ตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวถือเป็นธรรมเนียมว่าพระนามของพระมหา
กษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงรับบรมราชาภิเษกนั้น จะออกพระนามเดิมและต่อท้ายด้วยคำว่า “ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพบหลักฐานในหนังสือแสดงกิจจานุกิจของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ [ทิ-พา-กอ-ระ-วง] (ขำ บุนนาค) ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสวรรคตแล้ว ได้ออกพระนามพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กรมพระราชวังบวร” ทันที มิได้รอไว้จนทรงรับบรมราชาภิเษก ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์จึงทรงเห็นพร้อมกันให้เปลี่ยนคำออกพระนามพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะนั้นจาก “สมเด็จพระบรมโอรสา-
ธิราชผู้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” เป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ตั้งแต่วันที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ และถือปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบันว่าให้ออกพระนามพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้รับบรมราชาภิเษกว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
อภิเษก
คำว่า อภิเษก มาจากคำภาษาสันสกฤต แปลว่าการรดอันยิ่ง ใช้หมายถึงแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ
มีปรากฏในจารึกสมัยสุโขทัย ดังมีปรากฏในจารึกวัดศรีชุมมีข้อความว่า “...พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุน
บางกลาวหาว ให้เมืองสุโขทัย ให้ทั้งชื่อตนแก่พระสหายเรียกชื่อศรีอินทรบดินทราทิตย์ [สี-อิน-ทฺระ-บอ-ดิน-
ทฺรา-ทิด]” การอภิเษกมีได้หลายกรณี นอกจากการอภิเษกให้ขึ้นครองเมืองแล้ว ยังมีกรณีอื่น ๆ อีก เช่น
ในไตรภูมิพระร่วง มีเรื่องเล่าถึงเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อโชติกเศรษฐี [โช-ติ-กะ-เสด-ถี] มีสมบัติมากมาย เป็นต้นว่า
มีปราสาท ๗ ชั้น ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ มีกำแพงแก้วล้อมบ้าน ๗ ชั้น มีต้นกัลปพฤกษ์เรียงกันเป็นแถวระหว่างกำแพงแก้วทุกชั้น และมีขุมทองที่มุมบ้านทั้ง ๔ มุม พระเจ้าพิมพิสารผู้เสวยราชย์ในเมืองราชคฤห์ [ราด-ชะ-คฺรึ] จึงทรงอภิเษก คือทรงแต่งตั้งให้เป็นมหาเศรษฐี ดังมีข้อความว่า “พระญานั้น ธ จึงให้เอาเศวตฉัตรมาอภิเษกมหาเศรษฐี”
คำว่า อภิเษก ใช้ประกอบกับคำอื่นได้คำสมาสหลายคำ เช่น ราชาภิเษก มุรธาภิเษก ปราบดาภิเษก
ราชาภิเษก
ราชาภิเษก มาจากคำว่า ราช [รา-ชะ] กับ อภิเษก หมายถึงพระราชพิธีในการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
ตำราราชาภิเษกที่มีมาแต่โบราณกล่าวไว้ว่า ราชาภิเษก มีลักษณะ ๕ ประการ คือ ๑. มงคลอินทราภิเษก [มง-คน-อิน-ทฺรา-พิ-เสก] ๒. มงคลโภคาภิเษก [มง-คน-โพ-คา-พิ-เสก] ๓. มงคลปราบดาภิเษก ๔. มงคลราชาภิเษก และ ๕. มงคลอุภิเษก [มง-คน-อุ-พิ-เสก] เรียกว่า ปัญจราชาภิเษก [ปัน-จะ-รา-ชา-
พิ-เสก]
ในประเทศไทยเรา คำที่ได้ยินเสมอ ๆ คือ ราชาภิเษกและปราบดาภิเษก เช่น ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา มีข้อความเล่าถึงแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ ตอนหนึ่งว่า “มีพระราชโองการตรัสสั่ง
พระมหาราชครูพระครูบุริโสดมพรหมพฤฒาจารย์ [บุ-ริ-โส-ดม-พฺรม-พฺรึด-ทา-จาน] ให้จัดแจงการพระราชพิธีราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร” และเล่าถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ตอนหนึ่งว่า “ถึงวันศุภวารดิถีพิชัยมงคลมหามหุติฤกษ์ [สุบ-พะ-วา-ระ-ดิ-ถี-พิ-ไช-มะ-หา-มะ-หุ-ติ-เริก] จึงกระทำการพิธีปราบดาภิเษก”
มุรธาภิเษก
มุรธาภิเษก ประกอบด้วยคำว่า มุรธ [มู-ระ-ทะ] ซึ่งหมายถึงหัวหรือยอด กับคำว่า อภิเษก มุรธาภิเษก
จึงใช้หมายถึงการรดน้ำอันศักดิ์สิทธิ์เหนือศีรษะ และหมายถึงน้ำพระพุทธมนต์และเทพมนตร์ [เทบ-พะ-มน] สำหรับถวายพระมหากษัตริย์เพื่อสรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่น ๆ
ตามหนังสือประเพณีวังและเจ้า ของ หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป. มาลากุล [เท-วา-ทิ-ราด ปอ มา-ลา-กุน] เมื่อจะทำน้ำพระมุรธาภิเษก เจ้าพนักงานตั้งพระพุทธรูปเป็นประธานพร้อมด้วยโต๊ะหมู่เป็นแท่นที่บูชา
และตั้งภาชนะสำหรับใส่น้ำพระมุรธาภิเษกมีพานแว่นฟ้ารองรับ ภาชนะดังกล่าวเรียกว่าพระครอบมุรธาภิเษก ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ด้านนอกหุ้มทองลงยา พระครูปริตรไทย [พฺระ-คฺรู-ปะ-ริด-ไท] ๔ รูป และพระครูปริตรมอญ [พฺระ-คฺรู-ปะ-ริด-มอน] ๔ รูป เป็นผู้สวดพระปริตร [พฺระ-ปะ-ริด]
อินทราภิเษก[อิน-ทฺรา-พิ-เสก]
อินทราภิเษก [อิน-ทฺรา-พิ-เสก] แปลว่า แต่งตั้งผู้เป็นใหญ่โดยทำพิธีรดน้ำ ตามพจนานุกรม
ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ อินทราภิเษกมีลักษณะพิเศษ ๓ ประการ คือ ๑. พระอินทร์นำเอา
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ [เคฺรื่อง-ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน] มาถวาย เมื่อจะได้ราชสมบัติ ๒. เสี่ยงราชรถมาจด
ฝ่าพระบาท และ ๓. เหาะเอาฉัตรทิพย์มากางกั้น นอกจากนั้น การที่พระเจ้าแผ่นดินทำพิธีราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่งเมื่อปราบพระเจ้าแผ่นดินอื่นให้อยู่ในอำนาจได้มาก ก็เรียกว่า อินทราภิเษก คือ ทำพิธีแสดงว่าพระองค์
เป็นใหญ่เหนือพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย ในกฎมณเฑียรบาล กล่าวถึงพระราชพิธีอินทราภิเษกว่า มีการตั้ง
เขาพระสุเมรุชักนาคดึกดำบรรพ์ [เขา-พฺระ-สุ-เมน-ชัก-นาก-ดึก-ดำ-บัน] สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ [สม-เด็ด-พฺระ-มะ-หา-จัก-กฺระ-พัด] เคยมีพระราชพิธีอินทราภิเษก สมัยรัตนโกสินทร์ไม่เคยมีพระราชพิธีอินทราภิเษก มีแต่ฉากเขียนลายรดน้ำภาพพระราชพิธีอินทราภิเษก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้น อยู่ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีสำคัญที่แสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์
ในพระราชพงศาวดารไม่ได้กล่าวว่ามีลักษณะอย่างไร ในสมัยรัตนโกสินทร์เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
จุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ โปรดให้ตั้งการพระราชพิธีอย่างสังเขปเรียกว่า
“พระราชพิธีปราบดาภิเษก” ต่อมาโปรดให้ข้าราชการที่รับราชการมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาสอบสวนแบบแผน
การพระราชพิธีครั้งกรุงศรีอยุธยาได้สมบูรณ์แล้ว จึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. ๒๓๒๘ เรียกว่า “พระราชพิธีราชาภิเษก” ความสำคัญของพระราชพิธีอยู่ที่ทรงรับน้ำอภิเษกที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ [อัด-ถะ-ทิด-อุ-ทุม-พอน-ราด-ชะ-อาด] เพื่อแสดงความเป็นใหญ่ในทิศทั้ง ๘ และได้ยึดถือพระราชพิธีครั้งนั้นเป็นแบบแผนต่อมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เรียกพระราชพิธีราชาภิเษก
นี้ว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”
ความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
หนังสือจดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้า
เจ้าอยู่หัว [พฺระ-บาด-สม-เด็ด-พฺระ-รา-มา-ทิบ-บอ-ดี-สี-สิน-มะ-หา-วะ-ชิ-รา-วุด พฺระ-มง-กุด-เกฺล้า-เจ้า-หฺยู่-หัว]กล่าวถึงความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไว้ว่า
“...ถือเปนตำรามาแต่โบราณว่า พระมหากระษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพ ต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อน จึงจะเปนพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ ถ้ายังมิได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ตราบใด ถึงจะทรงรับ
รัชทายาท เมื่อเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระราชวังหลวง ก็เสด็จอยู่เพียงณที่พักแห่งหนึ่ง พระนามที่ขานก็คงใช้
พระนามเดิม เปนแต่เพิ่มคำว่า “ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” เข้าข้างท้ายพระนาม แลคำรับสั่งก็ยังไม่ใช้
พระราชโองการ จนกว่าจะได้สรงมุรธาภิเษก ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระบรมราชนามาภิธัย กับทั้ง
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ [เคฺรื่อง-ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน] จากพระมหาราชครูพราหมณ์ผู้ทำพิธีราชาภิเษกแล้ว
จึงเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร ครอบครองสิริราชสมบัติสมบูรณ์ด้วยพระเกียรติยศแห่งพระราชา
มหากระษัตริย์แต่นั้นไป...”
น้ำสรงพระมุรธาภิเษก
น้ำสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก [บอ-รม-มะ-รา-ชา-พิ-เสก] เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จากแหล่งน้ำสำคัญ ในสมัยอยุธยาใช้น้ำจากสระสำคัญ ๔ สระในแขวงเมืองสุพรรณบุรี สมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ เพิ่มน้ำจากแม่น้ำสำคัญของประเทศอีก ๕ สาย เรียกว่า “เบญจสุทธคงคา” [เบ็น-จะ-สุด-ทะ-คง-คา] ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก [บอ-รม-มะ-รา-ชา-พิ-เสก]
ครั้งที่ ๒ เพิ่มน้ำจากแม่น้ำ ๕ สายในประเทศอินเดีย ซึ่งเรียกว่า “ปัญจมหานที” ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ เมื่อมี
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช [บอ-รม-มะ-รา-ชา-พิ-เสก-สม-โพด] พ.ศ. ๒๔๕๔ เพิ่มน้ำที่ตักจากแม่น้ำ
และแหล่งน้ำอื่น ๆ ที่ตามมณฑลต่าง ๆ ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคล โดยทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์
ณ พระมหาเจดียสถาน [พฺระ-มะ-หา-เจ-ดี-ยะ-สะ-ถาน] สำคัญ ๗ แห่ง และวัดสำคัญในมณฑลต่าง ๆ
๑๐ มณฑล ในรัชกาลที่ ๗ ทำพิธีเสกน้ำเพิ่มจากที่ทำในรัชกาลที่ ๖ อีกแห่งหนึ่ง คือที่พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ ล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๙ ทำพิธีเสกน้ำ ๑๘ แห่งเท่าสมัยรัชกาลที่ ๗ แต่เปลี่ยนสถานที่จากเดิม ๒ แห่ง คือเปลี่ยนจากวัดมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์และพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ เป็นบึงพลาญชัย [บึง-พะ-ลาน-ไช] จังหวัดร้อยเอ็ด และพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน
ปัญจมหานที
ปัญจมหานที แปลว่า แม่น้ำอันยิ่งใหญ่ ๕ สาย ได้แก่ แม่น้ำ ๕ สายในชมพูทวีป คือ แม่น้ำคงคา ยมนา [ยม-มะ-นา] มหี [มะ-ฮี] อจิรวดี [อะ-จิ-ระ-วะ-ดี] และสรภู [สอ-ระ-พู] เชื่อกันว่าแม่น้ำทั้งห้านี้ไหลมาจาก
เขาไกรลาสซึ่งเป็นที่สถิตของพระอิศวร น้ำจากแม่น้ำดังกล่าวจึงศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ในสมัยอยุธยาและธนบุรีไม่ปรากฏหลักฐานว่าใช้น้ำจากปัญจมหานทีในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึง รัชกาลที่ ๔ ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสำคัญของประเทศไทยเท่านั้นในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
น้ำสรงมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑
ก็มิได้ใช้น้ำจากปัญจมหานที อย่างไรก็ดี เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอินเดียใน พ.ศ. ๒๔๑๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นำน้ำจากปัญจมหานทีมาด้วย ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ จึงมีน้ำปัญจมหานทีเจือในน้ำสรงมุรธาภิเษกด้วย
เบญจสุทธคงคา [เบ็น-จะ-สุด-ทะ-คง-คา]
เบญจสุทธคงคา [เบ็น-จะ-สุด-ทะ-คง-คา] หมายถึง แม่น้ำที่บริสุทธิ์ ๕ สาย อนุโลมว่าเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับปัญจมหานทีในประเทศอินเดีย แม่น้ำ ๕ สายดังกล่าวได้แก่ ๑. แม่น้ำบางปะกง ตักน้ำ
ที่บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก ๒. แม่น้ำป่าสัก ตักน้ำที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี ๓. แม่น้ำเจ้าพระยา ตักน้ำที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง ๔. แม่น้ำราชบุรี ตักน้ำที่ตำบลดาวดึงส์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม และ ๕. แม่น้ำเพชรบุรี ตักน้ำที่ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี น้ำจากเบญจสุทธคงคาเริ่มใช้ครั้งแรกในพระราชพิธีราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยเจือกับน้ำจากสระเกษ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา [ยม-มะ-นา] ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี
ต่อมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จ
พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร [พฺระ-บาด-สม-เด็ด-พฺระ-ปอ-ระ-มิน-ทฺระ-มะ-หา-พู-มิ-พน-อะ-ดุน-ยะ-เดด บอ-รม-มะ-นาด-บอ-พิด] ได้นำน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญอื่น ๆ เจือน้ำจากเบญจสุทธคงคาด้วย
น้ำที่ควรใช้เป็นน้ำพระมุรธาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในแถลงเรื่องขอมดำดินว่า “ตามคัมภีร์
พิธีไสยศาสตร์...น้ำที่ควรใช้เป็นน้ำมุรธาภิเษกนั้น ต้องนำมาจากห้วงน้ำล้วนแต่ที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ น้ำในที่มี
สวัสดิมงคล [สะ-หฺวัด-ดิ-มง-คน] แห่งใด ๆ ในแว่นแคว้นพระราชอาณาจักรของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น
ก็ต้องนำมาถวายเป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกด้วย เพราะฉะนั้นจึงมีพระราชกำหนดบังคับไว้ให้หัวเมืองซึ่งเป็น
ข้าขัณฑสีมา [ขัน-ทะ-สี-มา] ส่งน้ำอันมีสวัสดิมงคล [สะ-หฺวัด-ดิ-มง-คน] มาถวายสำหรับสรงมุรธาภิเษกเป็นสำคัญ ในความยินยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาด้วย” ในเมื่อน้ำที่ใช้เป็นน้ำพระมุรธาภิเษกควรเป็นน้ำอันมี
สวัสดิมงคล [สะ-หฺวัด-ดิ-มง-คน] จากแหล่งต่าง ๆ ในพระราชอาณาจักร ตั้งแต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๔เป็นต้นมา น้ำพระมุรธาภิเษกจึงมิได้ใช้เพียงน้ำเบญจสุทธคงคา [เบน-จะ-สุด-ทะ-คง-คา] น้ำในสระทั้ง ๔ ที่เมืองสุพรรณบุรี และน้ำปัญจมหานทีในชมพูทวีป แต่ได้ใช้น้ำอันมีสวัสดิมงคล [สะ-หฺวัด-ดิ-มง-คน] จากทั่วพระราชอาณาจักรด้วย
การจารึกพระสุพรรณบัฏ จารึกดวงพระบรมราชสมภพ
และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล
การจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพและแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ต้องกระทำ
ตามฤกษ์ ในตอนเย็นหรือค่ำก่อนถึงวันพระฤกษ์พระสงฆ์จะเจริญพระพุทธมนต์ และโหรหลวงสวดบูชาเทวดา
ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม รุ่งขึ้นตอนเช้าเมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว พระราชวงศ์
ที่ทรงเป็นประธานทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทรงศีล ผู้ที่จะจารึกและแกะพระราชลัญจกรนุ่งขาวสวมเสื้อขาวและมีผ้าขาวเฉวียงบ่า รับศีล เวลาใกล้พระฤกษ์ประธานทรงจุดเทียนเงินเทียนทอง ผู้ที่จะจารึกและช่างนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร บ่ายหน้าไปกราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วคล้องสายสิญจน์ หันหน้าสู่มงคลทิศ [มง-คน-ทิด]ครั้นได้พระฤกษ์โหรหลวงลั่นฆ้องชัยให้สัญญาณ ลงมือจารึกและแกะ
พระราชลัญจกร พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา [ไช-ยะ-มง-คน-คา-ถา] พราหมณ์เป่าสังข์ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์และพิณพาทย์ขณะจารึกและแกะพระราชลัญจกร เมื่อเสร็จแล้วพราหมณ์หลั่งน้ำสังข์และเจิมทั้งแผ่นพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพและพระราชลัญจกร
พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย
พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธยเป็นแผ่นทองคำ มีขนาดกว้างยาวพอที่จะจารึกพระปรมาภิไธยได้เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระสุพรรณบัฏกว้าง ๗ นิ้ว ยาว ๑๔ นิ้ว พระสุพรรณบัฏนี้จะต้องทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โหรหลวงจึงต้องกำหนดพระฤกษ์อันเป็นมงคลสำหรับ
การจารึกก่อนการพระราชพิธี พิธีจารึกกระทำที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการเจริญพระพุทธมนต์และการบูชาเทวดาในตอนเย็นก่อนถึงวันพระฤกษ์ รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ อาลักษณ์ผู้ทำหน้าที่จารึกนุ่งขาว สวมเสื้อขาว มีผ้าขาวเฉวียงบ่า รับศีล นมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและกราบถวายบังคมไปทางสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อนการจารึก ขณะจารึกพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์และพิณพาทย์ เมื่อจารึกเสร็จพราหมณ์หลั่งน้ำสังข์และเจิมพระสุพรรณบัฏ ม้วนแล้วพันด้วยไหมเบญจพรรณและพันด้วยแพรแดงอีกชั้นหนึ่ง บรรจุในพระกรัณฑ์ [พฺระ-กะ-รัน] ทองคำลงยาราชาวดี ก่อนจะมีการเวียนเทียนสมโภชต่อไป
พระปรมาภิไธยในพระสุพรรณบัฏ
พระปรมาภิไธยที่จารึกลงในพระสุพรรณบัฏแต่เดิมมาเป็นพระปรมาภิไธยที่มีความยาวหลายบรรทัด
ใช้คำศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤตที่ผูกขึ้นอย่างประณีตให้ได้เสียงที่ไพเราะ และสื่อความถึงพระคุณวิเศษ
[พฺระ-คุน-นะ-วิ-เสด] และสายราชสกุลของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น
พระปรมาภิไธยในพระสุพรรณบัฏของรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ เป็นอย่างเดียวกัน คือ ขึ้นต้นว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี” [พฺระ-บาด-สม-เด็ด-พฺระ-บอ-รม-มะ-รา-ชา-ทิ-ราด-รา-มา-
ทิ-บอ-ดี] และลงท้ายด้วย “บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” [บอ-รม-มะ-บอ-พิด-พฺระ-พุด-ทะ-เจ้า-หฺยู่-หัว] ต่อมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ เปลี่ยนเป็นขึ้นต้นด้วย “พระบาทสมเด็จพระปรมินทร” [พฺระ-บาด-สม-เด็ด-พฺระ-
ปอ-ระ-มิน] หรือ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร”[พฺระ-บาด-สม-เด็ด-พฺระ-ปอ-ระ-เมน]
ในสมัยรัชกาลที่ ๙ พระปรมาภิไธยที่จารึกในพระสุพรรณบัฏปรากฏดังนี้ “พระบาทสมเด็จ
พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” [พฺระ-บาด-สม-เด็ด-พฺระ-ปอ-ระ-มิน-ทฺระ-มะ-หา-พู-มิ-พน-อะ-ดุน-ยะ-เดด มะ-หิด-ตะ-ลา-ทิ-เบด-รา-มา-ทิ-บอ-ดี จัก-กฺรี-นะ-รึ-บอ-ดิน สะ-หฺยา-มิน-ทฺรา-ทิ-ราด บอ-รม-มะ-นาด-บอ-พิด]
พระราชลัญจกรประจำรัชกาล
พระราชลัญจกรประจำรัชกาล คือดวงตราสำหรับประทับกำกับพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์
ในเอกสารราชการแผ่นดิน เช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา พระราชลัญจกร
ทำด้วยงาช้างเป็นรูปวงกลม กลางวงกลมแกะเป็นรูปครุฑ รอบขอบภายในจารึกพระปรมาภิไธย
พระราชลัญจกรเป็นเครื่องมงคลที่แสดงพระบรมราชอิสริยยศ[พฺระ-บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-อิด-สะ-ริ-ยะ-ยด]และพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีพระราชพิธีจารึก
พระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธย ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาลตามพระฤกษ์
ที่โหรหลวงคำนวณ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อจารึกแล้วเชิญประดิษฐานบนธรรมาสน์ศิลาเบื้องหน้าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภช ๓ รอบ และพักไว้ในพระอุโบสถ ครั้นถึงวันเริ่มการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงตั้งขบวนแห่เชิญไปตั้ง ณ มณฑลพระราชพิธีในพระที่นั่ง
ไพศาลทักษิณ
พระราชยานกง
[พฺระ-ราด-ชะ-ยาน-กง]
พระราชยานกง ประกอบด้วยคำว่า พระราชยาน กับคำว่า กง พระราชยาน หมายถึง ยานของหลวง ใช้สำหรับเดินทางหรือเชิญพระบรมสารีริกธาตุ [พฺระ-บอ-รม-มะ-สา-รี-ริก-กะ-ทาด]พระพุทธรูปที่สำคัญ พระบรมอัฐิ เป็นต้น ส่วนคำว่า กง มีความหมายอย่างหนึ่งคือ ไม้รูปโค้ง พระราชยานกงมีกงสำหรับวางแขนและมีพนักพิง ทำด้วยไม้แกะสลักปิดทอง เป็นพระราชยานแบบประทับห้อยพระบาท มีคานหาม ๒ คาน
กับแอกและลูกไม้สำหรับหาม ๘ คน ใช้ทรงในเวลาปรกติและในการเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนราบ
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชยานกงใช้เชิญพระสุพรรณบัฏและดวงพระบรมราชสมภพ ทั้งยังใช้ทรงไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ดังข้อความในจดหมายเหตุ
ตอนหนึ่งว่า “เจ้าพนักงานได้เชิญพระสุพรรณบัฏ[พฺระ-สุ-พัน-นะ-บัด] แลดวงพระชนมพรรษา
แต่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามมาขึ้นพระราชยานกงที่หน้าประตูหลังพระอารามด้านตวันตก”
หอพระธาตุมณเฑียร
[หอ-พฺระ-ทาด-มน-เทียน]
หอพระธาตุมณเฑียร อยู่ทางด้านตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นหอเล็ก ๆ ชั้นเดียว ยกพื้นสูง
๓ เมตร หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันจำหลักลายดอกเบญจมาศใบเทศ
พื้นประดับกระจกสี ฝ้าเพดานทั้งภายในและภายนอกเขียนทองเป็นลายดอกพุดตานดอกลอยและลายหงส์
ผนังภายในหอเขียนภาพสีน้ำเป็นภาพลวดลายเครื่องมงคลและเครื่องบูชาตามแบบจีน
หอพระธาตุมณเฑียรนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี [พฺระ-บอ-รม-มะอัด-ถิ-สม-เด็ด-พฺระ-บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-บุบ-พะ-กา-รี]เป็นต้นว่า พระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก [สม-เด็ด-
พฺระ-ปะ-ถม-บอ-รม-มะ-หา-ชะ-นก]พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒
รัชกาลที่ ๓
ในวันก่อนวันเริ่มการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๗ เป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จะเสด็จพระราชดำเนินมาถวายบังคมพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี [สม-เด็ด-พฺระ-บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-
บุบ-พะ-กา-รี] ณ หอพระธาตุมณเฑียร
การลดพระมหาเศวตฉัตร
พระมหาเศวตฉัตร[พฺระ-มะ-หา-สะ-เหฺวด-ตะ-ฉัด] หรือ พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร [พฺระ-นบ-พะ-ปะ-ดน-มะ-หา-สะ-เหฺวด-ตะ-ฉัด] เป็นเครื่องแสดงพระบรมราชอิสริยยศ[พฺระ-บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-อิด-สะ-ริ-ยะ-ยด] อย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับบรมราชาภิเษกแล้ว
โดยปรกตินั้น พระมหาเศวตฉัตรที่ปักหรือแขวนในพระที่นั่งองค์ต่าง ๆ จะลดลงมาซ่อมแซมและเปลี่ยนผ้าหุ้มได้เฉพาะเมื่อมีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะตามธรรมเนียมแต่โบราณนั้นหากยังไม่เปลี่ยนรัชกาลจะไม่ลดพระมหาเศวตฉัตรลงเด็ดขาด เว้นแต่มีเหตุอันเลี่ยงไม่ได้ ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า “พระเศวตฉัตรนั้นจะลดลงจากที่ได้ต่อเมื่อเปลี่ยนรัชกาล ...
ถ้าหากมีความจำเป็นต้องลด เช่นเวลาปฏิสังขรณ์พระราชมนเทียรเป็นต้น เมื่อกลับยกเศวตฉัตรขึ้นที่เดิม
ก็ต้องทำเป็นการพิธี มีฤกษ์และสมโภช เพราะฉะนั้นจึงมีแต่งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเดียว
ซึ่งระเบียบการพิธีมีลดพระเศวตฉัตรลงซ่อมแซมและเปลี่ยนผ้าหุ้มใหม่ แล้วยกกลับขึ้นตั้งที่ในวันแรกตั้ง
การพิธีบรมราชาภิเษก”
เทวดานพเคราะห์ (๑)
เทวดานพเคราะห์ คือเทวดาที่โหรหลวงเรียกในการคำนวณฤกษ์ยามแทนดาวนพเคราะห์ทั้ง ๙ คือ
พระอาทิตย์ เป็นรูปเทวดาทรงสิงห์ พระจันทร์ รูปเทวดาทรงม้า พระอังคาร รูปเทวดาทรงกระบือ พระพุธ
รูปเทวดาทรงช้าง พระพฤหัสบดี รูปเทวดาทรงกวาง พระศุกร์ รูปเทวดาทรงโค พระเสาร์ รูปเทวดาทรงเสือ
พระเกตุ รูปเทวดาทรงพญานาค พระราหู รูปเทวดาทรงครุฑ ซึ่งเทวดาดังกล่าวนี้มีกำลังวันคือสิ่งที่ทำให้เกิดอำนาจความเข้มแข็ง คือ พระอาทิตย์มีกำลังวัน ๖ พระจันทร์ กำลังวัน ๑๕ พระอังคาร กำลังวัน ๘ พระพุธกลางวัน กำลังวัน ๑๗ พระพุธกลางคืน กำลังวัน ๑๒ พระพฤหัสบดี กำลังวัน ๑๙ พระศุกร์ กำลังวัน ๒๑
พระเสาร์ กำลังวัน ๑๐ พระราหู กำลังวัน ๑๒
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โหรหลวงจะใช้กำลังวันเพื่อคำนวณพระฤกษ์ต่าง ๆ จากวัน เดือน ปี
พระบรมราชสมภพของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงรับบรมราชาภิเษก เช่น พระฤกษ์จารึกพระสุพรรณบัฏ [พฺระ-สุ-พัน-นะ-บัด] พระฤกษ์สรงพระมุรธาภิเษก [สง-พฺระ-มุ-ระ-ทา-พิ-เสก]
เทวดานพเคราะห์ (๒)
เทวดานพเคราะห์ คือ เทวดาซึ่งสมมติแทนดาวพระเคราะห์ ๙ องค์ แต่ละองค์ได้กำหนดให้เป็นเทวดาประจำทิศต่าง ๆ ด้วย ได้แก่ พระอาทิตย์ประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พระจันทร์ประจำทิศตะวันออก
พระอังคารประจำทิศตะวันออกเฉียงใต้ พระพุธประจำทิศใต้ พระพฤหัสบดีประจำทิศตะวันตก พระศุกร์ประจำทิศเหนือ พระเสาร์ประจำทิศตะวันตกเฉียงใต้ พระราหูประจำทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และพระเกตุ
[พฺระ-เกด]ประจำทิศท่ามกลาง
ก่อนวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีการเชิญเทวรูปพระเกตุตั้งบนพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์[อัด-ถะ-ทิด-อุ-ทุม-พอน-ราด-ชะ-อาด] ส่วนเทวดานพเคราะห์อีก ๘ องค์ตั้งในบุษบกลายทองบนตั่งอัฐทิศ
[ตั่ง-อัด-ถะ-ทิด]ซึ่งตั้งล้อมรอบพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ เพื่อให้โหรทำพิธีบูชาในขณะที่มี
การเจริญพระพุทธมนต์ เมื่อถึงวันบรมราชาภิเษกจะเชิญเทวรูปทั้งหมดไปไว้รวมกับเทวรูปองค์อื่น ๆ
คณะกรรมการเฉพาะกิจจัดทำคำอธิบายราชาศัพท์เพื่อเผยแพร่
(ต่อตอนที่ ๒)
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่10
ข่าวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก