อภิสิทธิ์ แจงที่ประชุมวุฒิ ไม่เห็นด้วย ม.3 และ ม.7 ขอตัดสินใจรอบคอบ
logo ข่าวอัพเดท

อภิสิทธิ์ แจงที่ประชุมวุฒิ ไม่เห็นด้วย ม.3 และ ม.7 ขอตัดสินใจรอบคอบ

5,224 ครั้ง
|
13 พ.ค. 2557

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าชี้แจงแผนเดินหน้าประเทศไทย ต่อที่ประชุมวุฒิสภา ขอ ส.ว.ใช้อำนาจตัดสินใจก่อนบ้านเมืองจะเสียหายมากกว่า ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 3 และมาตรา 7 เพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะลุกขึ้นมาต่อต้าน ซ้ำรอยสมัยรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร เชื่อหากมีความชัดเจนกรอบเวลาเลือกตั้งหลังปฏิรูป รัฐบาลเอาด้วย วิงวอนประชาชนอย่ากดดันการทำหน้าที่วุฒิสภา ขณะที่วุฒิสภากำหนดกรอบทำงานให้แล้วเสร็จภายในศุกร์นี้

 

นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  เดินทางเข้าย้ำถึงจุดยืนในแผนเดินหน้าประเทศไทยต่อที่ประชุมนอกรอบของสมาชิกวุฒิสภา โดยเริ่มต้นการชี้แจงด้วยการยอมรับว่า  ตนเองไม่ได้มีความเป็นกลาง  และเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในปัจจุบัน และปัญหาทั้งหมดประชาชนสูญเสียความเชื่อมั่นกับนักการเมืองและพรรคการเมือง ซึ่งข้อเสนอของตนมีมาก่อนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะพ้นสภาพความเป็นรัฐมนตรี

 

โดยแนวทางปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นคำตอบให้กับประเทศในขณะนี้ แต่ยอมรับไม่มีฝ่ายใดจะได้ประโยชน์ทั้งหมด และข้อเสนอของตนไม่ได้ถูกใจทุกฝ่าย แต่เป็นทางออกที่จะแก้วิกฤตประเทศได้ เพราะหากยึดกฎหมายรัฐธรรมนูญ การเดินหน้าเลือกตั้งก็ไม่สามารถทำได้ เพราะตามข้อกฎหมายเมื่อไม่มีนายกรัฐมนตรี จะต้องเลือกตั้งภายใน 30 วัน โดยต้องเป็น ส.ส. แต่วันนี้ไม่มี ส.ส.ในสภา ดังนั้น จะต้องยึดเอาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือเทียบเคียงมาใช้

 

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความชื่นชมวุฒิสภาที่พยายามแก้ปัญหา แม้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ซึ่งต้องยอมรับว่า การพูดคุยกับทุกฝ่ายต้องพูดคุยกับผู้มีอำนาจคือ รัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะเชิญเข้ามา  พร้อมเตือนว่า การเชิญศาลหรือองค์กรอิสระเข้าร่วม จะต้องไม่ให้ดำเนินการอะไรที่เกินขอบเขต ไม่เช่นนั้นจะถูกดึงเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งทันที  สุดท้ายหากแนวทางนี้ไม่สำเร็จ วุฒิสภาจะต้องใช้อำนาจในการตัดสินใจ แม้จะมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะเสียหายมากกว่านี้

 

ด้านนายคำนูญ สิทธิสมาน  ส.ว.สรรหา  ถามนายอภิสิทธิ์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี  ถึงการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีของวุฒิสภา ว่า ครม.จะต้องลาออกทั้งคณะ แต่ขณะนี้ ครม.ไม่ลาออก จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้หรือไม่

 

นายอภิสิทธิ์   กล่าวถึงการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีใหม่ ว่า  ต้องให้ผู้มีอำนาจปัจจุบันเปิดทาง ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่า รัฐบาลไม่ปิดทางนี้ แต่ปัญหาคือ ต้องมีคำตอบให้รัฐบาลว่า ถ้าลุกจากอำนาจ จะมีเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และขอบข่ายรัฐบาลที่จะเข้ามาปฏิรูปมีมากน้อยแค่ไหน  และจะตีความมาตรา 7 อย่างไร  แต่เชื่อว่า หากเลือกแนวทางนี้ ฝ่ายไม่เห็นด้วยจะลุกมาต่อต้าน พร้อมยกตัวอย่างสมัยพลเอกสุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี  ซึ่งยืนยันว่า  ไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 3 และมาตรา 7 แก้ไขปัญหา 

 

พร้อมกันนี้ ฝากถึงประชาชนว่า  ถ้าอยากให้วุฒิสภาแก้ไขปัญหา ต้องให้ทำหน้าที่อย่างอิสระ พูดอย่างนี้ข้างนอกอาจจะไม่พอใจ เพราะเข้าใจว่า การต่อสู้เหน็ดเหนื่อย อย่ามอง ส.ว.ว่าตัดสินใจเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่เช่นนั้นปัญหาจะไม่จบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง