พันเอก วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีคดีความ ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และพวก ถูก บก.ปอท. กล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพ์ มาตรา 14(2) กรณีไลฟ์สดวิจารณ์พลังดูด เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 61 ที่ผ่านมา โดยนายธนาธรฯ ได้มองว่าเป็นการเร่งรัดและเลือกปฏิบัตินั้น ขอยืนยันว่า เป็นหน้าที่ของทางตำรวจ คสช.ไม่ได้มีการเร่งรัด และไม่มีเลือกปฏิบัติ ทุกอย่างเป็นไปตามหลักการขั้นตอนปกติทั่วไป พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ก็เป็นกฎหมายปกติ ไม่ใช่กฎหมายที่มีที่มาต้นทางจาก คสช. แล้วนำมาบังคับใช้กับบุคคลในลักษณะเฉพาะเจาะจงใดๆ อาจมีบางบุคคลพยายามบิดเบือน ข้อเท็จจริงโดยให้ข้อมูลออกไปในทำนองว่า เป็นมาตรการของ คสช. กระทำกับบางกลุ่มบางบุคคลอย่างไม่เป็นธรรม
โดยทั่วไปในทุกๆ คดีกรณีศาลยังไม่ตัดสิน ย่อมถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ และเปิดกว้างให้ตัวผู้ถูกกล่าวหาทุกคนสามารถไปแก้ต่างได้ตามช่องทางและกระบวนการ ซึ่งถือเป็นหลักการตามแนวทางสากลส่วนพฤติกรรมทางคดีของนายธนาธร ฯ นั้น เหตุเกิดขึ้นตั้งแต่ 26 มิ.ย.61 โดย นายธนาธรฯ และผู้ร่วมรายการทั้งสามคน ได้ร่วมกันกล่าวบิดเบือนว่า " มีการดูด สส.เข้าไปพรรคใหม่ ที่มีชื่อคล้ายคลึงกับนโยบายรัฐ มีการใช้คดีเก่าๆ ของกลุ่ม สส.ต่างๆ ที่เข้าร่วม โดยขู่ว่าถ้าไม่เข้าร่วม จะดำเนินคดีต่างๆที่ดำรงอยู่” ซึ่งเนื้อหาดังกล่าว เหมือนการกล่าวหาว่ามีการนำกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง รวมถึงที่กล่าวว่า “ความยุติธรรมเกิดขึ้นเฉพาะกับคนรวย แต่กับคนจนไม่มีความยุติธรรมเหลืออยู่ในสังคม แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อำนาจอยู่เหนือกระบวนการยุติธรรม หากกระบวนการยุติธรรมไทย ตัดสินอะไรต่างๆในรอบหลายปีที่ผ่านมาด้วยความยึดมั่นในความยุติธรรม ประเทศไทยคงไม่ต้องเดินมาถึงจุดนี้" ส่วนนี้ก็เหมือนเป็นการหมิ่นในกระบวนการตัดสินของประเทศไทยด้วย เช่นกัน ซึ่งข้อมูลลักษณะดังกล่าวที่นายธนาธร และ พวก ได้ฟันธงออกอากาศผ่านรายการไปนั้นอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ในทางสาธารณะของบางบุคคล บางองค์กร รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยในหลายมิติด้วยกัน โดยเฉพาะด้วยตัวตนของนายธนาธร ฯ ขณะนี้อยู่ในสถานะผู้มีบทบาทอยู่ในสังคม
ซึ่งคดีนี้ได้เริ่มต้นดำเนินการมาก่อนมีการประกาศวันเลือกตั้ง แต่ความคืบหน้านั้นอาจเป็นที่ความร่วมมือของผู้ถูกกล่าวหาเองด้วย ส่วนที่มีการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อในทำนองกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท.ว่ามีความพยายามที่จะเร่งรัดปิดคดีนั้นเป็นการกลั่นแกล้งกันทางการเมืองนั้น ก็ไม่อยากให้ไปกล่าวหาในลักษณะดูหมิ่นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าทื่ เพราะเชื่อว่าที่ จนท.มีความจำเป็นต้องปฏิบัติให้ทุกอย่างเป็นไปตามหลักขั้นตอนวิธีการ และตามบทบาทหน้าที่ในกรอบกฎหมายของการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ
+ อ่านเพิ่มเติม