ควรระวัง! เตือน 'ขนมขบเคี้ยว' เป็นกลุ่มเสี่ยงอาหารโซเดียมสูง-น้ำตาลสูง ชี้เป็นเหตุของการเกิดโรคต่างๆ
logo ข่าวอัพเดท

ควรระวัง! เตือน 'ขนมขบเคี้ยว' เป็นกลุ่มเสี่ยงอาหารโซเดียมสูง-น้ำตาลสูง ชี้เป็นเหตุของการเกิดโรคต่างๆ

ข่าวอัพเดท : สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เผยขนมขบเคี้ยวสำหรับเด็กอุดมทั้งน้ำตาล ที่ให้ความหวาน และโซเดียมที่ให้ความเค็ม โดยมักแ สถาบันสุขภาพเด็ก,กรมการแพทย์,โซเดียม,ความหวาน,ขนมขบเคี้ยว

3,659 ครั้ง
|
11 ม.ค. 2562
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เผยขนมขบเคี้ยวสำหรับเด็กอุดมทั้งน้ำตาล ที่ให้ความหวาน และโซเดียมที่ให้ความเค็ม โดยมักแฝงตัวอยู่ในซุปก้อนและขนมแทบทุกชนิด ทำให้มีรสชาติอร่อย แต่ร่างกายกลับได้รับโซเดียมมากเกินไปในแต่ละวัน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของ โรคไต ความดันโลหิตสูง กระดูกพรุน และโรคหัวใจและหลอดเลือด ในอนาคต
 
(11 ม.ค. 62)นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคเกลือ ไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน คือ 1 ช้อนชา เทียบเท่าปริมาณโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม แต่จากการศึกษาพบว่า ในซุปก้อน 10 กรัม มีปริมาณโซเดียมสูงถึง 1,760 มิลลิกรัม ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน หากรวมถึงขนมขบเคี้ยวต่าง ๆที่เด็กชื่นชอบ พบว่ามีปริมาณโซเดียมสูงเช่นกัน ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า มันฝรั่งทอดแผ่น 1 ห่อ (30กรัม) มีโซเดียม 170 มิลลิกรัม เฟรนซ์ฟราย 60 กรัม มีโซเดียม 220 มิลลิกรัม ซอส 1 ช้อนกินข้าว มีโซเดียม 340 มิลลิกรัม โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป 1 ถ้วย มีโซเดียม 1,120 มิลลิกรัม น้ำปลา 1 ช้อนกินข้าว มีโซเดียม 1,300 มิลลิกรัม น้ำจิ้มไก่ 1 ช้อนกินข้าว มีโซเดียม 385 มิลลิกรัม และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ห่อ มีโซเดียม 1,500 มิลลิกรัม 
 
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเด็กๆ รับประทานขนมหรืออาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป จะทำให้เลือดเสียสมดุล ไตทำงานหนักจนเกิดอาการเสื่อม ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรลดการบริโภคโซเดียม โดยการหลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่ม หลีกเลี่ยงขนมกรุบกรอบและอาหารแปรรูปที่โซเดียมสูง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง นอกจากนี้ ควรอ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อ เลือกอาหารที่มีโซเดียมต่ำ ส่งเสริมให้เด็กบริโภคผักผลไม้เป็นประจำ และดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ หากพ่อแม่ผู้ปกครองปลูกฝังพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมตั้งแต่เด็ก ลดหวาน มัน เค็ม รับประทานผักผลไม้ จะเป็นผลดีต่อสุขภาพของบุตรหลานในระยะยาว เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นจะมีผลต่อรูปแบบการกินอาหารไปจนถึงวัยผู้ใหญ่