นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า วันนี้ (23 พ.ค.62) เวลา 10.00 น. สมาคมฯ จะเดินทางไปสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อทวงถามความคืบหน้าและขอข้อมูลการวินิจฉัยกรณีการถือครองนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ ป.ป.ช.เคยมีมติเอกฉันท์กรณีแหวนเพชร และมติ 5 : 3 ประเด็นนาฬิกาหรู ไม่มีมูลเพียงพอให้เชื่อว่า พล.อ.ประวิตร จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ให้คดียุติไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบ ส่วนประเด็นการรับทรัพย์สินที่ยืมจากผู้อื่นยังอยู่ในการพิจารณา ความดังทราบแล้วนั้น
กรณีดังกล่าว สมาคมฯ ได้มีหนังสือขอข้อมูลข่าวสารมายังสำนักงาน ป.ป.ช. แล้วตั้งแต่เดือน มกราคม 2562 แต่ยังไม่ได้รับคำตอบเลยแต่อย่างใด ครั้งนี้จึงต้องเดินทางมาทวงถามความคืบหน้าและขอข้อมูลอีกครั้ง โดยสมาคมฯได้ขอข้อมูลข่าวสาร ดังนี้
1. รายละเอียดของคำวินิจฉัยที่แท้จริงของกรรมการ ป.ป.ช.แต่ละท่านว่ามีคำวินิจฉัยแต่ละท่าน และคำวินิจฉัยรวมไว้อย่างไร? กรณีถือครองนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยสื่อสารมวลชนได้รายงานว่า ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์กรณีแหวนเพชร และมติ 5 : 3 ประเด็นนาฬิกาหรู ไม่มีมูลเพียงพอให้เชื่อว่า พล.อ.ประวิตร จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ให้คดียุติไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบ
โดยข้อมูลดังกล่าวผู้ร้องใคร่ขอสำเนาข้อมูลเกี่ยวกับรายงานและสํานวนการตรวจสอบ การสอบสวน หรือการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ สอบสวน หรือไต่สวนเบื้องต้นในกรณีดังกล่าว
2. ขอสอบถามความคืบหน้าของคำร้องในประเด็นที่เกี่ยวกับการรับทรัพย์สินที่ยืมจากผู้อื่น ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เข้าข่าย ‘การรับประโยชน์อื่นใด’ ที่มีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท ซึ่งขัดต่อ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 และหรือพรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 ที่ยังอยู่ในการพิจารณานั้น มีความคืบหน้าไปอย่างไรแล้วบ้าง?
ทั้งนี้ สืบเนื่องมากจากนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเรื่อง “การกู้ยืมเงิน” ของพรรคการเมืองโดยสรุประบุว่า “การกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองถือว่าเป็นรายได้ของพรรคการเมือง” ด้วยนั้น สามารถใช้เทียบเคียงกับกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ยืมนาฬิกาเพื่อนมาสวมใส่นั้นก็ถือว่าเป็นรายได้ที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องแจ้งรายได้ต่อ ป.ป.ช. ตามกฎหมายด้วยนั่นเอง แต่หากการมาขอข้อมูลครั้งนี้ ป.ป.ช.ยังเพิกเฉย ก็จะนำคำร้องไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเพื่อวินิจฉัยต่อไป และอาจต้องยื่นฟ้อง ป.ป.ช. ต่อศาลฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
+ อ่านเพิ่มเติม