กมธ. ค้านต่อสัมปทาน 'บีทีเอส' อีก 40 ปี เหตุใช้ม.44 เว้นกม.ไม่โปร่งใส ชี้ ปชช.ไม่ได้ใช้ รฟฟ.ในราคาที่ถูกลง
นายคริส โปตระนันทน์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญฯ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมาธิการหรือกมธ. วิสามัญว่า ได้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่าการต่อสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอส ไม่น่าจะใช่แนวทางที่ถูกต้อง เพราะคณะกรรมการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานนั้น เกิดจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามม.44 ซึ่งมีข้อยกเว้น พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน จึงมีข้อครหาว่า จะเกิดความไม่โปร่งใส รวมถึงไม่ดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมาย
ที่สำคัญทางตัวแทนคณะกรรมการฯ ไม่สามารถชี้แจงให้กมธ.เชื่อได้ว่า การต่อสัมปทานจะมีประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศมากที่สุดอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโอนหนี้ของรฟม.ที่จะโอนมาให้เป็นของกทม. หรือ การกำหนดราคาค่าโดยสารให้เป็นธรรม หลังจากการต่อสัมปทานออกไป ซึ่งทาง กมธ. เห็นว่า ไม่ได้เป็นเหตุผลที่ทำให้ประชาชนได้ใช้รถไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง และไม่ได้ก่อให้เกิดสิ่งที่ม.44 ต้องการ คือเป็นโครงข่ายเดียวกันของรถไฟฟ้าทั้งระบบ
ด้าน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า กมธ.ได้มีมติไม่ให้บีทีเอสต่อสัมปทานการเดินรถออกไปอีก 40 ปี ซึ่งสัมปทานที่เหลืออยู่จะหมดในปี 2572 หรืออีก 10 ปีข้างหน้านั้น ถือเป็นเส้นทางการเดินที่ถือเป็นไข่แดง และเป็นส่วนที่ทำเงินให้กับบีทีเอสมากกว่า 5,000 ล้านบาท
ดังนั้นเมื่อถึงปี 2572 ทุกอย่างจะต้องกลับคืนมาเป็นของรัฐบาล ซึ่งต่อไปจะมีผู้เดินรถทั้งใต้ดิน และลอยฟ้าเพียงเจ้าเดียว ซึ่งรัฐบาล โดยรฟม.เป็นผู้ดำเนินการ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า เพราะเมื่อในส่วนที่บีทีเอสได้กำไรมหาศาลกลับมาเป็นของรัฐบาล ก็จะสามารถนำส่วนนี้มาเป็นส่วนลดให้กับค่าโดยสารให้กับประชาชนได้ เพราะถ้าให้เอกชนทำ ไม่มีทางที่เอกชนจะลดค่าโดยสารลง
อย่างไรก็ตาม กมธ.จะนำข้อสรุปที่ได้จัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสภาก่อนส่งไปยังรัฐบาลต่อไป
+ อ่านเพิ่มเติม