ปักหมุดเหตุการณ์สำคัญผู้ชายที่ชื่อ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' จากนักธุรกิจ สู่สนามการเมือง
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือ เอก ในวัยย่างเข้า 42 ปี อดีตรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท และได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 – 21 กุมภาพันธ์ 2563
ธนาธร จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างที่เรียนอยู่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธนาธรได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยทั้งเข้าร่วมเรียกร้องสิทธิเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน เรียกร้องความเป็นธรรม และยืนหยัดเพื่อความถูกต้องกับผู้คนหลากหลายกลุ่มในหลายสถานการณ์
อีกทั้งร่วมเรียกร้องสิทธิกับกลุ่มสมัชชาคนจน เขาอยู่ร่วมชาวบ้านสมัชชาคนจนตอนที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย และได้รับเลือกให้เป็นอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2542 นอกจากนั้น เขายังได้รับเลือกเป็น รองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในปี 2543 อีกด้วย ต่อมาได้ไปศึกษาต่อมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม ประเทศอังกฤษ อีก2ปี ซึ่งระหว่างนั้นได้เข้าร่วมกลุ่ม Socialist Worker Student Society ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งระดับนักศึกษาในอังกฤษ
หลังจากนั้นเขาสนใจเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ ธนาธรจึงได้ตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปริญญาโทใบที่ 2 สาขาการเงินระหว่างประเทศ ที่โรงเรียนธุรกิจสเติร์น มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และยังได้ศึกษาต่อปริญญาโทใบที่ 3 สาขากฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยซังคท์กัลเลิน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
นอกจากนี้ธนาธรยัง เป็นหลานแท้ ๆ ของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมัยรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถึงคู่เคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่ามีความเห็นทางการเมืองต่างกัน
ก้าวเข้าสู้สนามการเมือง
เขาตัดสินใจวางทุกสิ่งอย่าง ทั้งการเป็นผู้บริหารระดับสูง และการผจญภัยท่องโลกของเขา เพื่อลุกขึ้นเป็นตัวแทนให้ประชาชนชาวไทย ด้วยอุดมการณ์ และความหวังในการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย คืนอำนาจสูงสุดให้เป็นของประชาชน และในวันที่ 15 มีนาคม 2561 ธนาธร และ รศ. ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับผู้สนับสนุนจำนวน 24 คน ได้ยื่นขอจดทะเบียนพรรคการเมืองภายใต้ชื่อ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งได้รับมติเห็นชอบ 473 เสียง
มีการประชุมพรรคครั้งแรกในวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2561 ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนแรก พร้อมกับประกาศเจตนารมณ์ของพรรคในการยุติระบอบรัฐประหาร กลับคืนสู่ระบอบรัฐสภา สร้างประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้มั่นคงในสังคมไทย กระจายอำนาจ รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วม และได้รับการนับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลในวันที่ 3 ตุลาคม 2561 อีกทั้งตัวแทนผู้ใช้แรงงาน, ส.ส. ตัวแทน LGBT, สส. ตัวแทนชาติพันธุ์, และ ส.ส. ตัวแทนผู้พิการเข้าสู่สภา
และเมื่อครั้งเลือกตั้งในปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ชนะการเลือกตั้งใน 30 เขต และได้รับคะแนนมหาชนมากเป็นอันดับสาม รองจากพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย และยังเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมหาชนในกรุงเทพมหานครมากที่สุด และเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 62 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ผลการนับคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีการจัดเลือกตั้งใหม่ ผลปรากฎว่า น.ส.ศรีนวล บุญลือ ผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ ชนะการเลือกตั้งแบบขาดรอยด้วยคะแนนรวม 75,891 คะแนน ซึ่งถือว่า ส.ส.ที่มีคะแนนสูงที่สุดในประเทศ
พรรคอนาคตใหม่ และพันธมิตรทางการเมือง รวมทั้งพรรคเพื่อไทย แถลงร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ธนาธรได้รับข้อเสนอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อแลกกับการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่า ‘เขาปฏิเสธ’
ขอบคุณรูปภาพ มติชน
เหตุการณ์สำคัญ - บาดแผลในบทบาทนักการเมือง
29 มิถุนายน 2561 พ.อ. บุรินทร์ ทองประไพ ตัวแทนของ คสช. แจ้งข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 กรณีจัดรายการ "คืนวันศุกร์ให้ประชาชน" ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงการนำคะแนนเสียง สส. เพื่อเป็นเสียง คสช.
15 มีนาคม 2561 นายธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ จับมือกับนายปิยะบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ แถลงเปิดตัว-จดทะเบียนพรรค นำทีมคณะผู้ก่อตั้งพรรค 26 ชีวิตยื่นจดแจ้งพรรคต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยตั้งเป้าหมายเป็นพรรคทางเลือกใหม่ ในการนำพาสังคมกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตย
8 มีนาคม 2562 นายบุญถาวร ปัญญาสิทธิ์ ขอให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากการกระทำของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล มีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบ ประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะมีการใช้วาทกรรมว่าจะสานต่อภารกิจ ของคณะราษฎร 2475 ให้สำเร็จลุล่วง โดยไม่ได้ขยายความให้ชัดเจนว่าการสานต่อภารกิจนั้น รวมถึงการยังคงซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่หรือไม่
19 มีนาคม 2562 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือต่อ กกต. กรณี ธนาธรแถลงข่าวโอนทรัพย์สินไปให้กองทุน หรือ trust เป็นผู้ดูแล เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 ในเรื่องการจูงใจ หลอกลวง ให้เข้าใจ ในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง สร้างประเด็นเพื่อให้เกิดความนิยมในตัวเอง
29 มีนาคม 2562 ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล ร้องต่อ กกต. ให้ยุบพรรคการเมือง จากกรณีที่นายธนาธร ให้สัมภาษณ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ
3 เมษายน 2562 ถูกตั้งข้อหาปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง และให้ที่พักพิงแก่ผู้ต้องหาอื่น อ้างว่า จากเหตุการณ์ที่กลุ่มดาวดินทำกิจกรรมที่หอศิลปวัฒนธรรม เมื่อปี 2558 แล้วกลุ่มดังกล่าวหลบหนีไปด้วยรถตู้ของธนาธร
3 เมษายน 2562 เขาถูกยื่นคำร้องว่ามีคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ โดยให้เหตุผลว่าขณะสมัครรับเลือกตั้งยังถือหุ้นสื่ออยู่
10 พฤษภาคม 2562 นายศรีสุวรรณ ยื่นเรื่องต่อ กกต. กรณีมีหุ้นอยู่ในบริษัทที่แจ้งวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเกี่ยวกับสื่ออีก 13 บริษัท ที่มีหนึ่งในวัตถุประสงค์ตามหนังสือบริคณห์สนธิว่าประกอบกิจการเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ โรงพิมพ์ จัดพิมพ์ และเผยแพร่ ผู้ร้องเรียน
ขอบคุณรูปภาพ มติชน
20 พฤษภาคม 2562 นายศรีสุวรรณ ยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบกรณีนายธนาธร ให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงิน ระยะเวลาผ่อนชำระคืนที่ 3 ปี ดอกเบี้ย 3.75 ขัด พ.ร.บ. พรรคการเมือง ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ระบุว่า บุคคลหรือนิติบุคคลใดจะบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้พรรคการเมือง โดยมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปีมิได้
11 ตุลาคม 2562 โพสต์ข้อความชี้แจงผ่านแฟนเพจส่วนตัว เกี่ยวกับประเด็นถ่ายภาพคู่ ‘โจชัว หว่อง' หลังได้รับเชิญจากนิตยสาร The Economist ให้ขึ้นพูดที่งาน Open Future Festival ที่ฮ่องกง ยืนยันว่าเป็นการเจอกันครั้งแรก และเพียงแค่ถ่ายรูปกันเท่านั้น หลังถูกโยงว่าเป็นผู้ปลุกปั่นม็อบทางการเมืองฮ่องกง
18 ตุลาคม 2562 เข้าศาลรัฐธรรมนูญไต่สวน กรณีการถือครองหุ้นในธรุกิจสื่อ บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด
20 ตุลาคม 2562 ในการโหวตร่างพระราชบัญญัติงบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2563 วาระที่ 1 ซึ่งในวันดังกล่าวที่ประชุมฝ่ายค้านตกลงร่วมกันว่า 'งดออกเสียง' ที่ประชุมเห็นด้วย 251 คนงดออกเสียง 234 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน ในจำนวน 251 คน มี ที่เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ซึ่งมีชื่อ 'กวินนาถ ตาคีย์' โหวตเห็นด้วย ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน เพียงคนเดียวที่โหวตสวนมติพรรค
29 ตุลาคม 2562 สมาชิกอนาคตใหม่ลาออก 120 คน โดยให้เหตุผลการลาออกว่าเป็นปัญหาจากตัวผู้นำพรรค ที่ไม่มีสัจจะของผู้นำ ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง
14 พฤศจิกายน 2562 เสนอร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจไม่บังคับ และเดินหน้ารณรงค์ประเด็นนี้อย่างเต็มที่
ขอบคุณรูปภาพ มติชน
15 พฤศจิกายน 2562 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แถลงปิดคดีหุ้นวี-ลัค แจง 4 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นที่ 1 บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นสื่อหรือไม่
ประเด็นที่ 2 ยังเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในวันที่ 6 ก.พ. หรือไม่
ประเด็นที่ 3 การสื่อหุ้นสื่อ ผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
ประเด็นที่ 4. กระบวนการพิจารณาคดีมีความถูกต้อง เที่ยงธรรม และมีความเป็นธรรมกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือไม่
20 พฤศจิกายน 2562 ธนาธร ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า สิ้นสุดความเป็น ส.ส. จากคดีถือหุ้นสื่อ และลงพื้นที่รณรงค์ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ที่สยามสแควร์ในช่วงเย็น
1 ธันวาคม 2562 จัดเวทีบรรยายพิเศษ ตรวจสอบความโปร่งใสการใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะเงินนอกงบประมาณ ถือเป็นงานนอกสภาเต็มตัวครั้งแรก
11 ธันวาคม 2562 กกต. มีมติส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ปมนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปล่อยกู้พรรค 191 ล้านบาท
ขอบคุณรูปภาพ มติชน
14 ธันวาคม 2562 จัดกิจกรรมการชุมนุม (แฟลชม็อบ) บริเวณสกายวอล์กสี่แยกปทุมวัน หลังกกต.มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีให้พรรคกู้เงิน 191 ล้านบาท
17 ธันวาคม 2562 ขับ ส.ส.ของพรรคทั้ง 4 คนออกจากพรรค ประกอบด้วย 1.น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ 2.นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี 3.น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี และ 4.พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี เหตุโหวตสวนมติพรรค และให้สัมภาษณ์ในทำนองโจมตีพรรคในการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบของนายธนาธร
18 ธันวาคม 2562 เป็นโจทก์ฟ้องนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. และ กกต.อีก 6 คน ร่วมกันเป็นจำเลยฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งมาตรา 69
23 ธันวาคม 2562 ตำรวจสน.ปทุมวัน แจ้งความ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมพวก 4 ข้อหา กรณีจัดแฟลชม็อบ ณ สกายวอล์กสี่แยกปทุมวัน
25 ธันวาคม 2562 ศาลยกคำร้องธนาธรฟ้อง 7 กกต. ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งมาตรา 69
29 ธันวาคม 2562 เผยผลสำรวจบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ พบว่าคนหนุนธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่นั่งนายกรัฐมนตรี มาเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 31.42 เหตุผล เพราะอยากเห็นคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารบ้านเมือง
ขอบคุณรูปภาพ วิ่งไล่ลุง - Run Against Dictatorship
12 มกราคม 2563 ร่วมกิจกรรม 'วิ่งไล่ลุง' ที่สวนรถไฟ เขตจตุจักร
20 กุมภาพันธ์ 2563 นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นเอกสารร้องกรมป่าไม้ ให้ตรวจสอบกรณีที่ดิน 500 ไร่ ของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยมีนายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล รองอธิบดีกรมป่าไม้ เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563
- ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘ยุบพรรคอนาคตใหม่’ พร้อมตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 16 รายชื่อ และห้ามจัดตั้งพรรคใหม่ภายในระยะเวลา 10 ปี ในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีกู้ยืมเงินจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ 191.2 ล้านบาท
- เพจเฟซบุ๊กของพรรคเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ โดยตัดคำว่า 'พรรค' ออกเหลือเพียงคำว่า 'อนาคตใหม่'
นับว่า ‘พรรคอนาคตใหม่’ เป็นพรรคที่รับเสียงตอบรับจากประชาชนทั่วประเทศอย่างมาก ในระยะเวลาเพียง 1 ปี 4 เดือนกับอีก 18 วัน และถึงแม้ผลการวินิจฉัยในวันนี้จะเป็นวันสิ้นสุดพรรค แต่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยังคงประกาศจะยืนหยัดเดินหน้าต่อสู้ตามอุดมการณ์ ความฝัน และหัวใจที่เป็นประชาธิปไตยต่อไป