกและคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยเองไม่ยอมรับ ย่อมจะส่งผลเสียต่อภาพพจน์ของประเทศ ต่อความร่วมมือกับประเทศต่างๆและซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจของประเทศซึ่งบอบช้ำมามากแล้ว

 

สำหรับการที่อ้างว่าสังคมไทยมีความขัดแย้งและเกิดความรุนแรงและความสูญเสียอย่างมากจนกระทั่งผู้นำกองทัพจำเป็นต้องประกาศกฎอัยการศึกแล้วทำการรัฐประหารนั้น ความจริงแล้วผู้นำกองทัพมีทางเลือกอื่นมาตั้งแต่ต้นคือ การร่วมมือกับรัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรมต่อทุกฝ่าย ซึ่งหากทำเช่นนั้นเหตุการณ์ก็จะไม่บานปลายจนกระทั่งกลายเป็นข้ออ้างถึงความจำเป็นในการที่ต้องทำรัฐประหาร

 

เหตุผลที่ไม่ได้ไปรายงานตัวต่อคสช.

 

ผมได้อธิบายผ่านสื่อมวลชนไปแล้วว่า เมื่อผมไม่ยอมรับการรัฐประหาร ผมจึงไม่อาจไปรายงานตัวต่อคณะรัฐประหารได้ ขอชี้แจงเพิ่มเติมอีกด้วยว่าผมมีความเห็นมาแต่ต้นและได้แสดงความเห็นต่อรัฐมนตรีหลายท่านและต่อสาธารณชนด้วยว่า การประกาศใช้กฎอัยการศึกที่ได้ทำไปนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและขัดต่อพ.ร.บ.กฎอัยการศึกเองเนื่องจากไม่ได้มีประกาศพระบรมราชโองการ ส่วนการรัฐประหารนั้นก่อนที่จะมีพระบรมราชโองการตั้งพลเอกประยุทธ์เป็นหัวหน้าคสช. ย่อมไม่อาจถือได้ว่าการรัฐประหารได้สำเสร็จเสร็จสิ้นแล้ว การกระทำของพลเอกประยุทธ์กับพวกที่ประกาศยึดอำนาจจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 คำสั่งต่างๆของคสช.ในช่วงที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการตั้งหัวหน้าคสช.จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ความจริงข้อนี้จะสังเกตได้ไม่ยากว่าต่อไปก็จะต้องมีการนิรโทษกรรมการกระทำต่างๆของคณะคสช.ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่มีพระบรมราชโองการตั้งหัวหน้าคณะคสช.

 

ในอดีตเคยมีการพยายามทำรัฐประหาร มีคำสั่งให้ใครต่อใครไปรายงานตัว แต่เมื่อไม่มีพระบรมราชโองการตั้งบุคคลเหล่านั้นให้ควบคุมการบริหารราชการ ต่อมาคณะบุคคลนั้นก็กลายเป็นกบฏไป ผู้ที่ไปรายงานตัวหรือให้ความร่วมมือก็พลอยมีความผิดไปด้วย

 

จากประสบการณ์ในอดีตและข้อกฎหมายดังกล่าวผมจึงได้ตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวต่อคสช. ทั้งนี้ก็ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการหลบหนี ไม่ต้องการเคลื่อนไหวต่อต้านหรือลงใต้ดินต่อสู้แต่อย่างใด และพร้อมที่จะให้คุมตัวในเวลาที่เหมาะสม

 

สิ่งที่จะทำต่อไป

 

ผมยังยืนยันว่า จะใช้สิทธิเสรีภาพเท่าที่มีอยู่ต่อสู้เรียกร้องให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย โดยเริ่มจากการเรียกร้องให้คสช.คืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชนและให้มีการเลือกตั้งตามกติกาที่เป็นประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้การดำเนินการใดๆของผมจะเป็นไปโดยสันติวิธี สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 2 และเป็นไปตามกฎหมายที่ชอบธรรม

 

การให้จับกุมหรือคุมตัว

 

ผมได้พูดไว้แล้วว่าพร้อมจะให้คสช.มารับตัวหรือคุมตัวไปในเวลาที่เหมาะสม บัดนี้เมื่อมีพระบรมราชโองการตั้งหัวหน้าคสช.ขึ้นแล้ว แม้ผมจะยังคงไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ก็ทราบว่าคสช.ย่อมมีอำนาจตามระบบกฎหมายของไทยในหลายๆประการ ผมจึงพร้อมที่จะให้คสช.มาควบคุมตัวไปดำเนินการต่อไปตามแต่จะเห็นเหมาะสม

 

ผมได้เลือกการแสดงออกในการคัดค้านตามหลักอารยะขัดขืน ซึ่งก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับผลทางกฎหมายที่จะตามมา หากจะมีการดำเนินคดีก็พร้อมจะสู้คดีตามสิทธิ์ที่พึงมีต่อไป

 

เนื่องจากเข้าใจว่าอาจมีการดำเนินคดีกับบุคคลจำนวนไม่น้อย ผมจึงขอเสนอว่าการดำเนินคดีต่อผู้มีความเห็นแตกต่างทางการเมืองนั้นไม่ควรใช้ศาลทหาร แต่ควรให้ศาลยุติธรรมพิจารณาไปตามปรกติ

 

ข้อเสนอต่อคสช.

 

1. คืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด ให้มีการเลือกตั้งตามกติกาที่เป็นประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด

 

2. ขอให้หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน ไม่ปราบประชาชนและไม่เลือกปฏิบัติในการใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันความรุนแรงในสังคม ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยโดยสันติวิธีได้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ดีกว่าจะผลักไสให้ประชาชนหันไปต่อสู้ด้วยวิธีอื่นๆ

 

3. ส่งเสริมให้มีการแสวงหาความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการทำให้ผู้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขถึงแม้ว่าจะมีความคิดเห็นที่ต่างกัน นี่คือปัญหาพื้นฐานอย่างหนึ่งของสังคมไทย การใช้อำนาจความเด็ดขาดไม่ใช่ทางออก

 

4. ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมอยู่ทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยเร็วที่สุด

 

5. หากต้องการปฏิรูปจริงก็ขอให้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ขอความกรุณาเข้าใจว่าสังคมไทยมีความเห็นแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งต่อรัฐธรรมนูญปี 50 และต่อการปฏิรูปที่หลายฝ่ายเสนออยู่ การหาข้อยุติจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

 

6. ในการดำเนินการต่างๆต่อจากนี้ไป หวังว่าท่านจะคำนึงถึงความเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

 

ข้อเสนอต่อผู้รักประชาธิปไตย

 

ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ประชาชนจะแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และการดำเนินการใดๆที่สืบเนื่องจากการรัฐประหาร

 

ขอเสนอให้การเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยเป็นไปโดยสันติวิธี พร้อมที่จะรับกับสภาพที่สังคมไทยอาจจะตกอยู่ในวิกฤตที่ยืดเยื้ออีกนานหลายปี

 

ปัญหาของบ้านเมืองได้สะสมกันมามาก ในหลายปีมานี้ประชาธิปไตยที่ประชาชนเราพยายามรักษากันตลอดมาได้ค่อยๆร่อยหรอลง จนในที่สุดเราก็ต้องสูญเสียประชาธิปไตยไปจากการรัฐประหาร จากนี้ไปกฎกติกาของบ้านเมืองจะเป็นอย่างไรก็ยังมีความเห็นที่ต่างกันอย่างมากในสังคมไทย จำเป็นที่ผู้รักประชาธิปไตยจะต้องช่วยกันคิดว่า กติกาที่เป็นประชาธิปไตยควรเป็นอย่างไร และจะทำอย่างไรให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับและสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

ข้อเสนอต่อประชาคมโลก

 

ขอขอบคุณรัฐบาลประเทศต่างๆและองค์กรระหว่างประเทศทั้งหลาย ที่ห่วงใยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทย ที่ได้พยายามหาทางระงับยับยั้งไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน และที่ได้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการประกาศใช้กฎอัยการศึกและการทำรัฐประหารครั้งนี้

ขอขอบคุณที่ได้เรียกร้องให้คณะรัฐประหารคืนความเป็นประชาธิปไตย และให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด

หวังว่าความช่วยเหลือตามหลักประชาธิปไตยบนพื้นฐานของความเป็นอารยประเทศนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

ขอขอบคุณพี่น้องสื่อมวลชน

 

ขอขอบคุณที่ช่วยเสนอข่าวสารข้อเท็จจริงให้สาธารณชนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ทราบตลอดมา

 

ขอบคุณที่เสนอข่าวการชี้แจงครั้งนี้

 

ขอย้ำว่า"ความจริง"เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการแก้ปัญหาวิกฤตของทุกสังคม"

 

ขอขอบคุณทุกท่าน

จาตุรนต์ ฉายแสง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง