อธิไทโพธิบาต
[อะ-ทิ-ไท-โพ-ทิ-บาด]
อธิไทโพธิบาต เป็นกลุ่มเทวดา ๘ องค์ แต่ละองค์เป็นเทวดาประจำทิศแต่ละทิศ ได้แก่ ๑. พระอินทร์
ประจำทิศบูรพา ๒. พระเพลิง ประจำทิศอาคเนย์ ๓. พระยม ประจำทิศทักษิณ ๔. พระนารายณ์ ประจำ
ทิศหรดี [หอ-ระ-ดี] ๕. พระวรุณ ประจำทิศประจิม ๖. พระพาย ประจำทิศพายัพ ๗. พระโสม ประจำทิศอุดร และ ๘. พระไพสพ ประจำทิศอีสาน เทวดาอธิไทโพธิบาตรนี้พบในตำราว่าด้วยอุบาทว์ที่เกิดแต่เทวดา
แต่ละองค์ ซึ่งบันทึกไว้ในสมุดไทย และจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม [วัด-พฺระ-เชด-ตุ-พน-วิ-มน-
มัง-คะ-ลา-ราม] นอกจากนี้ ยังพบเขียนเป็นรูปตกแต่งบานหน้าต่างพระมณฑปยอดทรงมงกุฎ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามด้วย
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีการตั้งเทวรูปอธิไทโพธิบาตบนตั่งรอบพระที่นั่งอัฐทิศ [อัด-ถะ-ทิด]ตามทิศที่เทวดาแต่ละองค์ประจำอยู่ โดยตั้งหน้าบุกษกเทวดานพเคราะห์ก่อนวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และถอนไปในวันบรมราชาภิเษก
พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน
[พฺระ-ที่-นั่ง-บุด-สะ-บก-มา-ลา-มะ-หา-จัก-กฺระ-พัด-พิ-มาน]
พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน หรือเรียกสั้น ๆ ว่า พระที่นั่งบุษบกมาลา อยู่ในพระที่นั่ง
อมรินทรวินิจฉัย [อะ-มะ-ริน-วิ-นิด-ไฉ, อำ-มะ-ริน-วิ-นิด-ไฉ] เป็นพระราชบัลลังก์บุษบก ประดิษฐานเหนือฐาน
ปูนปั้นทองแกมแก้ว องค์บุษบกสร้างในรัชกาลที่ ๑ เป็นบุษบกแบบมีเกริน[เกฺริน] หัวท้าย ทำด้วยไม้จำหลักลายปิดทองประดับกระจกบางแห่ง ฐานบุษบกสร้างในรัชกาลที่ ๓ เป็นฐานปูนประกอบลายปูนปั้นปิดทองประดับกระจก เดิมพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมานเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์เมื่อเสด็จออกมหาสมาคมในโอกาสต่าง ๆ ต่อมาจัดเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญในการพระราชพิธีและการพระราชกุศล เช่น วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ซึ่งเป็นวันเริ่มการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๖ มีการตั้งพระสัมพุทธพรรณี
[พฺระ-สำ-พุด-ทะ-พัน-นี] ที่พระที่นั่งบุษบกมาลา เพื่อให้รัชกาลที่ ๖ ไปทรงนมัสการในตอนบ่ายวันเดียวกัน ดังที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า “เจ้านายผู้ชายคอยอยู่แล้วในพระที่นั่งอมรินทร์. ฉันเข้าไปถึงก็จุดเครื่องนมัสการบูชาพระสัมพุทธพรรณี, ซึ่งประดิษฐานบนพระที่นั่งบุษบกมาลา”
ตั้งน้ำวงด้าย
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเริ่มด้วยการ “ตั้งน้ำวงด้าย” รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อ
วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ ซึ่งเป็นวันเริ่มงานพระราชพิธีไว้ว่า “การสวดมนตร์วันนี้เรียกว่า ‘ตั้งน้ำวงด้าย’”
ตั้งน้ำคือตั้งภาชนะที่ใส่น้ำสำหรับพระราชพิธี วงด้ายคือวงสายสิญจน์รอบบริเวณพิธี จดหมายเหตุพระราชพิธี
บรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๖ มีข้อความเกี่ยวกับการตั้งน้ำวงด้ายว่า “แลตั้งพระขันหยกมีเทียนทองสำหรับพระราชพิธี
พระครอบพระกริ่ง พระมหาสังข์กับพระเต้าน้ำพระพุทธมนต์ต่าง ๆ ... วงสายสิญจน์สะพานจากพระแท่นมณฑล
แยกเลียบไปตามผนังเหนือลวดบัวทั้งสองด้าน ... โยงสายสิญจน์จากสพานมาสำหรับพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์
ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย[อะ-มะ-ริน-วิ-นิด-ไฉ, อำ-มะ-ริน-วิ-นิด-ไฉ] พระที่นั่งไพศาลทักษิณแลพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน[จัก-กฺระ-พัด-พิ-มาน] ทุกสายที่สวดมนต์ แล้วต่อออกไปวงรอบพระมหามณเฑียรที่ทำ
พระราชพิธีทั้งสิ้น แลวงไปที่มณฑปพระกระยาสนาน แล้ววงต่อออกไปวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วย”
เทียนชัย
เทียนชัยเป็นเทียนขี้ผึ้งที่จุดตามฤกษ์ที่โหรคำนวณในพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูป พิธีมังคลาภิเษก
วัตถุมงคล และในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เทียนชัยมีน้ำหนัก ๘๐ บาท ความสูงเท่าประธานของงาน
จำนวนไส้เทียน ๑๐๘ เส้น
พิธีพุทธาภิเษกหรือพิธีมังคลาภิเษก ประธานในพิธีจุดเทียนชนวนถวายประธานสงฆ์ ประธานสงฆ์
รับเทียนแล้วบริกรรมคาถาจุดเทียนชัย พระสงฆ์ในมณฑลพิธีเจริญพระพุทธมนต์พุทธาภิเษกหรือพิธี
มังคลาภิเษก[มัง-คะ-ลา] เมื่อเสร็จพิธีนิมนต์พระสงฆ์อีกรูปหนึ่งบริกรรมคาถาดับเทียนชัย
ในพิธีเบื้องต้นก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยัง
พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ได้เวลาพระฤกษ์ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ทรงจุดเทียนทอง ทรงตั้ง
พระราชสัตยาธิษฐาน [พฺระ-ราด-ชะ-สัด-ตะ-ยา-ทิด-สะ-ถาน] แล้วถวายเทียนนั้นแด่สมเด็จพระสังฆราช
เพื่อเสด็จไปทรงจุดเทียนชัยในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย [อำ-มะ-ริน-วิ-นิด-ไฉ] เสร็จแล้วกลับไปนั่งที่เดิม พระราชาคณะผู้ใหญ่อ่านประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระสงฆ์ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เจริญพระพุทธมนต์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เชิญเครื่องสักการะเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หลังจากสมเด็จพระสังฆราชทรงจุดเทียนชัยแล้ว พระมหากษัตริย์
ผู้ทรงรับรัชทายาทจะทรงจุดเทียนชนวนสำหรับให้มหาดเล็กเชิญไปใช้จุดธูปเทียนในการสักการะเทวดาและ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ สถานที่สำคัญ ซึ่งมีจำนวนต่างกันในแต่ละรัชกาล
เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ๑๘ องค์สมัยรัชกาลที่ ๙ ได้แก่ พระสยามเทวาธิราช เทวดาประจำพระมหา
เศวตฉัตรในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย [อำ-มะ-ริน-วิ-นิด-ไฉ]พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งอนันตสมาคม หุ่นฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเครื่องต้นที่ห้องภูษามาลา พระอิศวร พระนารายณ์ และพระคเณศร์ ณ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ พระหลักเมือง พระเสื้อเมือง พระกาฬชัยศรี [พฺระ-กาน-ไช-สี]พระเพลิง พระเจตคุปต์ [พฺระ-เจด-ตะ-คุบ] เทวรูป ณ หอแก้วพระภูมิ เทวรูป ณ หอเชือก และเทวรูป ณ ตึกดิน
พระสยามเทวาธิราช
พระสยามเทวาธิราช เป็นเทวรูปยืนสูงประมาณ ๘ นิ้ว ทรงเครื่องกษัตริยาธิราช [กะ-สัด-ตฺริ-ยา-ทิ-ราด] พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกจีบเสมอพระอุระ มีเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์อยู่เบื้องหลัง ที่เรือนแก้วมีคำจารึกเป็นอักษรจีนแปลความได้ว่า เทพยดาผู้สิงสถิตรักษาสยามประเทศ
พระสยามเทวาธิราชนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า เมืองไทยมีเหตุการณ์
ที่เกือบจะต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นมาได้เสมอ ชะรอยจะมีเทพยดาองค์ใด
องค์หนึ่งคอยพิทักษ์รักษาอยู่ สมควรจะทำรูปเทพพระองค์นั้นขึ้นไว้สักการบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
โปรดกระหม่อมให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการทรงปั้นรูปเทพองค์นั้นแล้วหล่อขึ้น ถวายนามว่า
พระสยามเทวาธิราช ปัจจุบันประดิษฐาน ณ พระวิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในหมู่พระมหามณเฑียร
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่าวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่
ทางจันทรคติของไทย จึงโปรดให้บวงสรวงพระสยามเทวาธิราชเป็นพระราชประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน
ภาณวาร
[พาน-นะ-วาน]
คำว่า ภาณวาร[พาน-นะ-วาน] ประกอบด้วยคำว่า ภาณ [พา-นะ] ในภาษาบาลี ซึ่งแปลว่า การสวด การกล่าว และคำว่า วาร[วาน] มาจากคำภาษาบาลีและสันสกฤต วาร [วา-ระ] แปลว่า คราว ครั้ง วัน
คำว่า “ภาณวาร” จึงแปลว่า คราวแห่งการสวด วาระแห่งการสวด ใช้เรียกข้อความในคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น
ในพระสูตรสำหรับสาธยายเป็นคราว ๆ กำหนดเป็นตอน ๆ เรียกรวมว่า จตุภาณวาร[จะ-ตุ-พาน-นะ-วาน]
คือ มี ๔ ภาณวาร มีการสวดภาณวารในพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดังพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี [เจ้า-พฺระ-ยา-ทิ-พา-กอ-ระ-วง-มะ-หา-โก-สา-ทิ-บอ-ดี]มีข้อความว่า “เสด็จขึ้นในพระมหามณเฑียรที่ห้องพระบรรทม ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ แล้วสรวม [สวม] พระมหามงคล ซึ่งสอดด้วยสายสิญจน์สูตร ทรงสดับพระราชาคณะสงฆ์สมถะ ๕ รูป สวดพระจัตุภาณวาร [จัด-ตุ-พาน-นะ-วาน]จบพระตำนานแล้ว ประโคมแตรสังข์ฆ้องไชยกังสดาลดุริยดนตรีมโหรีพิณพาทย์”
พระมหามงคล
พระมหามงคลเป็นราชาศัพท์ที่ใช้เรียกด้ายสีขาวที่ทำเป็นวงกลมสำหรับสวมพระเจ้าพระมหากษัตริย์
ก่อนวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ
ณ ที่นั้นพระสงฆ์ ๓๐ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธาน และพระสงฆ์ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
[อะ-มะ-ริน-วิ-นิด-ไฉ, อำ-มะ-ริน-วิ-นิด-ไฉ] ๔๕ รูป เจริญพระพุทธมนต์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนชนวน ตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน [พฺระ-ราด-ชะ-สัด-ตะ-ยา-ทิด-สะ-ถาน] แล้วถวายเทียนชนวนแด่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อเสด็จไปทรงจุดเทียนชัยในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระราชาคณะเจ้าคณะรองอ่าน
ประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนพระมหามงคล เทียนเท่าพระองค์
ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราช พระที่นั่งอัฐทิศ [อัด-ถะ-ทิด]พระที่นั่งภัทรบิฐ [พัด-ทฺระ-บิด]
โหรบูชาเทพดา[เทบ-พะ-ดา]นพเคราะห์
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน [จัก-กฺระ-พัด-พิ-มาน]ทรงพระมหามงคล
และทรงสดับพระสงฆ์ ๕ รูป เจริญพระพุทธมนต์พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร จบแล้วทรงถอด
พระมหามงคลเสด็จพระราชดำเนินไปพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงจุดธูปเทียนบูชาเทพดานพเคราะห์
ใบสมิต
ใบสมิต เป็นใบไม้มงคลที่พราหมณ์จัดทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในโอกาสครบรอบนักษัตร เช่น
๕ รอบ ๖ รอบ
ใบสมิตประกอบด้วยใบไม้ ๓ ชนิด คือ ใบมะม่วง ๒๕ ใบ แทนปัญจวีสมหภัย[ปัน-จะ-วี-สะ-มะ-หะ-ไพ]๒๕ ประการ เป็นใบไม้ป้องกันภยันตราย [พะ-ยัน-ตะ-ราย] ใบทอง ๓๒ ใบ ทวดึงสกรรมกรณ
[ทะ-วะ-ดึง-สะ-กำ-มะ-กะ-ระ-นะ]๓๒ ประการ เป็นใบไม้ป้องกันอุปัทวันตราย [อุ-ปัด-ทะ-วัน-ตะ-ราย,
อุบ-ปัด-ทะ-วัน-ตะ-ราย]และใบตะขบ ๙๖ ใบ แทนฉันวุติโรค [ฉัน-นะ-วุด-ติ-โรก]๙๖ ประการ เป็นใบไม้ป้องกันโรคันตราย [โร-คัน-ตะ-ราย]
พราหมณ์นำใบไม้แต่ละชนิดดังกล่าวมัดเป็นช่อแล้วหุ้มโคนช่อด้วยผ้าขาว ทำพิธีตามลัทธิ
ของพราหมณ์ แล้วนำไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธี โดยประธานพราหมณ์
ถวายน้ำพระมหาสังข์ก่อน แล้วจึงถวายใบสมิต ทรงรับครั้งละช่อ แล้วใช้ปัดพระองค์จากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง
ทั้ง ๓ ช่อ ช่อละ ๓ ครั้ง แล้วพระราชทานคืนแก่พราหมณ์นำกลับไปทำพิธีโหมกูณฑ์ [โหมฺ-กูน] คือพิธีบูชาไฟ
ณ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสร็จแล้วนำเถ้าไปลอยน้ำเพื่อให้สิ่งไม่ดีทั้งหลายไปกับสายน้ำ
อมรินทราภิเษกมหาปราสาท
[อำ-มะ-ริน-ทฺรา-พิ-เสก-มะ-หา-ปฺรา-สาด]
อมรินทราภิเษกมหาปราสาท เอกสารบางฉบับใช้ว่า อินทราภิเษกมหาปราสาท[อิน-ทฺรา-พิ-เสก-มะ-หา-ปฺรา-สาด] เป็นชื่อพระมหาปราสาทที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้ถ่ายแบบ
พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท[สัน-เพ็ด-ปฺรา-สาด]ซึ่งใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาสืบเนื่องมาหลายพระองค์ มาสร้างขึ้นเป็นพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท แล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๗ ดังมีข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี [เจ้า-พฺระ-ยา-ทิ-พา-กอ-ระ-วง-มะ-หา-โก-สา-ทิบ-บอ-ดี]ว่า “ให้ยกยอดพระมหาปราสาทข้างต้น มีพรหมพักตร์ [พฺรม-มะ-พัก] แลปักพุ่มข้าวบิณฑ์บนปลายยอด แล้วพระราชทานนามว่า พระที่นั่งอมรินทรา
ภิเศกมหาปราสาท”พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาท
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๒ อสนีบาต[อะ-สะ-นี-บาด] ตกต้องหน้าบันมุขเด็จพระที่นั่งอมรินทราภิเษก
มหาปราสาท แล้วเลยลุกลามไหม้พระมหาปราสาททั้งองค์ รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดให้สร้างพระมหาปราสาทขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท”
พระมหามณเฑียร
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างพระมหามณเฑียรขึ้นโดยมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ใช้เป็นมณฑลพระราชพิธีในการพระราชพิธีปราบดาภิเษก และทรงใช้เป็นที่ประทับตลอดรัชกาล
ต่อมาพระมหามณเฑียรใช้เป็นมณฑลพระราชพิธีสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสืบเนื่องกันมา
หมู่พระมหามณเฑียร ประกอบด้วยพระที่นั่งและหอต่าง ๆ ติดต่อกันรวม ๗ องค์ ได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน[จัก-กฺระ-พัด-พิ-มาน]พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน
[อำ-มะ-ริน-วิ-นิด-ไฉ-มะ-ไห-สู-ระ-ยะ-พิ-มาน] พระที่นั่งเทพสถานพิลาส [เทบ-สะ-ถาน-พิ-ลาด]
พระที่นั่งเทพอาสน์พิไล [เทบ-พะ-อาด-พิ-ไล] หอพระสุลาลัยพิมาน และหอพระธาตุมณเฑียร
การสรงพระมุรธาภิเษกและการรับน้ำอภิเษก
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพระมหากษัตริย์สรงพระมุรธาภิเษก[สง-พฺระ-มุ-ระ-ทา-พิ-เสก]
ที่มณฑปพระกระยาสนานแล้ว ยังเสด็จไปประทับรับน้ำอภิเษกที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ [อัด-ถะ-ทิด-อุ-ทุม-พอน-ราด-ชะ-อาด] ด้วย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงอ้างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ว่าพระองค์
ทรงพระราชดำริวินิจฉัยไว้ว่า ตำราราชาภิเษกของไทยคงจะว่าไว้เป็น ๒ อย่าง คือ อย่างใหญ่กับอย่างย่อ
การสรงด้วยมณฑปพระกระยาสนานเป็นการทำอย่างใหญ่ ประทับรับอภิเษกบนพระที่นั่งอัฐทิศเป็นการทำอย่างย่อ แต่ผู้อำนวยการพิธีไม่เข้าใจจึงทำหมดทุกอย่าง อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า
กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์มีพระดำริว่าอาจวินิจฉัยเรื่องนี้ไปอีกอย่างหนึ่งได้ คือ การสรงที่มณฑปพระกระยาสนานนั้น เป็นการสรงเพื่อชำระพระองค์ให้สะอาดก่อนเข้าพิธี ส่วนการเสด็จขึ้นพระที่นั่งอัฐทิศเป็นการขึ้นตั่งรับอภิเษก
มณฑปพระกระยาสนาน
มณฑปพระกระยาสนาน หรือ พระมณฑปพระกระยาสนาน เป็นสถานที่สรงสนานสำหรับพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ลักษณะเป็นมณฑปหุ้มผ้าขาวแต่งด้วยเครื่องทองคำ เพดาน
ดาดผ้าขาว มีสหัสธารา [สะ-หัด-สะ-ทา-รา] สำหรับไขน้ำพระมุรธาภิเษกจากบนเพดานให้โปรยลงยังที่สรง
ผูกพระวิสูตรขาวทั้ง ๔ ด้าน ภายในมณฑปตั้งตั่งอุทุมพรบนถาดทองรองน้ำสรง วันสรงพระมุรธาภิเษก
ตั้งถาดสรงพระพักตร์ มีครอบมุรธาภิเษกสนาน และวางใบไม้นามวันกาลกิณีสำหรับทรงเหยียบ
บนฐานมณฑปตั้งราชวัติทรงเครื่องพื้นขาวลายทอง ตั้งฉัตร ๗ ชั้นทองแผ่ลวดพื้นโหมดทองเงินนาคทั้ง ๔ ด้าน ด้านละ ๓ องค์ มีบุษบกน้อยสำหรับประดิษฐานพระชัยนวโลหะ[พฺระ-ไช-นะ-วะ-โล-หะ]ทางทิศตะวันออกและประดิษฐานพระมหาพิฆเนศ[พฺระ-มะ-หา-พิ-คะ-เนด] ทางทิศตะวันตก ที่มุมฐานมณฑปทั้ง ๔ มุม
ตั้งศาลจัตุโลกบาล[จัด-ตุ-โลก-กะ-บาน]สำหรับบูชาพระฤกษ์
หอพระสุลาลัยพิมาน
หอพระสุลาลัยพิมาน ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ เขียนว่า “หอพระสุราลัยพิมาน” ก็มี
เป็นหอขนาดเล็ก สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๑ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีมุขกระสัน
ต่อเนื่องระหว่างองค์พระที่นั่งกับหอพระสุลาลัยพิมาน เดิมเรียกว่า หอพระเจ้า คือหอพระสำหรับ
พระมหากษัตริย์ทรงสักการะปูชนียวัตถุสำคัญเป็นส่วนพระองค์
หอพระสุลาลัยพิมาน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ [พฺระ-พุด-
ทะ-ปะ-ติ-มา-ไช-ยะ-วัด] ประจำรัชกาล พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร ๔ องค์ และพระพุทธรูป
ประจำพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก่อนสรงพระมุรธาภิเษก พระมหากษัตริย์จะทรงสักการะพระพุทธรูปสำคัญในหอพระสุลาลัยพิมาน และทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์เป็นฉลองพระองค์เศวตพัสตร์ [สะ-เหฺวด-ตะ-พัด] หลังจากสรงพระมุรธาภิเษกแล้ว จะทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์เป็นฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์
[ฉะ-หฺลอง-พฺระ-อง-บอ-รม-มะ-ขัด-ติ-ยะ-ราด-ชะ-พู-สิ-ตา-พอน] ณ ที่นี้
ฉลองพระองค์เศวตพัสตร์
คำว่า เศวตพัสตร์[สะ-เหฺวด-ตะ-พัด]แปลว่า ผ้าขาว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีขั้นตอนสำคัญตอนหนึ่งคือ สรงพระมุรธาภิเษก ซึ่งใช้น้ำที่ทำพิธีตักจากแหล่งน้ำสำคัญในราชอาณาจักรไทย แล้วทำพิธีเสกน้ำ
ในพระอุโบสถของวัดที่ได้กำหนดไว้ แล้วจึงนำมาผสมกับน้ำเทพมนตร์ [น้ำ-เทบ-พะ-มน]ของคณะพราหมณ์
ในการสรงพระมุรธาภิเษกพระมหากษัตริย์จะทรงฉลองพระองค์เศวตพัสตร์ ประทับเหนืออุทุมพร
ราชอาสน์ [อุ-ทุม-พอน-ราด-ชะ-อาด] ในมณฑปพระกระยาสนาน ฉลองพระองค์เศวตพัสตร์ลักษณะเป็น
ผ้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๒ ผืน ผืนหนึ่งขนาดเล็กสำหรับทรงสะพักเฉียงพระอังสา อีกผืนหนึ่งขนาดใหญ่สำหรับทรงแบบจีบหน้านาง
ผ้าทรงสะพักนำทองคำมารีดเป็นแผ่นบาง ๆ แล้วตัดเป็นเส้นขนาดความกว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร เย็บติดกับริมขอบผ้าทั้ง ๔ ด้าน
ส่วนผ้าสำหรับทรง นำแผ่นทองคำขนาดเดียวกันกับที่ติดผ้าทรงสะพักมาเย็บติดขอบชายผ้าเฉพาะด้านล่างขนานกัน ๒ เส้น
ประโคม
คำว่า ประโคม อาจมาจากคำภาษาเขมร ปฺรคํ[ปฺรอ-กม] แปลว่า ประโคม หมายถึงบรรเลงดนตรี
เป็นสัญญาณในพิธีบางอย่างเพื่อสักการะบูชาหรือยกย่องเป็นต้น หนังสือ “เรื่องราชูปโภคและพระราชฐาน” ระบุว่าเครื่องประโคมสำหรับพระบรมราชอิสริยยศ [พฺระ-บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-อิด-สะ-ริ-ยะ-ยด]พระมหากษัตริย์ มี ๒ ประเภท ประเภทที่ ๑ ประโคมแตรและมโหระทึก มีพนักงานเป่าแตรเงินและกระทั่งมโหระทึก ใช้ในการเสด็จออกขุนนางหรือนำเสด็จพระราชดำเนินขบวนน้อย ประเภทที่ ๒ ประโคมสังข์แตรกลองชนะมีพนักงานเป่าสังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ ตีกลองสองหน้า กลองชนะเงิน กลองชนะทอง กลองชนะเขียวลายเงิน กลองชนะแดงลายทอง ประโคมเวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตรา หรือเวลาเสด็จออกในงานพระราชพิธีใหญ่
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก [บอ-รม-มะ-รา-ชา-พิ-เสก] มีการประโคมหลายครั้ง เช่น
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนการกราบบังคมทูลถวาย
ชัยมงคล [ไช-ยะ-มง-คน]และหลังจากมีพระราชดำรัสตอบ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ แตรฝรั่ง
มโหระทึก กลองชนะ
กองแก้วจินดา
กองแก้วจินดา เป็นหน่วยทหารโบราณ อยู่ในสังกัดทหารปืนใหญ่ มีหน้าที่ยิงปืนใหญ่ขนาดเล็ก
ตามพระฤกษ์ที่โหรหลวงคำนวณ ขณะที่เจ้าพนักงานไขสหัสธารา[สะ-หัด-สะ-ทา-รา]ถวายสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวสรงพระมุรธาภิเษก ณ มณฑปพระกระยาสนาน กองแก้วจินดายิงปืนตามกำลังวันที่ประกอบ
พระราชพิธี เช่น วันศุกร์ยิง ๒๑ นัด พร้อมกับพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมสังข์
แตร มโหระทึก และดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญ
พระบารมี อีกตอนหนึ่งคือเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ [พัด-ทฺระ-บิด]หัวหน้าพราหมณ์ถวายพระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธย[พฺระ-สุ-พัน-นะ-บัด-พฺระ-ปอ-ระ-มา-พิ-ไท] กองแก้วจินดายิงปืนตามกำลังวันพร้อมกับพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา [ไช-ยะ-มง-คน-คา-ถา]ชาวพนักงานประโคมสังข์ บัณเฑาะว์ [บัน-เดาะ]ฆ้องชัย แตร มโหระทึก และดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารบก ทหารเรือ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ ๑๐๑ นัด[หฺนึ่ง-ร้อย-เอ็ด-นัด] ปืนที่กองแก้วจินดายิงมี ๔ กระบอก มีชื่อว่า มหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค [มะ-หา-ปฺราบ-ยุก]
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ข่าวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่10