พระชัยประจำรัชกาล
[พฺระ-ไช-ปฺระ-จำ-รัด-ชะ-กาน]
พระชัยประจำรัชกาล ตามหมายกำหนดการพระราชพิธีจะใช้ว่า พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์
ประจำรัชกาล[พฺระ-พุด-ทะ-ปะ-ติ-มา-ไช-ยะ-วัด-ปฺระ-จำ-รัด-ชะ-กาน]มีราชประเพณีมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ครั้งยังไม่ได้ครองราชย์มีพระพุทธรูปประจำพระองค์ที่เชิญไปในราชการศึกสงครามทุกครั้ง ซึ่งเรียกว่า
พระชัยหลังช้าง[พฺระ-ไช-หฺลัง-ช้าง] เมื่อทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว โปรดให้เชิญไป
ประดิษฐานหน้าพุทธบัลลังก์ [พุด-ทะ-บัน-ลัง]พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร [พฺระ-พุด-ทะ-มะ-หา-มะ-นี-
รัด-ตะ-นะ-ปะ-ติ-มา-กอน]ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทำให้ขาดพระพุทธรูปสำหรับ
ทรงสักการะเป็นประจำ ณ พระราชมณเฑียร จึงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นแทน ถวายนามว่า พระชัย
[พฺระ-ไช] ต่อมารัชกาลที่ ๔ทรงเติมสร้อยเป็น “พระชัยวัฒน์” [พฺระ-ไช-ยะ-วัด] แต่เดิมคำว่า ชัย
ใช้ไม้มลาย
ในรัชกาลต่อ ๆ มาจึงถือเป็นราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์เมื่อทรงรับบรมราชาภิเษกแล้ว
จะทรงหล่อพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาล
ปัจจุบันนี้มีพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๗ และรัชกาลที่ ๙ เว้นรัชกาลที่ ๘ เพียงรัชกาลเดียว
เครื่องนมัสการทองคำลงยาราชาวดี
เครื่องนมัสการทองคำลงยาราชาวดี หรือเรียกอย่างย่อว่า “เครื่องนมัสการทองลงยาราชาวดี”
ประกอบด้วยพานทองคำปากกลม ๑๐ พาน วางพุ่มดอกไม้ ๕ พาน พุ่มข้าวตอก ๕ พาน เชิงธูป ๕ เชิง
เชิงเทียน ๕ เชิง หุ้มด้วยทองคำ พาน เชิงธูป และเชิงเทียนสลักลวดลายลงยาราชาวดีทั้งสิ้น
เครื่องนมัสการทองคำลงยาราชาวดีสำรับนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
โปรดให้สร้างขึ้น ทรงใช้สักการบูชาพระพุทธรูปสำคัญในงานพระราชพิธีและการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย[อำ-มะ-ริน-วิ-นิด-ไฉ]บ้าง พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทบ้างในบางโอกาส
ในรัชกาลต่อมา ทรงใช้เครื่องนมัสการทองคำลงยาราชาวดีในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธี
เฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธีสงกรานต์ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันสวรรคตพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสักการะพระบรมศพ พระบรมอัฐิ
ฉัตร
ฉัตร คือเครื่องกั้น มีลักษณะเป็นร่มซ้อนชั้นและมีระบาย เป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
[เคฺรื่อง-เบน-จะ-ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน]
ตามที่เข้าใจกันมา ฉัตร ๙ ชั้นสำหรับพระมหากษัตริย์ ฉัตร ๗ ชั้นสำหรับพระมหาอุปราช ฉัตร ๕ ชั้นสำหรับเจ้านาย อย่างไรก็ดี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ [เจ้า-ฟ้า-กฺรม-พฺระ-ยา-นะ-ริด-สะ-รา-นุ-วัด-ติ-วง]มีพระดำริปรากฏในลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ว่าเป็นการเข้าใจผิด พระมหากษัตริย์ทรงกั้นได้ตั้งแต่ฉัตรชั้นเดียวจนถึง ๙ ชั้น ดังจะเห็นได้จากพระกลดเป็นฉัตรชั้นเดียว ชุมสายเป็นฉัตร ๓ ชั้น เครื่องพระอภิรุมเป็นฉัตร ๕ ชั้น ฉัตรพระคชาธารเป็นฉัตร ๗ ชั้น ฉัตรพระแท่นเศวตฉัตรเป็นฉัตร ๙ ชั้น ส่วนพระมหาอุปราชที่กำหนดพระยศใช้ฉัตร ๗ ชั้น แปลว่าจะใช้ได้ไม่เกิน ๗ ชั้น เจ้านายที่กำหนดว่าใช้ฉัตร ๕ ชั้น แปลว่าจะใช้ได้ไม่เกิน ๕ ชั้น ส่วนเกินขึ้นไปนั้น เมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเป็นพิเศษจึงใช้ได้
เศวตฉัตร
[สะ-เหฺวด-ตะ-ฉัด]
คำว่า เศวตฉัตร แปลว่าฉัตรขาว ใช้เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้น เมื่อกล่าวว่า
ชิงฉัตร จึงหมายถึงแย่งชิงแผ่นดินมาปกครอง ดังลิลิตเตลงพ่าย พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระ
ปรมานุชิตชิโนรส มีร่ายว่า พระเจ้ากรุงหงษาวดีตรัสกับเหล่าอำมาตย์ว่ากรุงศรีอยุธยา“ผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราช เยียววิวาทชิงฉัตร” นั่นคือ กรุงศรีอยุธยามีการผลัดแผ่นดินเปลี่ยนกษัตริย์ อาจมีการวิวาทแย่งชิงแผ่นดิน
มาปกครอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเคยมีพระราชปุจฉาว่า เศวตฉัตรมีกี่ชั้น
พระธรรมอุดมและพระพุทธโฆษาจารย์ได้ศึกษาคัมภีร์ต่าง ๆ มีเนื้อความต้องกัน เช่น มโนรถปุรณีอรรถกถา
[มะ-โน-รด-ปุ-ระ-นี-อัด-ถะ-กะ-ถา] อังคุตรนิกาย[อัง-คุด-ตะ-ระ-นิ-กาย] ปัญจกนิบาต [ปัน-จะ-กะ-นิ-บาด]
มีข้อความตอนหนึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ท่านจงเลงแลดูสิริสมบัติของเรา เรานอนเหนือที่สิริไสยาสน์
ภายใต้เศวตฉัตรเจ็ดชั้น” ดังนั้น ท่านจึงถวายวิสัชนาว่า เศวตฉัตรสำหรับราชาภิเษกมี ๗ ชั้น
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๙ นั้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญฉัตร ๙ ชั้นไปปัก
กั้นเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ [พัด-ทฺระ-บิด]แทนฉัตร ๗ ชั้นที่มีมาแต่เดิม
พระบวรเศวตฉัตร
[พฺระ-บอ-วอน-สะ-เหฺวด-ตะ-ฉัด]
พระบวรเศวตฉัตร เป็นฉัตรขาว ๗ ชั้น แต่ละชั้นมีระบายขลิบทองแผ่ลวด ๓ ชั้น ชั้นล่างสุดห้อยอุบะ
ดอกจำปาทอง ลักษณะของฉัตรมีรูปแบบเช่นเดียวกับฉัตร ๙ ชั้น หรือพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร [พฺระ-นบ-พะ-ปะ-ดน-มะ-หา-สะ-เหฺวด-ตะ-ฉัด] กางกั้นเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์[อัด-ถะ-ทิด-อุ-ทุม-พอน-
ราด-ชะ-อาด] ซึ่งเป็นพระแท่น ๘ เหลี่ยมทำด้วยไม้มะเดื่อ อยู่ทางด้านตะวันออกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๙ เมื่อสรงพระมุรธาภิเษกแล้ว ทรงเครื่องบรมขัตติยราช-
ภูษิตาภรณ์[เคฺรื่อง-บอ-รม-มะ-ขัด-ติ-ยะ-ราด-ชะ-พู-สิ-ตา-พอน]ทรงฉลองพระองค์ครุย เสด็จออกประทับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ภายใต้พระบวรเศวตฉัตรทรงรับน้ำเทพมนตร์จากพราหมณ์และน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภาจนครบทั้ง ๘ ทิศ แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ [พัด-ทฺระ-บิด]ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เพื่อทรงรับพระสุพรรณบัฏและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ [เคฺรื่อง-สิ-หฺริ-
ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน]
พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร
[พฺระ-นบ-พะ-ปะ-ดน- มะ-หา-สะ-เหฺวด-ตะ-ฉัด]
พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรเป็นฉัตร ๙ ชั้น เดิมหุ้มด้วยผ้าตาด รัชกาลที่ ๔ โปรดให้เปลี่ยนเป็นผ้าขาว
มีระบาย ๓ ชั้น ขลิบทองแผ่ลวดห้อยอุบะจำปาทอง ยอดฉัตรรูปแหลมทรงเจดีย์ สำหรับปักกางกั้นเหนือ
พระราชบัลลังก์ตามราชประเพณี ถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ [เคฺรื่อง-ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน]สำคัญยิ่งกว่า
สิ่งอื่นๆ
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพร
ราชอาสน์ [อัด-ถะ-ทิด-อุ-ทุม-พอน-ราด-ชะ-อาด]พระราชครูพราหมณ์เชิญพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร
[พฺระ-นบ-พะ-ปะ-ดน-มะ-หา-สะ-เหฺวด-ตะ-ฉัด]ขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย แล้วเจ้าหน้าที่เชิญตามเสด็จ
ไปยังพระที่นั่งภัทรบิฐ [พัด-ทฺระ-บิด]เพื่อทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ [เคฺรื่อง-ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน]
เครื่องขัตติยราชวราภรณ์[เคฺรื่อง-ขัด-ติ-ยะ-ราด-ชะ-วะ-รา-พอน] และเครื่องขัตติยราชูปโภค [เคฺรื่อง-ขัด-ติ-ยะ-รา-ชู-ปะ-โพก] แสดงความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์
พระนพปฎลมหาเศวตฉัตรกางกั้นเหนือพระแท่นบรรทมในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน [จัก-กฺระ-พัด-
พิ-มาน] และกางกั้นเหนือพระราชบัลลังก์ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย [อำ-มะ-ริน-
วิ-นิด-ไฉ] พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งอนันตสมาคม
ศิวาลัยไกลาส หรือ ศิวาลัยไกรลาส
ศิวาลัย มาจากคำภาษาสันสกฤต ศิว[สิ-วะ] หมายถึง พระศิวะ กับคำภาษาบาลีและสันสกฤต
อาลย[อา-ละ-ยะ]หมายถึง บ้าน ที่อยู่ ส่วน ไกลาส หรือ ไกรลาส มาจากคำภาษาสันสกฤต ไกลาส
[ไก-ลา-สะ] เป็นชื่อภูเขาซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของพระศิวะ รวมแล้ว ศิวาลัยไกลาส หรือ ศิวาลัยไกรลาส
มีความหมายว่า เขาไกลาสอันเป็นที่สถิตแห่งพระศิวะ
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก [บอ-รม-มะ-รา-ชา-พิ-เสก]เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน
จากพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ [อัด-ถะ-ทิด-อุ-ทุม-พอน-ราด-ชะ-อาด] ไปประทับยังพระที่นั่งภัทรบิฐ
[พัด-ทฺระ-บิด]พระราชครูพราหมณ์จะกล่าวเวทสรรเสริญเปิดศิวาลัยไกลาส เพื่อเชิญพระศิวะให้เสด็จมาสถิต
ยังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันเนื่องด้วยคติความเชื่อสืบมาในสยามประเทศว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ
[สม-มด-ติ-เทบ]
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ (๑)
[เคฺรื่อง-เบ็น-จะ-ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน]
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วยคำว่า เครื่อง เบญจ [เบ็น-จะ] ราช [รา-ชะ] และกกุธภัณฑ์ [กะ-กุด-ทะ-พัน] คำว่า เบญจ [เบ็น-จะ] แปลว่า ๕ คำว่า กกุธภัณฑ์ [กะ-กุด-ทะ-พัน] หมายถึง สิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นพระราชา เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
จึงหมายถึงสิ่งของเครื่องใช้ ๕ สิ่งที่เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นพระราชา
ตามตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยา เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ พระมหามงกุฎ
พระขรรค์ไชยศรี [พฺระ-ขัน-ไช-สี] พัชนีฝักมะขาม [พัด-ชะ-นี-ฝัก-มะ-ขาม] ธารพระกร และฉลองพระบาท
ในสมัยรัตนโกสินทร์ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ของรัชกาลที่ ๑ ยังคงเหมือนสมัยอยุธยา ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์มีพระมหาเศวตฉัตรอยู่ด้วย แต่ตั้งแต่สมัย
รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี
[พฺระ-แสง-ขัน-ไช-สี] ธารพระกร วาลวิชนี [วา-ละ-วิด-ชะ-นี] (พัชนีกับพระแส้จามรี) และฉลองพระบาท โดยมิได้นับพระมหาเศวตฉัตรรวมอยู่ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ (๒)
[เคฺรื่อง-เบ็น-จะ-ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน]
เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ในแต่ละสมัยแตกต่างกันบ้าง สมัยอยุธยานั้นหนังสือปัญจราชาภิเษก
[ปัน-จะ-รา-ชา-พิ-เสก] มีข้อความว่า “ลักษณะเครื่องสำหรับราชาภิเษกของสมเด็จพระมหากษัตริย์นั้น
คือพระมหามงกุฏ ๑ พระภูษาผ้ารัตตกัมพล [ผ้า-รัด-ตะ-กำ-พน] ๑ พระขรรค์ ๑ พระเศวตฉัตร ๑
เกือกทองประดับแก้วฉลองพระบาท ๑”
ครั้นสมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๑ พงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี [เจ้า-พฺระ-ยา-ทิ-พา-กอ-ระ-วง-มะ-หา-โก-สา-ทิบ-บอ-ดี] มีข้อความว่า “เบญจราชกกุธภัณฑ์ คือ พระมหามงกุฎ
พระแสงขรรค์ ธารพระกร พระพัดวาลวิชนี ฉลองพระบาท” คือเปลี่ยนจากผ้ารัตกัมพล [รัด-ตะ-กำ-พน]
และเศวตฉัตร เป็นธารพระกรและพัดวาลวิชนี [พัด-วา-ละ-วิด-ชะ-นี] สมัยรัชกาลที่ ๒ ไม่มีพระมหามงกุฎ
และฉลองพระบาท แต่มีเศวตฉัตรและพระแสงดาบ สมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๙ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ พระมหามงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี [พฺระ-แสง-ขัน-ไช-สี] ธารพระกร วาลวิชนี [วา-ละ-วิด-ชะ-นี]
(พัชนีกับพระแส้จามรี) และฉลองพระบาท คือกลับไปเหมือนสมัยรัชกาลที่ ๑
พระมหาพิชัยมงกุฎ
[พฺระ-มะ-หา-พิ-ไช-มง-กุด]
พระมหาพิชัยมงกุฎ เดิมเรียกว่า พระมหามงกุฎ เป็นเครื่องศิราภรณ์สำหรับพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
[เคฺรื่อง-เบ็น-จะ-ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน] สำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ลักษณะเป็นมงกุฎทรงกระโจม ปลายเรียวแหลม ทำด้วยทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี ประดับด้วยเพชรและอัญมณีต่างสี ประกอบด้วยเกี้ยวรักร้อยสามชั้น มีดอกประจำยามประจำทั้ง ๔ ด้านทุกชั้น หลังมาลัยรักร้อยแต่ละชั้น
ทำเป็นจอมประดับด้วยกระจังรายและดอกไม้ไหววงรอบ เหนือมาลัยรักร้อยชั้นสามทำเป็นยอดทรงน้ำเต้าเรียว ปลายส่วนนี้ทำมาลัยดอกมะเขือรัดรอบสำหรับรับบัวกลุ่มและส่วนปลายสุดของมงกุฎประดับด้วยเพชรลูกขนาดใหญ่ลูกหนึ่งชื่อมหาวิเชียรมณี [พฺระ-มะ-หา-วิ-เชียน-มะ-นี] นอกจากนี้ ยังมีเครื่องประดับประกอบกับพระมหาพิชัยมงกุฎอีกสิ่งหนึ่งคือ พระกรรเจียกสำหรับทรงประดับด้านหลังพระกรรณทั้ง ๒ ข้าง เมื่อทรง
พระมหาพิชัยมงกุฎ
พระแสงขรรค์ชัยศรี
[พฺระ-แสง-ขัน-ไช-สี]
พระแสงขรรค์ชัยศรี ใบพระขรรค์ทำด้วยเหล็กกล้า ลักษณะแบนยาว กลางใบยกเป็นสันยาวแต่โคน
ไปจดปลาย ส่วนโคนใบคอดเล็กน้อย ส่วนปลายแบนแผ่กว้างและปลายแหลม มีคมที่ใบพระขรรค์ทั้ง ๒ ข้าง
ตรงโคนพระขรรค์จำหลักเป็นภาพเทพเจ้าคร่ำทองข้างละ ๒ องค์อยู่ในเรือนแก้ว ส่วนกั่นพระขรรค์สอดเข้า
ด้ามไม้หุ้มทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี มีฝักทำด้วยไม้หุ้มทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี
ประดับอัญมณีต่างสี
ธารพระกรชัยพฤกษ์
[ทาน-พฺระ-กอน-ไช-ยะ-พฺรึก]
ธารพระกร เป็นราชาศัพท์ของคำว่า ไม้เท้า
ธารพระกรชัยพฤกษ์ เป็นหนึ่งใน ๕ ของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์กลึงเป็นลำกลม หุ้มทองคำเกลี้ยงทั้งองค์ ส่วนหัวทำเป็นหัวเม็ดหุ้มทองคำ ส่วนส้นเป็นสามง่าม ทำด้วยเหล็ก
ธารพระกรองค์นี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อต้นแผ่นดิน แต่เดิมเรียกว่า “ธารพระกรง่าม” ชื่อนี้ปรากฏอยู่ในหมายรับสั่งว่าด้วยเครื่องราชูปโภคจะสร้างใหม่ในสมัยนั้น ดังนี้
“เครื่องจะได้ทำขึ้นใหม่ พระไชยใหญ่ [พฺระ-ไช-ไหฺย่] ๑ เล็ก ๑ แผ่นทองพระสุพรรณบัฏ ๑
พระมหาสังวาล ๑ พระมหาสังข์ทอง ๑ พระมหาสังข์เงิน ๑ พระมหามงกุฎ ๑
ฉลองพระบาท ๑ พัชนีฝักมะขาม ๑ ธารพระกรง่าม ๑”
วาลวิชนี
[วา-ละ-วิด-ชะ-นี]
วาลวิชนี จัดเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ [เคฺรื่อง-เบ็น-จะ-ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน]
หมายรวมทั้งพัชนีและพระแส้จามรี
พัชนี คือ พัดทำด้วยใบตาลรูปกลมรี ขอบเลี่ยมทองคำจำหลักลายลงยาราชาวดี นมพัดรูปอย่าง
พุ่มข้าวบิณฑ์ ทำด้วยทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดีทั้งสองข้าง ด้ามพัดทำด้วยทองคำเป็นคันกลมยาว
จำหลักลวดลายลงยาราชาวดี ส้นทำเป็นหัวเม็ด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้
สร้างขึ้นเมื่อต้นแผ่นดิน เรียกว่า “พัชนีฝักมะขาม”
พระแส้จามรี คือแส้ทำด้วยขนหางจามรี [จาม-มะ-รี] เป็นพุ่มสีขาวนวลประกอบติดกับด้ามทำด้วยแก้ว
ส่วนจงกลรับพู่ขนจามรีและส้นด้ามทำด้วยทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้น และให้ใช้คู่กับพัชนีฝักมะขามตั้งแต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในแผ่นดินนั้น
เป็นต้นมา
ฉลองพระบาทเชิงงอน
ฉลองพระบาทเชิงงอน เป็นหนึ่งใน ๕ ของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ [เบ็น-จะ-ราด-ชะ-กะ-กุด-
ทะ-พัน] ลักษณะเป็นอย่างรองเท้าแตะ ปลายแหลมงอนขึ้นเล็กน้อย ส่วนหุ้มหลังพระบาททำด้วยทองคำจำหลักลายลงยาราชาวดี พื้นฉลองพระบาททำด้วยทองคำบุผ้ากำมะหยี่สีแดง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้น
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ขณะประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ [พฺระ-ที่-นั่ง-พัด-ทฺระ-บิด]
พระมหาราชครูทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องขัตติยราชวราภรณ์ [ขัด-ติ-ยะ-ราด-ชะ-วะ-รา-พอน] ได้แก่
พระสังวาลพราหมณ์ธุรำ พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ [นบ-พะ-รัด-ราด-ชะ-วะ-รา-พอน] พระสังวาล
พระนพ และเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี [พฺระ-แสง-ขัน-ไช-สี]
ธารพระกรชัยพฤกษ์ [ทาน-พฺระ-กอน-ไช-ยะ-พฺรึก] วาลวิชนี [วา-ละ-วิด-ชะ-นี] แล้วสอดฉลองพระบาท
เชิงงอนถวายเป็นลำดับสุดท้ายในบรรดาเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ จากนั้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
เครื่องขัตติยราชูปโภค [ขัด-ติ-ยะ-รา-ชู-ปะ-โพก] อื่น ๆ ต่อไป
คณะกรรมการเฉพาะกิจจัดทำคำอธิบายราชาศัพท์เพื่อเผยแพร่
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ข่าวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่10