ชมรมเภสัชกรภาคใต้และ 12 เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ยื่นหนังสือค้าน ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับที่ สธ.เสนอ ครม. ชี้ถูก อย.ผู้จัดทำร่างบิดเบือนข้อมูล เป็นความคิดเห็นฝ่ายเดียว ยันทางกลุ่มไม่เคยเห็นด้วย แนะทำประชาพิจารณ์จากทุกภาคส่วนไม่น้อยกว่า 15 วัน
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2561 ชมรมเภสัชกรภาคใต้และ 12 เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม นำโดย ภญ.สุจิดา กุลถวายพร ประธานชมรมเภสัชกรภาคใต้แถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ...ฉบับเดือนตุลาคม 2561 : ฉบับยื่นต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยระบุว่า
เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขยื่นเสนอต่อ ครม.นั้น ผู้ที่รับผิดชอบจัดทำร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับดังกล่าวได้สรุปการรับฟังความคิดเห็นไปฝ่ายเดียวว่า “ชมรมเภสัชกรภาคใต้เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ...ที่จะเสนอต่อ ครม.” ซึ่งไม่เป็นความจริง
ทั้งนี้ ชมรมเภสัชกรภาคใต้และ 12 เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมยึดมั่นในเจตนารมณ์ต้องการให้ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ...ฉบับนี้คุ้มครองประชาชนอย่างแท้จริง และได้เสนอข้อคิดเห็นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบจัดทำร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้หลายประการ แม้ผู้จัดทำจะได้ปรับแก้ไขในบางประเด็นที่ได้ถกเถียงหรือโต้แย้งกันไปบางส่วนแล้ว
แต่ปรากฎว่า ผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ยามีการเพิ่มบทบัญญัติที่มีเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญซึ่งไปกระทบกระเทือนความปลอดภัยด้านยาของประชาชนอย่างมากเข้าไปในร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับที่จะนำเสนอต่อ ครม. โดยไม่เคยมีปรากฎมาก่อนในร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับเดิมที่เคยผ่านการทำประชาพิจารณ์ (ระหว่างวันที่ 26-31 กรกฎาคม 2561 ทางเว็บไซต์ https:/lawamendment.go.th เพียงแค่ 6 วันเท่านั้น) จากความเร่งรีบในการแก้ไขและเสนอร่าง พ.ร.บ.ยา จึงส่งผลกระทบให้เปลี่ยนแปลงระบบยาของประเทศทั้งระบบ ให้ยิ่งซ้ำเติมปัญหาเดิม โดยไม่คำนึงว่าจะทำงานระบบยาของประเทศและยิ่งทำให้เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชนอย่างร้ายแรงที่สุด และขาดหลักธรรมาภิบาลว่าด้วยการรับฟังให้รอบด้านและความโปร่งใส นอกจากนั้นยังไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 ด้วย
ชมรมเภสัชกรภาคใต้และ 12 เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมจึงขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวและขอเรียกร้องให้
1.ผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ.และผู้เกี่ยวข้องออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีกล่าวอ้างบิดเบือนข้อมูลอันเป็นเท็จ จนเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและสร้างความเสียหายต่อชมรมเภสัชกรรมภาคใต้
2.เสนอให้นำร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ...(ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ.2561 : ฉบับยื่นต่อคณะรัฐมนตรี) กลับคืนมาและให้เปิดเผยร่าง พ.ร.บ.ยาต่อสาธารณชน เปิดรับฟังประชาพิจารณ์จากทุกภาคส่วนในหลายช่องทางอย่างชอบธรรมทั้งกระบวนการ เนื้อหา และระยะเวลา ไม่น้อยกว่า 15 วัน รวมทั้งปรับแก้อย่างรอบคอบและชอบธรรมในทุกมิติ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รับความคุ้มครองและมีความปลอดภัยในการใช้ยาอย่างแท้จริง
ต่อมามีรายงานว่าเมื่อเช้าวันที่ 16 ต.ค.2561 ตัวแทนเภสัชกรในหลายจังหวัด อาทิ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี เข้ายื่นหนังสือขอคัดค้าน และขอให้นำร่าง พ.ร.บ.ยา กลับคืนมาแก้ไข ต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีผ่านทางศูนย์ดำรงธรรม และผู้ว่าราชการจังหวัด
ข้อมูลจาก สภาเภสัชกรรม : The Pharmacy Council