จากกรณีที่มีชายคนหนึ่งลงแข่งขันดื่มเบียร์เร็ว 1 เหยือก จนล้มหมดสติและเสียชีวิตนั้น ล่าสุด (2 ก.ค.) กรมควบคุมโรคประกาศเตือนนักดื่มอย่าดื่มเบียร์ขณะท้องว่างแล้วดื่มทีเดียวในปริมาณที่เกินกว่า 200 mg ขึ้นไป อาจจะส่งผลช็อกและเสียชีวิตทันที
นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวถึงเหตุการเสียชีวิตของผู้ที่เข้าแข่งขันดื่มเบียร์ 1 เหยือกว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และมีคำยืนยันว่าเสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถือเป็นเคสแรกที่มีหลักฐานยืนยัน โดยพบว่าลักษณะของการดื่มเบียร์ที่มีความเข้มข้นของดีกรี 5% ในลักษณะรวดเร็ว ภายในเวลาไม่กี่นาทีทำให้แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดภาวะหมดสติและส่งผลให้เสียชีวิตได้ ขณะเดียวกันยังพบว่า ผู้เสียชีวิตไม่ได้รับประทานอาหารมาก่อนแล้วดื่มเบียร์ทันที จึงมีผลให้ปริมาณของแอลกอฮอล์เข้มข้นมากขึ้นในการเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทันไปแล้ว
โดยนายแพทย์ มีผลเปรียบเทียบว่ากรณีเมาไม่ขับ ระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายจะมีความสูงไม่เกิน 50 mg เปอร์เซ็นต์ แต่ในผู้เสียชีวิตกลับพบว่ามีระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายถึง 350 mg เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงมากจนอาจทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย
สำหรับการดำเนินคดีกรมควบคุมโรคจะร้องทุกข์กล่าวโทษฐานที่จัดการแข่งขันดื่มเบียร์ ตามความผิดพ.ร.บ ควบคุมแอลกอฮอล์ พ.ศ 2551 มาตรา 31 วงเล็บ 4 ให้บริการชิงโชคชิงรางวัลและสิทธิพิเศษแก่ผู้ดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนการดำเนินคดีอาญาเป็นเรื่องที่ทางครอบครัวของผู้เสียชีวิตจะต้องเป็นผู้ร้องทุกข์ต่อพนักงาน
ทั้งนี้กรมควบคุมโรคสรุปตารางระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อภาวะอาการที่จะเกิดขึ้นสำหรับผู้ดื่ม โดยระดับ 20-50 ผู้ดื่มจะอยู่ในภาวะอารมณ์ดีผ่อนคลายพูดมากขึ้นตัดสินใจช้าลง แต่เมื่อระดับสูงสุดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์แล้วผู้ดื่มจะเริ่มเสียการทรงตัวควบคุมตัวเองได้น้อยลง และระดับเกิน 199 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียนซึมสนองช้าเดินเซ รับรู้ลดลงมากกว่า จำเหตุการณ์ไม่ได้และหักมากกว่านั้นคือ 300 ถึง 399 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเกิดการหมดสติชีพจรเต้นช้า หายใจแย่ลง อุณภูมิร่างกายลดลง ที่มากกว่านั้นมีโอกาสที่จะหยุดหายใจ และเสียชีวิตได้
กรมควบคุมโรค ระบุว่าโดยทั่วไป นักดื่มมักจะค่อย ๆ ดื่ม ดื่มไปคุยกับเพื่อนไปกินกับแกล้มและเติมเบียร์ไป ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ร่างกายได้ค่อย ๆ ทำลายและขับแอลกอฮอล์ออกจากกระแสเลือด ซึ่งนั่นจะทำให้แอลกอฮอล์ไม่คั่งอยู่ในร่างกายของผู้ที่ดื่มมากนัก แต่ในกรณีแข่งดื่มเบียร์เป็นเหยือกในเวลาจำกัดนี้ จะมีลักษณะเหมือนเทแอลกอฮอล์พรวดเข้าไปในกระแสเลือด โดยไม่เว้นช่วงเวลาให้ร่างกายขับแอลกอฮอล์ออก จึงเกิดภาวะที่เรียกว่าแอลกอฮอล์เป็นพิษ (alcohol intoxication) ต่อร่างกาย
+ อ่านเพิ่มเติม