The SHIFT of Consumer Insight  เปิดสถิติคนไทยคุยกันบนโซเชียลมีเดีย 7.2 พันล้านข้อความ 84% แบรนด์ใช้โซเชียลมีเดีย 2 แพลตฟอร์มขึ้นไปสื่อสารกับผู้บริโภค
logo TERO HOT SCOOP

The SHIFT of Consumer Insight เปิดสถิติคนไทยคุยกันบนโซเชียลมีเดีย 7.2 พันล้านข้อความ 84% แบรนด์ใช้โซเชียลมีเดีย 2 แพลตฟอร์มขึ้นไปสื่อสารกับผู้บริโภค

1,526 ครั้ง
|
04 มี.ค. 2563
         ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย)  ผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลอันดับ 1 ในประเทศไทย จัดงาน Thailand Zocial Awards 2020 ครั้งที่ 8 อย่างยิ่งใหญ่ภายใต้คอนเซ็ปต์ SHIFT: Make it SHIFT เพื่อพานักการตลาดยกระดับการทำงานกับโซเชียลมีเดีย โดยแบ่งงานออกเป็น 2 วัน คือ Forum Day (27 กุมภาพันธ์ 2563) งานสัมมนาที่รวบรวมแพลตฟอร์มชั้นนำมาขึ้นเวทีมากที่สุดถึง 15 แพลตฟอร์ม และ Awards Day (28 กุมภาพันธ์ 2563) งานประกาศรางวัลสำหรับคนโซเชียลเพื่อเชิดชูแบรนด์ อินฟลูเอนเซอร์ และบุคคลในวงการบันเทิงที่ทำผลงานได้ดีเยี่ยม 
 
 
 
 
          กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดงาน   Thailand Zocial Awards 2020 Forum Day ด้วยการบรรยายพิเศษในหัวข้อ The SHIFT of Consumer Insight ที่มาเผยถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเริ่มด้วยการเปิดสถิติจำนวนข้อความบนโลกโซเชียลตลอด ปี 2019 ที่สูงถึง 7.2 พันล้านข้อความ สูงขึ้นจากปีก่อน 36% ขณะที่จำนวนผู้ใช้งานในโซเชียลมีเดียไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนผู้ใช้งานอยู่ที่ 74% เท่ากับปีที่แล้ว ในส่วนของแบรนด์ที่ไวซ์ไซท์เก็บข้อมูลจาก 1,399 แบรนด์ พบว่า 84% ของแบรนด์ใช้โซเชียลมีเดียตั้งแต่ 2 แพลตฟอร์มขึ้นไปในการสื่อสารกับผู้บริโภคเพื่อให้สามารถสื่อสารได้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น  ซึ่งกล้าเผยว่า ในแต่ละแพลตฟอร์มจะมีค่ากลางเพื่อใช้วัดผลการสื่อสารบนโซเชียลมีเดียว่า มีประสิทธิภาพหรือทำได้ดีพอหรือไม่ เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น ในแพลตฟอร์ม YouTube มีค่ากลาง คือ ถ้าได้รับค่าวิว 630,480 วิว จะถือว่าคลิปนั้นมีประสิทธิภาพ และถ้าเจาะลึกลงในกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้านมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนมรวมถึงโยเกิร์ต ไอศกรีม  ต้องมีค่าวิวถึง 9,074,842 วิว ถึงจะเรียกว่ามีประสิทธิภาพ  เป็นต้น 
 
 
 
            ในด้านของอินฟลูเอนเซอร์ก็มีการเปลี่ยนแปลงการนำเสนอเนื้อหา โดยจะเห็นว่าหลายๆ คนมีเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่หมวดหมู่ที่ถูกกำหนดไว้ โดยมากกว่า 97% ของอินฟลูเอนเซอร์มีการนำเสนอเนื้อหาข้ามหมวดหมู่ตั้งแต่ 2 หมวดขึ้นไป เช่น อินฟลูเอนเซอร์หมวดความสวยงามเริ่มหันมานำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือออกกำลังกายมากขึ้น และยังคงได้รับความนิยมสูงจากผู้ติดตาม รวมถึงกระจายเนื้อหาไปได้ในวงกว้างมากขึ้น ทำให้การวัดผลที่ผ่านมาอาจจะไม่สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของอินฟลูเอนเซอร์อีกต่อไป แบรนด์จึงพลาดโอกาสในการเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะสมกับแผนการตลาดอย่างแท้จริง ไวซ์ไซท์จึงได้พัฒนามาตรฐานการวัดประสิทธิภาพของอินฟลูเอนเซอร์ที่พลิกโฉมวงการที่เรียกว่า Influencer Report ซึ่งเป็นการจัดอันดับผลงานของอินฟลูเอนเซอร์ทั้งตลาดในทุกด้าน เพื่อให้แบรนด์สามารถเลือกอินฟลูเอนเซอร์ได้ตรงกับแผนการตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ไวซ์ไซท์ยังให้ความสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลให้ลึกขึ้นเพื่อค้นหาความต้องการที่ซ่อนอยู่บนโลกโซเชียลของผู้บริโภคผ่านการทำงานและเครื่องมือต่างๆ ที่มีให้บริการอยู่  
 
 
 
 
 
             ซึ่งในปีนี้สิ่งที่แบรนด์ควรจะต้องให้ความสำคัญคือ การฟังเสียงของลูกค้าเพื่อรู้ให้ทันโลก และสามารถปรับตัวได้ทันกับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น รวมถึงต้องมองภาพรวมให้รอบด้าน เพื่อประเมินสถานการณ์และคู่แข่ง สุดท้ายคือควรเลือกใช้เครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประหยัดเวลาในการทำงาน และวางแผนรับมือได้อย่างทันท่วงที 
 
 
 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง