พระราชสมภพ
“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” รัชกาลที่ ๑๐ เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕ เวลา ๑๗.๔๕ น. ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะโรง จัตวาศก อธิกวาร จุลศักราช ๑๓๑๔ นับเป็นปีที่ ๗ แห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
พระราชพิธีสมโภชเดือน และขึ้นพระอู่
เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ ๑ เดือน กับ ๑๘ วัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ระหว่างวันที่ ๑๔-๑๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๕ ทั้งพิธีพราหมณ์ พิธีสงฆ์ และถวายเห่กล่อม โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ในเย็นวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๕
เช้าวันรุ่งขึ้น (๑๕ กันยายน) จึงมีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ในห้องพิธี เริ่มด้วยพอถึงพระฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงจรดพระกรรบิดกริบพระเกศา ทรงเจิม ทรงผูกด้ายพระขวัญ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์ประกอบพิธีลอยกุ้ง ปลาทอง มะพร้าวเงิน มะพร้าวทอง ลงในพระขันสาคร แล้วพระสงฆ์ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา
พระมหาราชครูเชิญเสด็จขึ้นพระอู่และเห่กล่อมเปิดศิวาลัยไกรลาศตามประเพณีพิธีของพราหมณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงวางพระราชภัณฑ์ลงในพระอู่ตามพระราชประเพณีแล้ว พระมหาราชครูเชิญพระราชโอรสขึ้นพระอู่ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท เวียนเทียนครบรอบตามประเพณี ในวาระนี้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดขับไม้มโหรีขับกล่อมถวายพระพร และมีการถ่ายทอดเสียงในพระราชพิธีทางวิทยุไปทั่วประเทศ
ต่อมาเมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ ๑ พรรษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระนาม ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นผู้ตั้งถวายพระนามตามดวงพระชะตาว่า
“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ
เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร
กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร”
ทรงอธิบายเป็นพระมงคลนามตามพระราชตระกูล คือได้อัญเชิญพระนามฉายาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระไปยิกาธิราช ซึ่งปรากฏในขณะทรงพระผนวชว่า วชิรญาณะ ผนวกกับ อลงกรณ์ จากพระนาม “จุฬาลงกรณ์” ของรัชกาลที่ ๕
การศึกษา
"สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ" ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ ๑ เมื่อเดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ เมื่อพระชนมายุ ๔ พรรษา ณ โรงเรียนจิตรลดา ชั้นอนุบาล ตั้งอยู่ ณ พระที่นั่งอุดร ในพระราชวังดุสิต ต่อมาโรงเรียนย้ายไปตั้งในบริเวณพระราชฐานสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต
จากนั้นในเดือนมกราคม-กันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๙ ทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกซ์ ประเทศอังกฤษ และในเดือน กันยายนปีเดียวกันนั้นได้เสด็จฯ ไปทรงศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟีลด์ เมืองสตรีต แคว้นซอเมอร์เซ็ต ประเทศอังกฤษ จนถึงเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓
ต่อจากนั้นในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓ ทรงรับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ เขตพาร์รามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงศึกษาอยู่จนถึงเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๔ แล้วทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (ด้านการทหาร) จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๙
หลังจากนั้นทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรประจำ ชุดที่ ๕๖ ระหว่างพุทธศักราช ๒๕๒๐-๒๕๒๑ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๐ และทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๓ ด้วย
สมเด็จพระยุพราช
เมื่อมีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ” เฉลิมพระอิสริยยศในตำแหน่ง สมเด็จพระยุพราชมกุฎราชกุมาร อันเป็นตำแหน่งพระรัชทายาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้น และประกาศสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” พระองค์ที่ ๓ ของไทย เพื่อรับราชสมบัติ ปกครองราชอาณาจักรสืบสนองพระองค์ โดยมีพระนามาภิไธยตามจารึกพระสุพรรณบัฏว่า
“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”
ในมงคลวาระนั้น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร” ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณในการพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมุ่งมั่นจะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อชาติบ้านเมืองและประชาชนชาวไทย เป็นที่ซาบซึ้งประทับใจพสกนิกรอย่างยิ่ง ดังความว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยเฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรท่ามกลางสันนิบาตนี้ว่า
ข้าพเจ้าผู้เป็น สยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมืองจะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละเพื่อความเจริญสงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทยจนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่”
ผนวช
ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน พระบรมราชานุญาต ให้ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร” ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง เป็นเวลา ๑๕ วัน โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์, และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับถวายสมณนาม ว่า “วชิราลงกรโณ” ประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนทรงลาสิกขา ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๑
การรับราชการ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับราชการเป็นนายทหารประจำกรมข่าวทหารบก กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๘
จากนั้นทรงดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑
ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๒๓
ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๗
ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑
ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๕
และทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ–๕ อี/เอฟ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗
การฝึกอบรมทางทหาร
ทรงเข้ารับการฝึกอบรมทางทหารต่าง ๆ รวมถึงทรงศึกษางานด้านการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนของกระทรวงกลาโหม ทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ ที่นครเพิร์ท รัฐออสเตรเลียตะวันตก ระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
หลักสูตรและการฝึก
ทรงฝึกเพิ่มเติมในหลักสูตรวิชาอาวุธพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีการรบนอกแบบ
หลักสูตรต้นหนชั้นสูง
หลักสูตรการลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูง
หลักสูตรส่งอากาศ
หลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ ใช้งานทั่วไปแบบยูเอช–๑ เอช ของบริษัทเบลล์ จำนวนชั่วโมงบิน : ๕๙.๓๖ ชั่วโมง และหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ เอเอช–๑ เอส คอบรา ของบริษัทเบลล์ ระหว่างเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒ ถึงเดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๓
หลังจากนั้นทรงเข้ารับการฝึก และทรงศึกษาตามโครงการช่วยเหลือทางทหารของกองทัพสหรัฐอเมริกา ที่ฟอร์ตแบรกก์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ในเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓ ตามหลักสูตรดังนี้
หลักสูตรอาวุธประจำกายและเครื่องบินยิงลูกระเบิด
หลักสูตรการปฏิบัติการพิเศษ
หลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้าย
หลักสูตรการสงครามแบบกองโจร
หลักสูตรการฝึกการดำรงชีพ
หลักสูตรส่งทางอากาศ (ทางบกและทางทะเล)
แล้วทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบยูเอช–๑ เอช และเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปแบบยูเอช–๑ เอ็น ของบริษัทเบลล์ จำนวนชั่วโมงบิน : ๒๔๙.๕๖ ชั่วโมง ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓
จากนั้นทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ (แบบยูเอช–๑ เอช ของบริษัทเบลล์) ของกองทัพบกไทย จำนวนชั่วโมงบิน : ๕๔.๕๐ ชั่วโมง ในเดือนกันยายน-ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓
เข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัวแบบ Siai - Marchetti SF ๒๖๐ MT จำนวนชั่วโมงบิน : ๑๗๒.๒๐ ชั่วโมง ในเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓ ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๔
ทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัวแบบ Cessna T – ๓๗ จำนวนชั่วโมงบิน : ๒๔๐ ชั่วโมง เดือนมีนาคม-กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔
ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการทางทหารและตำรวจที่ประเทศอังกฤษ, เบลเยียม, สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, เนเธอร์แลนด์, สาธารณรัฐฝรั่งเศส และออสเตรเลีย
จากนั้นทรงเข้ารับการศึกษาหลักสูตรการบินเปลี่ยนแบบเป็นเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ–๕(พิเศษ) รุ่นที่ ๘๓(พุทธศักราช ๒๕๒๖) เอ ที ดับบลิว และหลักสูตรเครื่องบินขับไล่ชั้นสูง รุ่นที่ ๘๓ (พุทธศักราช ๒๕๒๖) เอ วี ดับบลิว ที่ฐานทัพอากาศวิลเลียมส์ รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา จำนวนชั่วโมงบิน : มากกว่า ๒,๐๐๐ ชั่วโมง ในเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕ ถึงเดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๒๖
การปฏิบัติการรบ
ขณะทรงปฏิบัติหน้าที่ด้านการทหาร ได้ทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชาที่เขาล้าน จังหวัดตราด
ขอบคุณข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย / มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช