ตลอดปี 2019 ที่ผ่านมา เกิดเรื่องราวมากมาย ทั้งงานพระราชพิธีสำคัญ ประเด็นการเมือง สังคม อาชญากรรม จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญของประเทศที่ต้องจารึก เรื่องเล่าเช้านี้ขอรวบรวม 10 ประเด็นข่าวที่สุดแห่งเหตุการณ์ที่ต้องจารึกในปี 2019 มาให้ชมกัน
1.พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
นับว่าเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทยเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีอย่างสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ในเดือน พฤษภาคม 2562 นับว่าเป็นปีมหามงคลอีกปีหนึ่งของปวงชนชาวไทย
2.พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส
ถือเป็นอีกหนึ่งในพระราชพิธีมหามงคลที่ปวงชนชาวไทยต่างปิติยินดีอย่างหาที่สุดมิได้ สำหรับพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ครั้งยังทรงเป็นพลเอกหญิงสุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา สร้างความปลาบปลื้มใจต่อพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ
3.พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ถึงแก่อสัญกรรม
นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของคนไทยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ อดีตนายกรัฐมนตรีไทย 3 สมัย ได้ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 26 พ.ค.2562 ที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า ด้วยวัย 98 ปี ปิดตำนานป๋าเปรม แห่งบ้านสี่เสาเทเวศร์ ทั้งนี้ได้มีพระราชทานเพลิงศพ ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ในวันที่ 8 ธ.ค. 2562 ซึ่งมีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
4. การเลือกตั้งปี 2562
นับเป็นสิ่งที่คนไทยตั้งตารอคอยกันมายาวนานสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย พ.ศ. 2562 วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี 2557 ทำให้มีประชาชนเข้าไปใช้สิทธิกันอย่างล้นหลาม ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือต่างประเทศ
ซึ่งภายในระยะเวลาดังกล่าวได้มีการปรับเปลี่ยนกฎ กติกาการเลือกตั้งแบบใหม่ จนพรรคพลังประชารัฐ ที่เพิ่งก่อตั้งมาแรงแซงทางโค้ง การจัดตั้งพรรคการเมืองหน้าใหม่อย่าง พรรคอนาคตใหม่ที่ได้รับกระแสความนิยมในโลกออนไลน์ รวมถึงสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้น และเสียงวิจารณ์การทำหน้าที่ของ กตต.ในจากการเลือกตั้ง
5. ยุบพรรคไทยรักษาชาติ
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคไทยรักษาชาติได้สร้างความประหลาดใจแก่สังคมไทย โดยการยื่นพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของประเทศไทย ทว่าในคืนวันเดียวกัน ได้มีพระราชโองการจากพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว ร.๑๐ ซึ่งมีเนื้อหาใจความสำคัญว่า "พระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์...ไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดใดในทางการเมืองได้"
แต่ทว่าในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 ทางคณะกรรมการเลือกตั้ง ได้ทำการยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติตามมาตรา 92 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งต่อมาทางพรรคไทยรักษาชาติได้ยื่นเอกสารคำร้องคัดค้านการยุบพรรคต่อศาล
วันที่ 7 มีนาคม 2562 ทางศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติพร้อมตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง จดทะเบียนจัดพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งในเวลานั้นทางต่างประเทศได้มีเลือกตั้งสำหรับคนไทยในต่างแดนแล้ว ในวันที่ 4 - 16 มีนาคม 2562
6. การโหวตเลือกนายก
และนี่เป็นอีกเหตุการณ์ที่ประชาชนต่างให้ความสนใจ และจับตามองกันอย่างมาก สำหรับการโหวตเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562
ซึ่งบุคคลที่ทางที่ประชุมได้เสนอให้ลงมติมี 2 คน คือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งทางพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อชิงตำแหน่ง และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคอนาคตใหม่
ผลปรากฏว่าผู้ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย คือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชนะผลโหวตด้วยเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน 500 คะแนนต่อ 244 คะแนน
7.การประท้วงครั้งใหญ่ที่ฮ่องกง
เป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกต่างจับตาและให้ความสนใจเป็นอย่างมากกับการประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกงที่ยาวนานมากกว่า 6 เดือน
โดยจุดฉนวนของการประท้วงครั้งนี้เกิดจากการเรียกร้องให้ยกเลิกร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างฮ่องกงและจีน แผ่นดินใหญ่ ซึ่งชาวฮ่องกงกังวลว่าหากกฎหมายนี้สำเร็จ จะเป็นการริดรอนสิทธิ์และประชาธิปไตย อีกทั้งยังทำให้จีนสามารถแทรกแซงกระบวนการทางกฎหมายของฮ่องกงได้อย่างสมบูรณ์แบบ จนเกิดการลงถนนเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้
และถึงแม้ผู้บริหารฮ่องกงอย่างนาง แครี่ หล่ำ ได้ออกมาแขวนกฎหมายฉบับนี้ ก็ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจได้ จนเกิดปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่จนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง มีการทำลายอาคารสิ่งก่อสร้าง ปิดสนามบิน และยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งเหตุการณ์ลากยาวจนถึงวันที่ 1 ต.ค. ที่เป็นวันเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีของจีน
แม้จะมีการเจรจาระหว่างผู้ชุมนุมกับนางแครี่ หล่ำ ก็ไม่สามารถทำให้ทุกอย่างสงบลงได้ และสถานการณ์เริ่มรุนแรงมากขึ้น เมื่อทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุม จนมีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้
นับว่าเป็นการประท้วงครั้งที่รุนแรงที่สุดของฮ่องกง ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำเป็นปีแรกในรอบทศวรรษของฮ่องกง และไม่มีวี่แววจะสงบลงแม้แต่น้อย
8.ระเบิดป่วนกรุงฯ
ในปี 2562 มีเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนก อกสั่นขวัญแขวน ให้กับชาวกรุงเทพฯ เป็นอย่างมากนั่นก็คือเหตุการณ์ ระเบิดป่วนกรุงฯ ที่คนร้ายนำระเบิดไปวางไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่นสะพานลอย หรือ BTS ห้างสรรพสินค้าที่เป็นที่พลุกพล่าน สถานที่สำคัญ ส่วนราชการต่าง ๆ รวมกว่า 15 จุด สร้างความอลหม่านให้กับสังคม โดยเฉพาะคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงของประเทศไทย
พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ระบุว่าเหตุการณ์ระเบิดในครั้งนี้ ร้อยละ 80-90 เป็นระเบิดทางการเมือง และได้นำทีมสืบสวนสอบสวนคดีระเบิดที่เกิดหลายจุดในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งหลังเกิดเหตุไม่ถึง 10 ชั่วโมง สามารถจับผู้ต้องหาได้ทันที 2 คน คือ นายลูไอ แซแง อายุ 22 ปี ทำหน้าที่วางระเบิด และนายวิลดัน มาหะ อายุ 29 ปี ทำหน้าที่ดูต้นทางและคุ้มกัน โดยจับได้ที่จุดตรวจ จังหวัดชุมพร เบื้องต้นถูกแจ้งข้อหา อั้งยี่ซ่องโจร / มีวัตถุระเบิดไว้ในความครอบครอง / และพยายามฆ่า
โดยในเวลาต่อมาสามารถจับกุมตัว นายอาแบ ซึ่งเป็นหัวหน้าของกลุ่มมือวางระเบิดได้แล้ว สามารถติดตามจับกุมได้บริเวณตะเข็บชายแดนภาคใต้ ขณะกำลังหลบหนีออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยนายอาแบ หรือแบรี เป็นคนที่นำระเบิดให้นายลูไอและนายวิลดันพร้อมพวก บริเวณข้างห้างเจเจ มอลล์ ย่านจตุจักร กทม. เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ก่อนผู้ร่วมขบวนการจะนำระเบิดไปวางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและจุดอื่นๆ
9. 'พายุปาบึก' ภัยร้ายจากธรรมชาติ
ไม่มีสิ่งใดน่ากลัวไปกว่าภัยธรรมชาติ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทางภาคใต้ของประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยธรรมชาที่โหดร้ายของพายุโซนร้อน 'ปาบึก' (PABUK)โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เป็นจุดขึ้้นฝั่งของของพายุ ซึ่งในช่วงเวลาขณะนั้น ผู้มีการประกาศเป็นพื้นที่บริเวณแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนังเป็นพื้นที่สีแดง สั่งอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงและห้ามบุคคลเข้าพื้นที่เพื่อความปลอดภัย
โดยพายุปาบึกในขณะนั้นส่งผลกระทบต่อทางภาคใต้ของไทยเป็นเวลาประมาณ 3 วันคือ วันที่ 3-5 มกราคม 2562 ส่งผลไห้ในพื้นที่มีฝนตกหนักเพิ่มมากขึ้น ประกาศปิดสนามบินนครศรีธรรมราช
สำหรับชื่อพายุปาบึก นั้น ตั้งมาจากชื่อ ปลาบึก ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวทางมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกตอนบนและทะเลจีนใต้
10. ลัลลาเบล มหากาพย์พริตตี้สาว
หลังจากที่พริตตี้สาวที่มีชื่อเสียงในโลกออนไลน์ ลัลลาเบล-ธิติมา นรพันธ์พิพัฒน์ อายุ 25 ปี เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ อยู่บริเวณล็อบบี้ คอนโดฯ ย่านรัชดา-ราชพฤกษ์ ใกล้สถานีบีทีเอสตลาดพลู แขวงดาวคะนอง เขตธนบุรี กทม.
ซึ่งในขณะนั้นมี น้ำอุ่น หรือ นายรัชเดช วงศ์ทะบุตร อยู่กับผู้ตายเป็นคนสุดท้าย โดยน้ำอุ่นยืนยันว่าไม่ทราบว่าลัลลาเบลเสียชีวิตตอนไหน และยืนยันอีกว่าไม่ได้มอมยา และไม่ใช้ใช้สารเสพติดได ๆ ทั้งในตอนที่อุ้มลัลลาเบล ลงมานั้นรู้สึกเพียงว่าฝ่ายหญิงตัวเย็นเท่านั้น พร้อมทังยังบอกอีกว่างานในวันนั้น ตนและผู้ตายมีการแข่งดื่มเหล้าเพียว โดยตนเป็นคนเทเหล้า และผู้ตายดื่มไปมากว่า 10 ช็อต
ด้านเจ้าของปาร์ตี้ของบ้านบางบัวทอง เข้าให้ปากคำยืนยันว่า ภายในงานไม่มียาเสพติดหรือสารอันตรายอื่น ๆ เป็นการจ้างลัลลาเบลครั้งแรกให้มาเอ็นเตอร์เทนชงเหล้าเท่านั้น โดยจ้างตั้งแต่เวลา 13.00-17.00น. เป็นเงิน 3,000 บาท
ผลตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า ลัลลาเบลเสียชีวิตจากการดื่มสุรา โดยพบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดกว่า 418 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และไม่พบสารเสพติดในร่างกาย ทั้งจากการตรวจนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ ของลัลลาเลล ทำให้ทราบว่า บันทึกอัตราการเต้นของหัวใจ หยุดบันทึก ในเวลา 17.00 น.
ต่อมาศาลได้รับคำฟ้องนายน้ำอุ่นและแก๊งปาร์ตี้บางบัวทองจำนวน 6 ราย ในความผิด 4 ข้อหา ล่าสุด วันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ศาลให้ประกันตัวน้ำอุ่น และแก๊งปาร์ตี้บ้านบางบัวทองทั้ง 6 คน แต่ น้ำอุ่น ถูกควบคุมตัวไปดำเนินคดีในข้อหาซ่องโจรต่อ ส่วนแก๊งปาร์ตี้บ้านบางบัวทอง ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งยังปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา